มะเดื่อหอม
ลำต้นและกิ่งก้านมีขนแข็งและสากมีสีน้ำตาลแกมสีเหลืองอ่อน ผลสดกลมรีสีเหลือง สุกเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม มียางสีขาว

มะเดื่อหอม

มะเดื่อหอม (Ficus hirta) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีน้ำยางสีขาว ลำต้นมีความสูงได้ถึง 10 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่ง ลำต้นและกิ่งก้านมีขนแข็งและสากมีสีน้ำตาลแกมสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่ลำต้นจะกลวง ที่ตาดอกและใบอ่อนมีขนขึ้นหนาแน่น มีรากเก็บสะสมอาหารเป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอม พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าโปร่ง และที่โล่งแจ้ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำกิ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ficus hirta Vahl จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1] นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หาด (เชียงใหม่), นอดน้ำ (ลำปาง), นมหมา (นครพนม), เดื่อหอมเล็ก เดื่อหอมใหญ่ (ตราด), นอดหอม มะเดื่อเตี้ย (จันทบุรี), มะเดื่อขน (นครราชสีมา), พุงหมู (อุบลราชธานี), เดื่อขน (ภาคเหนือ), เยื่อทง (เย้า-เชียงราย), ส้าลควอย (ขมุ), แผละโอชัวะ เพี๊ยะตะโละสัวะ เพี๊ยะดู้ก (ลั้วะ) เป็นต้น

ลักษณะของมะเดื่อหอม

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงได้ถึง 10 เมตร จะไม่ค่อยแตกกิ่ง ทั้งลำต้นและกิ่งก้านมีขนที่ค่อนแข็งและสาก มีสีน้ำตาลอมสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่แล้วลำต้นจะกลวง ที่ตาของดอกและใบอ่อนจะมีขนขึ้นหนาแน่น มีรากที่คอยเก็บสะสมอาหารเอาไว้อยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอม สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง และจะพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าโปร่ง และที่โล่งแจ้ง เขตในการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศศรีลังกา จีนตอนใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานที่คล้ายกับรูปไข่กลับ หรือคล้ายกับรูปใบหอก แผ่นใบเป็นพูลึก 3-5 พู และไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในต้นอ่อน หรือเป็นขอบเรียบ ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบจักเป็นเลื่อย ใบมีความกว้างอยู่ประมาณ 5-12 เซนติเมตรและมีความยาวอีกประมาณ 12-25 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบมีขนขึ้นทั้งสองด้าน ด้านบนขนจะหยาบเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นอยู่ประปราย ขนมีความยาวและหยาบบนเส้นใบ ด้านล่างขนจะมีความอ่อนนุ่มกว่าขนด้านบน ส่วนใบแก่มีลักษณะที่ค่อนข้างบาง เส้นใบที่ฐานมีความยาวน้อยกว่า 1/2 ของใบ มีเส้นข้างใบประมาณ 7-9 เส้น ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 11 เซนติเมตร และมีหูใบที่แหลม ขนาดประมาณ 0.8-2 เซนติเมตรที่กิ่งก้านมักกลวง และที่ข้อพองออกในต้นอ่อน[1]
  • ดอก ดอกช่อเกิดอยู่ข้างในโครงสร้างกลวงออกตามซอกใบ และประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมากเบียดกันแน่นอยู่บนฐานรองดอก ซึ่งเจริญหุ้มดอก มีช่องเปิดด้านบน และมีใบประดับซ้อนทับกันหลายชั้นปิดอยู่ทำให้ดูคล้ายกับรูปไข่ค่อนข้างกลมอยู่บริเวณกิ่งที่มีใบติดอยู่ ดอกจะเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยจะอยู่ในบริเวณรูเปิดของช่อดอก มีกลีบดอกอยู่ 3-4 กลีบ มีเกสรเพศเมียประมาณ 1-2 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียจะมีรังไข่เหนือวงกลีบ ออกดอกได้ตลอดปี[1]
  • ผล เป็นผลสดมีลักษณะที่กลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ประมาณ 1.1-2.5 เซนติเมตร ออกเดี่ยว ๆ หรือออกคู่ ผลมีสีเหลือง แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม ผลมีขนที่หยาบสีทองขึ้นหนาแน่น มียางสีขาว ไม่มีก้านผล[1],[2]

สรรพคุณของมะเดื่อหอม

1. ผล มีรสฝาดเย็น สามารถใช้เป็นยาแก้พิษฝี (ผล)[1],[2]
2. ราก มีรสฝาดเย็นหอม ช่วยบำรุงกำลัง ชูกำลัง ทำให้ชื่นบาน (ราก)[1],[2]
2.1 ช่วยแก้หัวใจพิการ (ราก)[1],[2]
2.2 รากใช้ฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ราก)[1],[2],[3]
2.3 รากใช้ฝนกับน้ำกินเป็นยาขับลมในลำไส้และเป็นยาระบาย (ราก)[1],[2],[3]
2.4 รากใช้ฝนกับน้ำดื่มช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)[1]
2.5 ช่วยแก้ตับพิการ (ราก)[1],[2]
2.6 รากเป็นยาแก้พิษอักเสบ แก้พิษฝี แก้พิษงู (ราก)[1],[2]
3. ลำต้นหรือราก สามารถนำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงหัวใจ (ลำต้น, ราก)[1],[2],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเดื่อหอม

  • ส่วนที่อยู่เหนือดินของต้น สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% มีพิษเฉียบพลันปานกลาง เมื่อทำการฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรจะมีค่า LD50 เท่ากับ 681 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[1]

ประโยชน์ของมะเดื่อหอม

  • ผลสุก สามารถใช้กินได้ (ขมุ, ลั้วะ)[3]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเดื่อ หอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [15 พ.ค. 2014].
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะเดื่อ หอม”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 154.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “มะเดื่อ หอม, มะเดื่อขน”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 พ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.inaturalist.org/