หางนกยูงฝรั่ง
ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองแดง และสีแสด ฝักแบนแข็งโค้งรูปดาบมีเมล็ด

หางนกยูงฝรั่ง

ต้นหางนกยูงฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ซึ่งค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2367 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่า เวนเซล โบเจอร์ (Wenzel Bojer) ชื่อสามัญ Flam-boyant, The Flame tree, Royal poinciana ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Delonix regia (Hook.) Raf. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นกยูงฝรั่ง อินทรี (ภาคกลาง), หงอนยูง (ภาคใต้), นกยูง นกยูงฝรั่ง ชมพอหลวง ส้มพอหลวง (ภาคเหนือ), ยูงทอง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นต้น

ข้อควรรู้ ! : เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

ลักษณะของ หาง นก ยูง ฝรั่ง

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นพุ่ม เมื่อต้นโตเต็มที่แล้วนั้นจะมีความสูงถึง 10-15 เมตร มีเรือนยอดแบแผ่กว้างเป็นทรงกลมคล้ายร่ม และแผ่กิ่งก้านออกคล้ายกับต้นจามจุรี แต่จะมีขนาดที่เล็กกว่า ลำต้นจะเกลี้ยง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน และเมื่อต้นโตเต็มที่แล้วมักจะมีรากโผล่ขึ้นมาบนดินโดยรอบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด วิธีการติดตา การต่อกิ่ง และการเสียบยอด โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วไป
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับกัน และมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน โดยขนาดของใบย่อยนั้นจะมีขนาดใกล้เคียงกับใบย่อยของต้นมะขาม แผ่นใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมีลักษณะกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นพืชที่ผลัดใบ ซึ่งจะผลัดใบในช่วงเดือนมีนาคมถึงช่วงเดือนมิถุนายน
  • ดอก ออกเป็นช่อดอก ออกตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกประกอบไปด้วยกลีบดอกทั้งสิ้น 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกนั้นประกอบไปด้วย 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่เวลามองไปอาจจะเห็นเป็นสีแสด ซึ่งดอกใดที่เป็นสีเหลืองมากกว่า ดอกนั้นก็จะมีสีแสดออกเหลือง ๆ แต่ถ้าดอกใดที่เป็นสีแดงมากกว่าก็จะออกเป็นสีแสดออกแดง (แต่บางต้นที่ออกดอกเป็นสีแดงแท้ ๆ และออกดอกเป็นสีเหลืองแท้ ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็พบเห็นได้ยาก) ปกติโดยทั่วไปแล้วนั้นจะพบแต่ดอกสีแสด และเมื่อออกดอกและทิ้งใบอยู่ใต้ต้น เหลือแต่ดอกที่บานสะพรั่งไว้ ทำให้ดูงดงามเป็นอย่างมาก โดยในประเทศไทยนั้นฤดูที่ออกดอก ก็คือในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
  • ผล เป็นฝักแบนแข็ง โค้งเป็นรูปดาบ มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 30-60 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ลักษณะของฝักนั้นจะเป็นข้อ ๆ แต่ละข้อจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออก และในฝักมีเมล็ดเรียงอยู่ตามขวางประมาณ 20-40 เมล็ด เมล็ดตอนอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนเมล็ดเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นสีเทาอมขาว มีลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกลม (หรือทรงกระบอกหัวท้ายมน)

สรรพคุณหางนกยูงฝรั่ง

1. ลำต้นสามารถนำมาฝนใช้ทาแก้พิษ ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (ลำต้น)
2. รากสามารถนำมาใช้เป็นยาขับโลหิตสตรีได้ (ราก)
3. รากใช้ช่วยแก้อาการบวมต่าง ๆ ได้ (ราก)

ประโยชน์ของหางนกยูงฝรั่ง

1. เป็นต้นไม้ที่เป็นทรงพุ่มสวยงดงามเป็นอย่างมาก สีของดอกก็ดูสวยสดใส จัดได้ว่าเป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่ายและทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง มักนิยมปลูกไว้ประดับตามสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมไปถึงตามสวนสาธารณะและตามขอบถนนหนทางต่าง ๆ
2. เมล็ดสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้ เช่น การนำมาทำเป็นขนมหวานด้วยวิธีการต้มกับน้ำตาลราดกะทิ เป็นต้น
3. รากสามารถนำมาต้มหรือนำมาทอดรับประทานร่วมกับอาหารได้
4. เมล็ดอ่อนสามารถนำมารับประทานสดได้ แต่ถ้าเป็นเมล็ดที่แก่แล้วต้องนำมาทำให้สุกเสียก่อนจึงจะสามารถรับประทานได้ (เนื่องจากเมล็ดแก่นั้นจะมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ แต่ก็จะถูกทำลายไปถ้าผ่านความร้อนแล้ว)

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

แหล่งอ้างอิง
เว็บไซต์โรงเรียนวัดหอมเกร็ด (ไพศาลประชานุกูล) จังหวัดนครปฐม, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com