วิธีการใช้ยาคุมกำเนิดแบบต่างๆ
ยาคุมกำเนิด คือ ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโทรเจน และฮอร์โมนโปรเจสติน ที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นมาจากระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ยาคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดเป็นการวางแผนอนาคตของครอบครัวและตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะการคุมกำเนิดที่ดีสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการได้ 100% ซึ่งการคุมกำเนิดมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ทั้งการผ่าตัดทำหมันที่เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวรหรือการใช้อุปกรณ์และการใช้ยาเพื่อทำการคุมกำเนิดที่เป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ซึ่งการใช้ ยาคุมกำเนิด จัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมใช้เพื่อคุมกำเนิดมากที่สุด เนื่องจากประหยัด ไม่ต้องเจ็บตัวจากการผ่าตัดและสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดถึง 99%

ยาคุมกำเนิด ( Oral contraceptive pill หรือ Birth control pill หรือ Pill )

ยาคุมกำเนิด ( Oral contraceptive pill หรือ Birth control pill หรือ Pill ) คือ ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโทรเจน ( Estrogen ) และฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) ที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ( Progesterone ) ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นมาจากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในยาคุมกำเนิด ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิดมีการแบ่งตามส่วนประกอบของฮอร์โมนที่ใช้เป็นส่วนผสมได้ 2 แบบ คือ

  1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียว ( Minipill ) คือ ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) เพียงชนิดเดียว

2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ( Combined pill ) คือ ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโทรเจน ( Estrogen ) และฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) อยู่ด้วยกัน

กลไกการทำงานของฮอร์โมนที่มีอยู่ในยาคุมจะมีการทำงานในการคุมกำเนิด

1. ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่

โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเข้าไปยับยั้งทำงานของต่อมใต้สมองในการหลั่งฮอร์โมน Follicle stimulating hormone ( FSH ) ซึ่งฮอร์โมน FSH เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นไข่ที่บริเวณรังไข่ให้มีการเจริญเติบโตจนกระทั้งไข่สุก ดังนั้นเมื่อร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน FSH น้อยลง ย่อมส่งผลให้ไข่หยุดการเจริญเติบโตและไม่มีไข่สุกเกิดขึ้น เมื่อไม่มีฮอร์โมน Follicle stimulating hormone ย่อมไม่มีไข่ที่เจริญเติบโตพร้อมที่จะได้รับการปฏิสนธิเกิดขึ้นนั่นเอง

2. ยับยั้งการตกไข่

ฮอร์โมนโปรเจสตินจะทำหน้าที่ในการยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมอง ( Pituitary gland ) ในการผลิตฮอร์โมน Luteinizing hormone ( LH ) ที่ทำหน้าที่ในการกระตุ้นไข่ที่เจริญเติบโตเต็มที่หรือไข่สุกให้ตกออกจากรังไข่ หรือที่เรียกว่าการตกไข่ เมื่อไม่มีฮอร์โมน LH เข้าไปกระตุ้นไข่ที่สุกแล้วก็จะไม่สามารถตกลงมาที่บริเวณท่อนำไข่ได้ จึงไม่สามารถได้รับการปฏิสนธิกับตัวอสุจิได้ 

3. ปรับลักษณะของมูกที่ปากช่องคลอด

มูกช่องคลอด ( Cervical Mucus, CM ) ที่สภาวะปกติจะมีลักษณะที่เหนียวข้นเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ปากมดลูกได้ แต่ในสภาวะที่ร่างกายมีการตกไข่เกิดขึ้น มูกที่บริเวณปากช่องคลอดจะเปลี่ยนไปเป็นมูกไข่ตก ( Fertile Cervical Mucus ) ซึ่งมีลักษณะเหลวและลื่นเพื่อทำให้ตัวอสุจิสามารถเคลื่อนตัวผ่านเข้าสู่ช่องคลอดและมดลูกได้ง่ายขึ้น แต่ฮอร์โมนโปรเจสตินจะส่งผลให้มูกที่บริเวณปากช่องคลอดคงลักษณะที่เหนียวข้นไม่เปลี่ยนเป็นมูกไข่ตก จึงสามารถป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิสามารถเดินทางเข้าไปสู่ภายในมดลูกเพื่อทำการปฏิสนธิได้

4. ปรับลักษณะของผนังมดลูก

ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจนตินจะมีคุณสมบัติทำให้เนื้อเยื่อบุมดลูก ( Endometrial ) มีลักษณะที่ไม่เหมาะสม กับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกับตัวอสุจิแล้ว ทำให้ไข่ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนได้

ยาคุมกำเนิด คือ ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโทรเจน และฮอร์โมนโปรเจสติน ที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นมา

การรับประทานหรือการใช้เพื่อคุมกำเนิด

นอกจากการแบ่งยาคุมกำเนิดตามส่วนประกอบของฮอร์โมนแล้ว ยังสามารถแบ่งยาคุมตามลักษณะการรับประทานหรือการใช้เพื่อคุมกำเนิดได้ ดังนี้   

1. ยาคุมกำเนิดชนิดกิน สามารถออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 ยาคุมกำเนิดชนิดกินแบบฮอร์โมน คือ ยาคุมกำเนิดชนิดกินจะมีเป็นยาคุมกำเนิดทั้งที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเดียวและฮอร์โมนรวม ซึ่งการรับประทานจะต้องรับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ ยาคุมกำเนิดชนิดกินแบบฮอร์โมนมีลักษณะเป็นเม็ดกลมขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะมีสีขาวหรือสีเหลือง บรรจุบนแผงยา จำนวนเม็ดยาจะมี 21 และ 28 เม็ด โดยยาจำนวน 21 เม็ดแรกจะบรรจุฮอร์โมนไว้ด้านใน แต่สำหรับยาที่บรรจุ 28 เม็ดนั้น ยาเม็ด 21 เม็ดแรกจะบรรจุฮอร์โมนเช่นเดียวกับยาคุมที่มี 21 เม็ด แต่ยาเม็ดที่ 22-28 จะเป็นแป้งหรือแป้งผสมวิตามินสำหรับบำรุงร่างกายเท่านั้น

ขั้นตอนการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดกินแบบฮอร์โมน 

  1. เริ่มรับประทานเม็ดแรกในวันที่เริ่มมีประจำเดือนวันแรกหรือภายใน 5 วันหลังจากที่เริ่มมีประจำเดือน

2. ภายในระยะเวลา 7 วันแรกที่เริ่มรับประทานยาคุม ยังมีอัตราเสี่ยงที่จะสามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นหากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นควรมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใส่ถุงยางอนามัย เป็นต้น

3. ควรรับประทานยาคุมกำเนิดเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีระดับที่สม่ำเสมอกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น และป้องกันการลืมรับประทานยาคุมกำเนิดอีกด้วย

4. หากลืมรับประทานยา 1 วัน ในวันถัดไปให้รับประทานยาร่วมกัน 2 เม็ดหรือในรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ก่อนที่จะรับประทานยาในวันต่อไป

5. หากลืมรับประทานยา 2 เม็ดหรือ 2 วัน ให้ทำการรับประทานยาตอนเช้า 1 เม็ดและตอนเย็น 2 เม็ด

6. หากลืมรับประทานยา 3 เม็ดหรือ 3 วันติดต่อกัน แสดงว่ายาคุมกำเนิดที่รับประทานอยู่นั้นไม่สามารถช่วยป้องกันการคุมกำเนิดได้แล้ว ให้ทำการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นแทน และเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดแผงใหม่ในวันที่ 1-5 ของประจำเดือนรอบถัดไป

7. สำหรับผู้ที่เลือกรับประทานยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด เมื่อยาหมดแผงให้เว้นระยะ 7 วันก่อนแล้ววันที่ 8 จึงเริ่มรับประทานยาคุมแผงต่อไปได้ แต่ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ดสามารถรับประทานยาแผงต่อไปได้ทันทีหลังจากรับประทานยาเม็ดที่ 28 หมดแล้ว 

1.2 ยาคุมกำเนิดชนิดกินแบบฉุกเฉิน

คือ ยาคุมกำเนิดที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้ว แผงยาจะบรรจุยาสองเม็ด มีลักษณะเป็นเม็ดขนาดเล็กสีขาวภายในตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) ที่มีปริมาณสูงมาก โดยฮอร์โมนโปรเจสตินจะเข้าไปยับยั้งการตกไข่และปรับสภาพของเนื้อเยื่อบุผนังมดลูก ( Endometrial ) ให้ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของไข่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 80% การใช้ยาคุมฉุกเฉินจะมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงและอันตรายสูงกว่าการกินยาคุมปกติ เช่น การมีเลือกออกที่บริเวณปากช่องคลอด เป็นต้น

ขั้นตอนการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดกินแบบฉุกเฉิน 

1.ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานยาเม็ดที่ 2 หลังจากที่รับประทานยาเม็ดแรกไปแล้ว

2.ควรรับประทานยาทั้งสองเม็ด การรับประทานยาเพียงเม็ดเดียวจะทำให้ความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์ลดลง 50%

2. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ( Injectable Contraceptives )

คือ ยาคุมกำเนิดที่ทำการฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อที่ภายในร่างกายได้โดยตรง โดยส่วนมากแพทย์จะทำการฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อที่บริเวณสะโพก ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามระยะเวลาคงอยู่ของตัวยา คือ

2.1 ยาคุมกำเนิดแบบฉีดทุก 1 เดือน

เป็นยาคุมกำเนิดที่ทำการฉีดทุก 28-30 วัน คล้ายกับการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน แต่การฉีดจะทำการฉีดยาคุมกำเนิดเพียงครั้งเดียวต่อเดือนไม่ต้องทำการฉีดทุกวัน ซึ่งยาคุมกำเนิดแบบฉีดรายเดือนประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ( Estrogen ) และฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) เป็นยาที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อด้อยของยาฉีดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 1 เดือน โดยฮอร์โมนที่อยู่ตัวยาคุมกำเนิดแบบฉีดจะอยู่ในรูปเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน ( Medroxyprogesterone ) ปริมาณ 25 มิลลิกรัมผสมอยู่กับเอสทราดิอัล ไซพิโอเนท ( Estradiol Cypionate ) ที่มีปริมาณ 5 มิลลิกรัม การฉีดยาคุมแบบ 1 เดือน ร่างกายจะมีประจำเดือนมาแบบปกติทุกเดือน 

2.2 ยาคุมกำเนิดแบบฉีดทุก 3 เดือน

คือ ยาคุมกำเนิดที่สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนต่อการฉีดยาหนึ่งครั้ง ยาคุมกำเนิดชนิด 3 เดือนประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจนตินเพียงชนิดเดียว ซึ่งฮอร์โมนที่นำมาใช้จะอยู่ในรูปเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน ( Medroxyprogesterone ) โดยฮอร์โมนโปรเจนตินจะเข้าไปยับยั้งการตกไข่และเพิ่มความเหนี่ยวของเมือกให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิเข้าสู่มดลูกได้ จึงลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี การฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนประจำเดือนบางเดือนอาจจะมาหรือบางเดือนอาจจะไม่มาก็ได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างไร

การฉีดยาคุมต้องทำการฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาคุมกำเนิดได้

3. ยาฝังคุมกำเนิด ( Contraceptive Implant )

คือ ยาคุมกำเนิดที่สามารถคุมกำเนิดได้ด้วยการฝังเข้าสู่ร่างกาย โดยยาคุมกำเนิดชนิดฝังเป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) โดยบรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน ( Progestin ) ไว้ภายในแท่งหรือวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายหลอดผิวนิ่ม สามารถยืดหยุ่นและหลอดของยาคุมกำเนิดชนิดฝังจะไม่เกิดการสลายตัว ขนาดของหลอดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตรและมีความยาวประมาณ 4-4.3 เซนติเมตร การใช้ยาทำได้โดยการฝังแท่งยาเข้าสู่ร่างกายไว้ที่บริเวณใต้ท้องแขนของผู้หญิงในด้านมือข้างที่ไม่ถนัด เพราะจะมีการใช้งานแขนด้านนั้นน้อยกว่าด้านที่ถนัด ซึ่งการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้

ขั้นตอนการฝังแท่งยาคุมกำเนิด คือ

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการฝังให้สะอาด

2. ทำการฉีดยาชาและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ

3. ทำการผ่าเปิดแผลขนาดประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ที่บริเวณท้องแขนซึ่งอยู่ระหว่างรักแร้และข้อศอก 

4. ทำการวางแท่งยา แล้วจึงทำการปิดแผล

หลังจากทำการผ่าตัดเพื่อฝังแท่งยาคุมกำเนิดแล้ว ที่บริเวณท้องแขนอาจจะมีรอยเขียวช้ำเกิดขึ้นเล็กน้อย แต่รอยช้ำที่จะเกิดขึ้นจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์หลังจากทำการผ่าตัด เมื่อทำการฝั่งแท่งยาคุมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ฮอร์โมนโปรเจสตินที่อยู่ภายในแท่งยาคุมกำเนิดจะค่อย ๆ ไหลออกมาจากแท่งยาคุมและซึมเข้าสู่ร่างกายที่ละน้อย โดยฮอร์โมนโปรเจสตินจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Luteinizing hormone ( LH ) ที่ช่วยกระตุ้นไข่ให้ไข่สุกให้เกิดการตกไข่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถทำการตกไข่ออกมาเพื่อปฏิสนธิกับตัวอสุจิได้ จึงสามารถป้องกันการตกไข่ได้เป็นอย่างดี

การฝังยาคุมกำเนิดได้ตั้งแต่ 3 -5 ปี ขึ้นอยู่กับความต้องการระยะเวลาในการคุมกำเนิด ซึ่งการฝังแท่งยาคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 99% และเมื่อต้องการยกเลิกการคุมกำเนิดก่อนระยะเวลาหมดอายุของแท่งยาคุมกำเนิดที่ทำการฝังไว้ ก็สามารถผ่าตัดนำแท่งยาคุมกำเนิดออกมาจากท้องแขนได้ เมื่อทำการผ่าตัดนำแท่งยาคุมออกมาแล้วก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ข้อดีของการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง คือ ไม่ต้องกลัวลืมที่จะกินยาเพราะเมื่อฝังไปแล้วฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ตามระยะเวลาของยาที่กำหนด ไม่ต้องกลัวว่าผลของยาจะผิดพลาดจนเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น

5.แผ่นแปะคุมกำเนิด

คือ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม โดยการนำฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจนตินมาบรรจุไว้บนแผนแปะ ซึ่งแผ่นแปะคุมกำเนิดมีขนาดกว้าง 2 นิ้ว ยาว 2 นิ้ว โดยแผ่นแปะคุมกำเนิดจะทำการปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินออกมาและซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดจะยับยั้งการตกไข่ ปรับสภาพของมดลูกให้ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของไข่และลดโอกาสการผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก ซึ่งแผ่นแปะสามารถช่วยคุมกำเนิดได้มากถึง 90-99%

ขั้นตอนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการแปะแผ่นคุมกำเนิด

2. ทำการแปะแผ่นคุมกำเนิดที่ผิวหนังบนร่างกาย เช่น บริเวณสะโพก ต้นแขนหรือหน้าท้อง 

3. แผ่นแปะ 1 แผ่นจะสามารถคุมกำเนิดได้ 7 วัน เมื่อแปะแผ่นครบ 7 วันแล้วจึงทำการแกะแผ่นแปะออก พร้อมทั้งทำการแปะแผ่นคุมกำเนิดแผ่นใหม่ต่อทันที การแปะจะต้องแปะติดต่อกัน 27 วันหรือ 3 สัปดาห์ติดต่อกัน แล้วจึงหยุดแปะแผ่น 7 วัน

อาการข้างเคียงที่พบจากการใช้ยาคุมกำเนิด

การใช้ยาคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์อย่างได้ผลก็จริง แต่ก็มีอาการข้างเคียงที่สร้างผลกระทบต่อร่างกายอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาการข้างเคียงที่พบจากการใช้ยาคุมกำเนิด ดังนี้

  1. ประจำเดือนมาแบบผิดปกติ

2. มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง และมีอารมณ์แปรปรวน

3. อาการคลื่นไส้อาเจียน

4. เต้านมเกิดอาการคัดตึง

5. อารมณ์เกิดการแปรปรวน

6. น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น

7. ปากช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละบุคคล บางคนใช้ยาคุมกำเนิดชนิดเดียวกัน แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่างกัน ดังนั้นการใช้ยาคุมกำเนิดควรเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งการเลือกยาคุมกำเนิดผู้ใช้ต้องทำการใช้ยาคุมกำเนิดก่อน ถ้าเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ต้องการแล้วให้ทำการเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดชนิดอื่นแทนจนกว่าร่างกายจะไม่เกิดอาการข้างเคียงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดนั่นเอง

สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์แล้วการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาจึงนับเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีและมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก แต่ถ้าต้องการให้การคุมกำเนิดได้ผล 100% ควรที่จะต้องมีการใช้อุปกรณ์ช่วยในการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงคุมกำเนิด ร่วมด้วยจึงจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 100% ซึ่งการใช้อุปกรณ์ช่วยคุมกำเนิดนอกจากจะสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้แล้วยังสามารถลดความเสี่ยงในการติดโรคที่เกิดทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

All US women aged 15-44 Mosher WD, Martinez GM, Chandra A, Abma JC, Willson SJ (2004). “Use of contraception and use of family planning services in the United States: 1982-2002”. Adv Data (350): 1–36. PMID 15633582.

“Birth Control Pills – Birth Control Pill – The Pill”.Hatcher, Robert A.; Nelson, Anita (2004). “Combined Hormonal Contraceptive Methods”. In in Hatcher, Robert A. (ed.). Contraceptive Technology (18th rev. ed. ed.). New York: Ardent Media. pp. pp. 391–460. ISBN 0-966-49025-8.