โรคเบาหวานขณะมีการตั้งครรภ์
กรณีนี้จะเกิดได้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานทั้งแบบประเภทที่ 1 ( เบาหวานแบบพึ่งอินซูลิน )และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ( เบาหวานแบบไม่พึ่งอินซูลิน ) หากผู้ป่วยตรวจพบว่าตัวเองเป็น โรคเบาหวานขณะมีการตั้งครรภ์ ต้องทำการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตลอดเวลา แต่หากตรวจพบว่าระดับน้ำตาลเกินค่ามาตรฐานปกติ ต้องทำการใช้ยาช่วยเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลทันที แต่มีข้อแม้ว่าผู้ป่วยต้องใช้วิธีการแบบฉีดอินซูลินได้เพียงอย่างเดียวเท่า นั้น ห้ามรับประทานยาชนิดเม็ดโดยเด็ดขาด เนื่องจากยาดังกล่าวจะไปส่งผลให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ อาจจะพิการหรือเกิดความผิดปกติในร่างกายของเด็กได้ หากจะใช้ยาอะไรควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน
คำแนะนำก่อนการตั้งครรภ์
ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานมีความตั้งใจจะมีบุตร ต้องมีการวางแผนอย่างดีเสียก่อน โดยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และต้องหมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง คอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีเสมอ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับความร่วมมือและการประสานงานกันแบบเป็นทีม ทั้งจากคนใกล้ตัวญาติพี่น้อง หรือทีมแพทย์ต่างๆ เช่น แพทย์ดูแลโรคเบาหวาน กุมารแพทย์ สูติแพทย์ พยาบาลด้านเบาหวาน และนักโภชนาการ เพื่อที่จะช่วยให้ว่าที่คุณแม่และลูกในครรภ์ มีร่างกายสมบรูณ์แข็งแรงและปลอดภัยที่สุด
หลายคนมักจะมีความเข้าใจที่ผิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานนั้น ไม่สามารถที่จะมีบุตรได้ แต่ในความเป็นจริงทางการแพทย์สรุปไว้ว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานยังคงสามารถมีบุตรได้ตามคนทั่วไปปกติ เพียงแต่จะต้องดูแลตนเองให้มากขึ้นกว่าเดิม
เป็นโรคเบาหวานหลังจากมีการตั้งครรภ์แล้ว
เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ว่าที่คุณแม่หลายคนอาจจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ เนื่องจากขณะมีการตั้งครรภ์จะมีปัจจัยไปกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนบางชนิดขึ้นมา ที่มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้หากไม่ได้รับการควบคุมที่ดีพอ จะทำให้มีผลกระทบต่อตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ ดังนั้นเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีความปลอดภัย จึงควรมีการตรวจคัดกรองในหญิงมีครรภ์เพื่อหาโรคเบาหวาน ซึ่งจะสามารถเริ่มทำได้เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์โดยให้ผู้ป่วยดื่ม น้ำตาลกลูโคส 50 กรัม ละลายในน้ำ 1 แก้ว หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จึงตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหากพบว่ามีระดับน้ำตาลเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ปัจจัยอะไรบ้างที่เสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
1.อายุมากกว่า 30 ปี
2.มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
3.เป็นคนอ้วนมาก ( น้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัมขึ้นไป )
4.เคยมีประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดที่ผ่านมาผิดปกติ เช่น การแท้ง ครรภ์เป็นพิษ ลูกที่คลอดออกมามีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัมหรือเคยตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ
5.เป็นโรคความดันโลหิตสูง
6.มีประวัติเกิดการติดเชื้อง่าย บริเวณอวัยวะเพศ ทางเดินปัสสาวะและในผิวหนัง
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ผลกระทบต่อมารดา
การตั้งครรภ์อาจจะทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติ เกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโทน มีภาวะเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต ระบบหลอดเลือด และระบบปลายประสาท มีความดันโลหิตสูง ติดเชื้อต่างๆได้ง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
ผลกระทบต่อลูกในครรภ์
สำหรับทารกในครรภ์ก็อาจจะได้รับผลกระทบคือ ร่างกายโตกว่าปกติทำให้คลอดด้วยวิธีปกติได้ยากจนอาจเป็นอันตรายในขณะคลอด อาจจะแท้งหรือคลอดกก่อนกำหนด มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หัวใจล้มเหลว มีอาการตัวเหลือง หรืออาจจะพิการตั้งแต่กำเนิดได้ เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ควรมีการตั้งครรภ์
แม้ว่าผลทางการแพทย์จะยืนยันว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะสามารถมีลูกหรือตั้งครรภ์ได้ปกติ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ป่วยบางคนที่ไม่ควรมีการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายต่อตนเองและลูกในครรภ์ได้ ดังนี้
1.มีอาการหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง
2.มีภาวะไตเสื่อม
3.เป็นโรคเบาหวานชนิดขึ้นตาอย่างรุนแรงและยังไม่ได้รับการรักษา
4.มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอททั้งที่อยู่ในระหว่างการได้รับการรักษา
5.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ยังคงสามารถมีลูกและตั้งครรภ์ได้ตามเช่นคนปกติ แต่ควรมีการวางแผนที่ดีและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ตลอดตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์จนกระทั้งคลอดลูกออกมา ผู้ป่วยควรดูแลรักษาร่างกายตนเองให้แข็งแรง และคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ เพื่อสุขภาพความปลอดภัยของตัวว่าที่คุณแม่เองและเพื่อลูกน้อยตัวเล็กๆที่กำลังจะลืมตาดูโลกเกิดขึ้นมา
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯ: บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัดม 2557.