ประจำเดือนมาไม่ปกติบ่งชี้โรคอะไร
ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นตัวควบคุมการสร้างและการหลุดลอก นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการตกไข่จากรังไข่ในเพศหญิง

ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือน ( Menstruation ) หรือที่มักจะเรียกกันว่า เมนส์ ระดู หรือรอบเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่มีประจำเดือนประมาณ 4 – 7 วัน มักเกิดขึ้นทุก ๆ 28 วัน โดยรอบประจำเดือนปกติจะอยู่ในช่วง 21 – 35 วัน คือ เป็นภาวะเนื้อเยื่อและเลือดที่หลุดลอกออกจากมดลูก เมื่อร่างกายเพศหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ๆ ในร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันผู้หญิงไทยไม่น้อยกำลังประสบปัญหา ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาน้อย และบางคนประจําเดือนไม่มา อันเนื่องมาจากสาเหตุที่หลากหลายและอาจบ่งชี้ถึงโรคบางอย่างก็เป็นได้

สาเหตุประจำเดือนมาผิดปกติ

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ผู้หญิงประจำเดือนมาไม่ปกติ ได้แก่

  • ภาวะความเครียด
  • ยาคุมกำเนิด
  • เนื้องอกที่มดลูก
  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
  • ซีสต์ในรังไข่
  • ภาวะแทรกซ้อนจากยุติการตั้งครรภ์
  • มะเร็งปากมดลูก

ประจำเดือนมาไม่ปกติ คืออะไร

ภาวะประจำเดือนผิดปกติ ( Menstrual disorder ) หรือ ประจำเดือนไม่ปกติ ( Abnormal menstruation ) นั้น มีลักษณะของความผิดปกติได้หลายรูปแบบ เช่น

1. มีเลือดออกระหว่างรอบประจำเดือน ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าโดยปกติแต่ละรอบเดือนจะอยู่ในช่วง 26-30 วัน อย่างที่เราเรียกชื่อเจ้าสิ่งนี้ว่า “ ประจำเดือน ” เพราะโดยเฉลี่ยควรต้องมีประจำเดือน เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น หากยังไม่ทันถึงรอบเดือนถัดไปแต่กลับมีเลือดประจำเดือนไหลออกมาอาจบ่งบอกได้ว่าเกิดอาการผิดปกติขึ้นแล้ว

2. เลือดประจำเดือน มีปริมาณมากกว่า 80 มิลลิลิตรต่อรอบ คงจะยากเกินไปหากจะตวงปริมาณเลือดที่เสียไป แต่มีอีกวิธีที่จะช่วยให้สาวๆ คำนวณปริมาณเลือดประจำเดือนได้เองแบบง่าย ๆ นั่นคือการนับปริมาณการใช้ผ้าอนามัย ผ้าอนามัยขนาดปกติจะซึมซับของเหลวได้ประมาณ 5 มิลลิลิตร ดังนั้นใน 1 รอบเดือนก็ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยเกิน 16 ผืน หรืออีกวิธีคือลองสังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนผ้าอนามัยของตนเอง หากเปลี่ยนผ้าอนามัยเพียง 2-3 ชิ้นต่อวัน แสดงว่ามีประจำเดือนปกติ แต่หากเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2-3 ชั่วโมง จัดว่ามีประจำเดือนมามาก และประเภทสุดท้ายคือเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง ต่อเนื่องกัน 7-8 วัน อันแสดงถึงอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและฮอร์โมนเอสโตรเจน มีมากหรือน้อยเกินไป

3. ประจำเดือนมาน้อย หากสาวๆ ไม่ได้รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพศ แต่กลับมีประจำเดือนในแต่ละรอบน้อยกว่า 5 มิลลิลิตร ก็ถือว่าผิดปกติ

4. มีประจำเดือนมากกว่า 7 วัน โดยปกติประจำเดือนจะมาเยี่ยมเยียนสาวๆ เพียง 2-7 วันเท่านั้นแล้วต้องหยุดสนิท หากมาๆ หยุดๆ แบบกะปริบกะปรอยตลอดทั้งเดือนถือว่าไม่ปกติ

5. รอบเดือนต้องไม่มาถี่หรือทิ้งช่วงนานเกินไป นับง่ายๆ ว่า ต้องไม่สั้นกว่า 21 วัน และไม่นานเกิน 35 วัน เป็นอันใช้ได้ ยกเว้นถ้ามีภาวะอารมณ์ที่เครียด เช่น อยู่ในช่วงติวสอบ ก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง โดยที่ไม่มีอันตรายใดๆ

6. ประจำเดือนมาพร้อมเลือดก้อนขนาดใหญ่ ในเลือดประจำเดือนนั้นปกติจะมีลิ่มเลือดเล็กๆ และเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดปนออกมาด้วยถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะผิดปกติก็ต่อเมื่อในประจำเดือนมีเลือดก้อนขนาดใหญ่เกิน 2.5 เซนติเมตร หรือ 1 นิ้ว ปะปนออกมาด้วย

7. มีประจำเดือนอีกหลังจากที่หมดประจำเดือนไปนานแล้ว เมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงวัยทอง ( 40-45 ปี ) ฮอร์โมนเพศต่างๆ จะลดลง ส่งผลให้ประจำเดือนค่อยๆ หมดไปเองตามธรรมชาติ แต่หากหมดประจำเดือนไปเกิน 1 ปี แล้วกลับมามีประจำเดือนอีกถือเป็นเรื่องผิดปกติ

ประจำเดือน หรือที่มักจะเรียกกันว่า เมนส์ ระดู หรือรอบเดือน คือเลือดที่ไหลออกทางช่องคลอดของผู้หญิง อันเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก

https://www.youtube.com/watch?v=T4UK2ADfWS8

อาการประจำเดือนมาไม่ปกติบ่งชี้โรค

ธรรมชาติของผู้หญิงแต่ละคนมีลักษณะของการมีประจำเดือนที่แตกต่างกันก็จริง แต่หากสังเกตดูแล้วว่าประจำเดือนเพื่อนเก่ากลับมาไม่เป็นปกติเหมือนเคย สาวๆ ควรตระหนักว่านี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายหรือโรคบางอย่างก็เป็นได้ ดังนี้

1. ตั้งครรภ์ แม้ว่าการตั้งครรภ์จะไม่ใช่โรคแต่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประจำเดือนขาดหายทิ้งช่วงไป สำหรับผู้หญิงหากประจำเดือนที่เคยมาเป็นปกติ จู่ๆ กลับไม่มาเหมือนเดิม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเกิดจากการตั้งครรภ์ ( พิจารณาเรื่องนี้ก่อนหาสาเหตุอื่น ) สามารถทำการทดสอบด้วยตนเองโดยการใช้ที่ตรวจครรภ์ ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป ทั้งนี้หลังจากคลอดบุตรแล้วและอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็อาจประสบภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือภาวะขาดประจำเดือนได้เช่นกัน แต่ภาวะเหล่านี้จะหายไปตามธรรมชาติเมื่อลูกหย่านมและจะกลับเข้าสู่ภาวะประจำเดือนมาเป็นปกติในที่สุด

2. รังไข่เสื่อม ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด” (Premature Ovarian Failure) คือการที่ผู้หญิงหมดรอบเดือนก่อนอายุ 40 ปี โดยปกติแล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง (อายุ 40-45 ปี) ร่างกายจะมีความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอและจะค่อย ๆ หยุดตกไข่ทำให้รอบเดือนหยุดมาในที่สุด แต่หากรอบเดือนหมดก่อนเข้าวัยทองหรือที่กล่าวข้างต้นว่าเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดนั้น อาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการทำเคมีบำบัด การผ่าตัด การฉายรังสีอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณท้อง เป็นต้น

3. ท้องนอกมดลูก แม้ว่าภาวะนี้จะพบได้ยากแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในหญิงที่มีคู่แล้ว ( หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ ) ลักษณะความผิดปกติคือ รอบเดือนขาดหายไประยะหนึ่งแล้วต่อมากลับมีเลือดออกแบบกะปริบกะปรอย แม้ว่าจะลองทดสอบกับที่ตรวจการตั้งครรภ์แล้วผลกลับปรากฏว่าไม่ได้ตั้งครรภ์หรือเป็นลบ และมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงหรือปวดท้องบริเวณปีกมดลูกข้างใดข้างหนึ่ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น ควรไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเป็นภาวะท้องนอกมดลูกก็เป็นได้

4. เนื้องอกในสมอง อาจเป็นไปได้ว่าการที่ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติอาจเกิดจากมีเนื้องอกในสมองหรือมะเร็งสมองเติบโตจนไปกดทับต่อมใต้สมองซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศเพื่อการมีประจำเดือน ในผู้ป่วยบางรายพบว่ามีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง จึงส่งผลให้ระบบการทำงานของฮอร์โมนเสียสมดุล

5. ความเครียด สภาพจิตใจส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเครียดทางด้านจิตใจ ( Stress ) เป็นโรควิตกกังวล ( Anxiety disorders ) หรือเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน ( Mood disorders ) ก็จะส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจทิ้งฃ่วงไปหลายรอบเดือน หรือมาแบบกะปริบกะปรอยไม่ต่อเนื่อง ความเครียดมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนและการเจริญพันธุ์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ฮอร์โมน GnRH ( Gonadrotropin releasing hormone ) ซึ่งหลั่งจากสมองส่วนลึกในสมองใหญ่ ( Hypothalamus ) หากเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตใจจนสุขภาพจิตดีขึ้น คลายความเครียดวิตกกังวลลง การมีประจำเดือนก็จะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติได้

6. รูปร่างอ้วนหรือผอมเกินไป ในกลุ่มสตรีวัยรุ่นที่อ้วนหรือผอมมากเกินไปอาจก่อให้เกิดภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) และในสตรีที่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือเป็นนักกีฬาก็อาจจะประสบกับภาวะนี้ได้เช่นกัน เกิดจากสมองหลั่งฮอร์โมน GnRH (ฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่) ออกมาผิดปกติ ฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์จึงขาดสมดุล และในคนอ้วนผิวหนังยังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน FSH ( Folli cular stimulating hormone ) และฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวไปเรื่อย ๆ เมื่อไข่ไม่ตกก็ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน จึงทำให้ประจำเดือนขาดหายไปทีละ 2-3 เดือน

7. โรคตับแข็ง ในผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรคตับแข็งอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมาไม่สม่ำเสมอ และยังมีหนวดขึ้น มีเสียงแหบคล้ายผู้ชาย

8. การอักเสบหรือการติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบและเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ จะทำให้เลือดประจำเดือนที่ออกมามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ลักษณะออกแบบกะปริบกะปรอยหรือมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด

9. โรคเลือด ในสตรีที่เป็นโรคเลือด เช่น ภาวะซีดจากไขกระดูกไม่ทำงาน ( Aplastic anemia ) โรคเกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia ) โรค Von Willebrand’s (โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เลือดออกได้ง่ายกับทุกอวัยวะเนื่องจากขาดการแข็งตัวของเลือด) โรคเกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia ) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ( Leukemia ) ฯลฯ จะทำให้เลือดประจำเดือนออกมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากโรคที่เป็นทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

10. เนื้องอกที่มดลูก ( Uterine fibroid ) ทำให้เลือดประจำเดือนออกผิดปกติ อาจทำให้เลือดออกมาก ออกกะปริบกะปรอย หรือออกนานกว่าที่ควร เนื่องจากเนื้องอกที่มดลูกนั้นจะไปรบกวนการหดรัดตัวของมดลูกนั่นเอง แต่หากเป็นติ่งเนื้อที่ปากมดลูก ( Cervical polyp ) ก็จะทำให้มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์

11. การรับประทานหรือฉีดยาบางชนิด การทานยาบางชนิดส่งผลต่อฮอร์โมนเพศและเยื่อบุโพรงมดลูกโดยตรงจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจขาดช่วงไปหลายเดือน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฝังคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยารักษาโรคไทรอยด์ เป็นต้น รวมถึงการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด เพราะตัวยาจะไปทำลายรังไข่ เป็นเหตุให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ได้ จึงทำให้ประจำเดือนไม่มา 

12. มะเร็ง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัคซีนหลายกลุ่มที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ แต่ปัญหาโรคมะเร็งก็ยังเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ สำหรับผู้หญิง โดยจะพบมากในวัยเจริญพันธุ์ ระหว่างอายุ 20-45 ปี ซึ่งส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงตัวยาที่ใช้ในการรักษายังส่งผลโดยตรงต่อรังไข่ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้ง 2 ข้างทิ้ง ปัญหามะเร็งที่พบในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น

ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นตัวควบคุมการสร้างและการหลุดลอก นอกจากนี้ฮอร์โมนทั้งสองยังเกี่ยวข้องกับการตกไข่จากรังไข่ในเพศหญิง

วิธีดูแลตนเองเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ

1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ

2. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากจนเป็นโรคอ้วน และไม่ให้น้อยจนผอมเกินไป

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหม

4. ลดความเครียด ผ่อนคลายจิตใจ

5. รักษาความสะอาดและสุขอนามัยของร่ายกาย

6. ลดปัจจัยที่คาดว่าทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น เปลี่ยนวิธีหรือชนิดยาคุมกำเนิด และงดยาหรือฮอร์โมนที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ( อาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร )

แนวทางรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ

หากมีอาการเลือดประจำเดือนออกมาผิดปกติหรือออกนานจนร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย เปลือกตาซีด ปวดท้องน้อย มีไข้ ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง ควรไปพบแพทย์โดยด่วน ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติการมีประจำเดือน โรคประจำตัว และประวัติการใช้ยา จากนั้นจะทำการตรวจร่างกายทั่วไป และอาจทำการตรวจภายในซึ่งมีความสำคัญมากเพื่อดูว่ามีติ่งเนื้อหรือแผลที่ปากมดลูกและเนื้องอกที่อวัยวะเพศหรือไม่ แต่ในสตรีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำการตรวจภายใน ( ยกเว้นว่ามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น ) นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องน้อย การตรวจเลือด การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการดูดชิ้นเนื้อหรือขูดมดลูก เพื่อนำตัวอย่างไปตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น แนวทางการรักษาภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ ได้แก่

1. การรักษาสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความกังวล ลดความเครียด บำบัดสุขภาพจิตให้ดีขึ้น

2. ให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย

3. ให้ยารักษา หากเกิดจากฮอร์โมนเพศผิดปกติ

4. รักษาโดยการผ่าตัด ในกรณีเป็น ติ่งเนื้อปากมดลูก ติ่งเนื้อโพรงมดลูก หรือ เนื้องอกมดลูก

สาวๆ ควรหมั่นสังเกตสีของประจำเดือนของตนเองอยู่เสมอเมื่อพบอาการผิดปกติไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา เพราะโรคบางอย่างอาจเป็นภัยเงียบ รู้ตัวอีกทีก็สายเกินไป นอกจากนี้การมีวินัยในการจดบันทึกการมีรอบเดือนและอาการผิดปกติต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและทำการรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น หากทำการรักษาได้ทันท่วงที สาวๆ ก็จะสามารถกลับมามีประจำเดือนที่เป็นปกติได้ในที่สุด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

“Premenstrual syndrome (PMS) fact sheet”. Office on Women’s Health. 23 December 2014. Archived from the original on 28 June 2015. Retrieved 23 June 2015.

Biggs, WS; Demuth, RH (15 October 2011). “Premenstrual syndrome and premenstrual dysphoric disorder”. American Family Physician. 84 (8): 918–24. PMID 22010771.