มหาหิงคุ์
เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก ใบหนารียาวสีเขียวอมสีเทา ดอกออกเป็นช่อซี่ร่ม ดอกเพศเมียสีเหลือง เพศผู้สีขาว ผลคู่แบนยาวรี

มหาหิงคุ์

มหาหิงคุ์ เป็นชันน้ำมัน หรือยางจากหัวรากที่อยู่ใต้ดินหรือลำต้นของพืชตระกูล Ferula มีลักษณะเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุน[1] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Ferula assa-foetida L. อยู่วงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อาเหว้ย (จีนกลาง), หินแมงค์ (จังหวัดเชียงใหม่) [1]

ลักษณะของมหาหิงคุ์

  • ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 2 เมตร มีหัวใต้ดิน ลำต้นตั้งตรง พื้นผิวของลำต้นจะแตกเป็นร่อง โคนต้นมีใบแทงขึ้นจากรากใต้ดิน[1]
  • ใบ เป็นใบประกอบขนนก 3-4 คู่ ช่วงบนลำต้นใบเป็น 1-2 คู่ ใบมีลักษณะหนา ร่วงง่าย ใบย่อยเป็นรูปไข่รียาว รูปกลมรี มีลักษณะเป็นสีเขียวอมสีเทา ที่ขอบใบจะมีฟันเลื่อยขนาดเล็ก ก้านใบมีขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร[1]
  • ดอก ออกเป็นช่อมีลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม ช่อหนึ่งจะมีก้านดอกย่อยอยู่ประมาณ 20-30 ก้านเล็ก แต่ละก้านแยกจากกัน ดอกเพศเมียมีลักษณะเป็นสีเหลือง ส่วนดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นสีขาว มีกลีบอยู่ 5 กลีบ อยู่ต่างช่อกัน มีเกสรเพศผู้อยู่ 5 ก้าน มีรังไข่อยู่ 2 อัน มีขนขึ้น[1]
  • ผล เป็นผลคู่แบน เป็นรูปไข่ยาวรี[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ถ้านำน้ำที่ต้ม เข้มข้น 1:1,000 มาทดลองมดลูกที่อยู่นอกตัวหนูทดลอง ผลปรากฏว่ามีฤทธิ์ที่กระตุ้นให้มดลูกบีบตัวแรง ถ้าเป็นสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะไม่มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกให้บีบตัว[1]
  • น้ำมันระเหย มีฤทธิ์ที่กระตุ้นหลอดลมให้บีบตัว สามารถช่วยขับเสมหะได้[1]
  • พบสาร ยาง 25%, Latex 40-64%, น้ำมันระเหย 10-17% ในน้ำมันหอมระเหยพบสารให้กลิ่นฉุนจำพวก Asafetida อย่างเช่น Diauldo, Sec-butyl, Propenyl
  • พบสาร Farnesiferol, Ferulic acid เป็นต้น ในยาง[1]
  • สาร Asafetida เป็นสารที่ให้กลิ่นฉุน มีรสขม ถ้าเข้าไปในกระเพาะลำไส้ร่างกายจะดูดซึมไม่พบอาการเป็นพิษ และมีผลยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ใช้เป็นยาแก้ท้องเสียได้ และช่วยลดอาการอักเสบในลำไส้ได้[1]

สรรพคุณมหาหิงคุ์

1. ผสมแอลกอฮอล์ ใช้เป็นยาทาภายนอก แก้บวม แก้ปวด [1]
2. ข้อมูลอื่นระบุเอาไว้ว่า อดีตใช้ผสมแอลกอฮอล์ใช้ทาท้องเด็ก สามารถช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ น้ำมันหอมระเหยที่ได้มีคุณสมบัติที่เป็นยาฆ่าแมลงได้ ยางที่ได้รากสามารถช่วยบำรุงธาตุ ใช้เป็นยาขับลม ใช้เป็นยาขับลม ช่วยแก้อาการทางประสาทชนิดฮิสทีเรีย ชำระเสมหะและลม แก้ลมที่มีอาการให้เสียดแทง แก้อาการเกร็ง ช่วยย่อยอาหาร ขับประจำเดือนของสตรี แก้ปวด แก้อาการชักกระตุก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลาก ใช้กลิ่นในการรักษาโรคหวัด และไอได้[3]
3. สามารถช่วยแก้บิด แก้อาการปวดท้อง ปวดกระเพาะ [1]
4. สามารถใช้เป็นยาขับลม แก้อาหารไม่ย่อย แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อได้[1]
5. ในตามตำรับยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยระบุเอาไว้ว่าให้ใช้มหาหิงคุ์ 10 กรัม, ลูกหมาก 20 กรัม, พริกไทย 10 กรัม, โกฐกระดูก 20 กรัม มาบดเป็นผงทำยาเม็ดลูกกลอน ขนาดเม็ดละ 3 กรัม นำมาทานหลังอาหารครั้งละ 10 เม็ด[1]
6. ยางที่ได้จากลำต้นหรือรากจะมีรสเผ็ดขม มีกลิ่นที่ฉุน เป็นยาอุ่น จะออกฤทธิ์กับตับ กระเพาะ ม้าม ลำไส้ และสามารถช่วยบำรุงธาตุภายในร่างกาย[1]
7. มีคุณสมบัติทางยาอื่น ๆ เช่น แก้อาการนอนไม่หลับเป็นยาระบาย ฆ่าเชื้อ ยากล่อมประสาท ถ่ายพยาธิ
8. สามารถใช้เป็นยาฆ่าพยาธิได้[1]
9. สามารถช่วยขับเสมหะได้[1]
10. ในตำรับยาแก้ท้องแข็งแน่นเป็นก้อน ให้นำมหาหิงคุ์ 20 กรัม, โกฐเขมาขาว 100 กรัม, ขมิ้นอ้อย 60 กรัม, แปะไก้จี้ 120 กรัม, ซำเล้ง 100 กรัม มาคั่ว บดให้เป็นผง ใช้ทำเป็นยาเม็ด ทานครั้งละ 60 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น[1]

วิธีใช้

ใช้ครั้งละ 1-1.5 กรัม มาเข้าตำรับยาหรือผสมกับแอลกอฮอล์ ใช้เป็นยาทาภายนอก แก้ขับลม แก้ปวด แก้บวม สามารถใช้ทาแก้ปวดท้อง หรือเข้ากับตำรายาอื่น [1]

ข้อควรระวังในการใช้

  • อดีตนิยมใช้เข้าตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ขนาดที่ใช้ทานสำหรับผู้ใหญ่ นั่นก็คือ 0.3-1 กรัม ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ขายทั่วไปมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ใช้เป็นยาทาภายนอกเป็นหลัก ไม่ควรทาน
  • ห้ามให้ผู้ที่ม้ามหย่อน กระเพาะหย่อน และสตรีที่มีครรภ์ทาน[1]
  • การใช้เป็นยาทาภายนอก เมื่อใช้กับเด็กทารกบางครั้งอาจทำให้มีอาการแพ้เป็นผื่นคัน และไม่ควรทานเนื่องจากอาจจะทำให้ริมฝีปากบวม คลื่นไส้อาเจียน เป็นผื่นคัน[3]

การออกฤทธิ์ของมหาหิงคุ์

  • โดยปกติจะนำมาชุบสำลี หรือนำชนิดที่เป็นลูกกลิ้ง มาทาที่ศีรษะ หน้าท้อง ฝ่าเท้าของเด็กทารก หรือทานเป็นยาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ สารที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นสารจากกลุ่มเดียวกัน นั่นก็คือ สารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย การทานกลไกการออกฤทธิ์เป็นแบบ Local ที่ทางเดินอาหาร โดยเป็น Antispasmodic และกระตุ้นให้ขับลม
  • ในกรณีที่ใช้ทาภายนอก ใช้กับเด็กทารกเท่านั้น เพราะน้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่มีฤทธิ์ Stimulant ด้วย การทาที่ท้องของเด็กคงอาศัยผลจากที่ผนังหน้าท้องของเด็กทารกบางพอที่ผลการเป็น Stimulant จะไปกระตุ้นการเคลื่อนไหวลำไส้ได้ แต่การใช้ทาที่ฝ่าเท้าหรือหน้าผากก็ยากที่จะคาดเดา ที่เป็นไปได้ที่สุดคงเป็นฤทธิ์ที่ทำให้สงบช่วยทำให้เด็กไม่โยเย (อนุชิต พลับรู้การ)[4]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “มหาหิงคุ์”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 418.
2. บทความโดย นายคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย) ลำดับชั้นที่ 6 ในสายราชสกุลแพทย์ “ทินกร”. “ตำรับยาเบ็ญจะอำมฤตย์”.
3. รักสุขภาพ. “เจาะลึกสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง ตอนที่ 1”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:www.raksukkapap.com. [12 พ.ค. 2014].
4. Evans, W.C. Trease and Evans’ Pharmacognosy 14th ed. WB Saunders Co. Ltd.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.pflanzenreich.com/enzyklopaedie/ferula-assa-foetida/
2. https://www.therapeutika.ch/Ferula+assa-foetida
3. https://medthai.com/