สังกรณี
ไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกออกเป็นช่อสีฟ้าและสีปูน ผลเป็นฝักลักษณะแบนเกลี้ยง สีน้ำตาล พอแห้งจะแตก มีเมล็ดเป็นรูปกลมแบน 4 เมล็ด

สังกรณี

สังกรณี เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กหายาก เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากตามป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าดงดิบ และป่าดิบแล้ง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Barleria strigosa Willd. อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น หญ้าหงอนไก่, กวางหีแฉะ, เพิงดี, ขี้ไฟนกคุ้ม, หญ้าหัวนาค, กำแพงใหญ่, จุกโรหินี [1],[2],[4]

ลักษณะสังกรณี

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จะแตกกิ่งก้านสาขารอบต้น ลำต้นสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร ที่กิ่งก้านจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีความชื้นปานกลาง มักพบเจอที่ตามป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าไผ่ [1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามข้อต้น ใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลมมีติ่ง ส่วนที่โคนใบแหลมและจะเริ่มเรียวแหลมไปถึงก้านใบ ขอบใบจะมีขนเป็นหนามเล็ก ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่แผ่นใบเป็นสีเขียว ส่วนที่ท้องใบจะมีขนยาวที่ตามเส้นใบ หลังใบจะมีขนบ้างประปราย ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจะแน่น ดอกจะออกที่ตามง่ามใบหรือที่ปลายยอด มีดอกย่อยอยู่ประมาณ 10 ดอก ดอกจะมีใบประดับ ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปหอก มี 2 แผ่น มีความกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ที่ปลายจะแหลม ส่วนที่ขอบจะหยักเป็นซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย หุ้มโคนดอกไว้ เมื่อดอกย่อยบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงอยู่ 2 กลีบ จะเรียงตัวตรงข้ามเป็นคู่ เชื่อมที่โคน ที่ปลายจะแยก คู่ด้านนอกเป็นรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 1.6 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ปลายจะแหลม ขอบจะหยักซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย คู่ด้านในเป็นรูปใบหอกขนาดเล็ก กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ที่ปลายจะเรียวแหลม ส่วนที่ขอบกลีบมีขนต่อม มีกลีบดอก 5 กลีบ จะเชื่อมกันเป็นหลอด รูปจะปากเปิด เป็นสีม่วงอ่อน หลอดกลีบดอกสามารถยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ด้านนอกนั้นจะเรียบ ด้านในจะขรุขระ กลีบปากด้านบนจะมีแฉก 4 แฉก แต่ละแฉกมีขนาดใกล้เคียงกัน เป็นรูปไข่แกมรูปรี มีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลายแฉกจะมนถึงกลม ขอบจะเรียบ ผิวด้านนอกนั้นจะมีขนต่อม กลีบปากด้านล่างจะมีกลีบ 1 กลีบ มีขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ที่ปลายแฉกจะมนกลมถึงเว้าตื้น ขอบเรียบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก จะแบ่งเป็น 2 คู่ เกสรเพศผู้คู่ยาวก้านเกสรมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ที่ช่วงโคนจะมีขนสั้น ที่ช่วงปลายนั้นจะเรียบ อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานและมีสีม่วง กว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร จะแตกตามแนวยาว เกสรเพศผู้คู่สั้นก้านเกสรจะมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีขนสั้นปกคลุมตลอด อับเรณูมีขนาดเล็ก มีความกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก 1 อัน มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร แทรกระหว่างกลาง เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เป็นรูปขอบขนาน สามารถกว้างได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวมีลักษณะเรียบ ด้านในจะแบ่งเป็น 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลอยู่ 2 ออวุล ติดที่แกนจานฐานดอก สามารถสูงได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร หุ้มรอบรังไข่ ก้านเกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม[5]
  • ผล ออกเป็นฝัก ฝักแบนเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะสามารถแตกได้ มีเมล็ดอยู่ในผล 4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมแบน[1],[2],[5]

สรรพคุณของสังกรณี

1. สามารถนำทั้งต้นมาดองกับเหล้าใช้เป็นยาบำรุงกำหนัดได้ (ทั้งต้น)[5]
2. สามารถนำใบมาใช้เป็นยาแก้คออักเสบได้ (บางข้อมูลก็ระบุว่าสามารถช่วยแก้ต่อมทอลซิลอักเสบ แก้วัณโรคปอดได้) (ใบ)[6]
3. ตำรายาพื้นบ้านอีสานนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือดได้ (ทั้งต้น)[5]
4. สามารถช่วยแก้ไข้จับสั่นได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
5. รากจะมีรสขม สามารถใช้ต้มกับน้ำ นำมาดื่มเป็นยาดับพิษร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[1],[2],[4]
6. สามารถนำต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงกำลังได้ (ทั้งต้น)[2],[3],[4] คนเมืองจะนำรากมาต้มกับน้ำกับสมุนไพรดู่เครือ ฮ่อสะพานควาย ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[7]
7. ตำรับยาขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี ระบุว่าให้ใช้รากของสังกรณี รากของชุมเห็ดไทย และรากหรือต้นของก้างปลาแดง มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาร้อน จะสามารถช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอดได้ (ราก)[4]
8. สามารถช่วยแก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
9. สามารถนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้โลหิตกำเดาได้ (ราก)[4],[5] บางข้อมูลระบุว่าใบสามารถใช้เป็นยาแก้กำเดาได้ (ใบ)[6]
10. ประเทศอินเดียจะนำรากมาปรุงเป็นยาแก้ไอ
11. สามารถนำใบมาใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ได้ (ใบ)[6]
12. ประเทศไทยจะนำรากมาปรุงเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ ด้วยการผสมกับเครื่องยาอื่น เป็นยาดับพิษไข้ทั้งปวง ยาแก้ไอ (ราก)[1],[2],[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สัง กรณี”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [06 มิ.ย. 2014].
2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สัง กรณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [06 มิ.ย. 2014].
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สังกรณี”. หน้า 769-770.
4. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สังกรณี”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 180.
5. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ขี้ไฟนกคุ่ม / สังกรณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com/inven/. [06 มิ.ย. 2014].
6. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สังกรณี”. หน้า 44.
7. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “สังกรณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th. [06 มิ.ย. 2014].
8. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สัง กรณี (Sang Korani)”. หน้า 295.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/helicongus/7166608978
2.https://indiabiodiversity.org/observation/show/397238