อาการไอ ( Cough )
อาการไอ ( Cough ) คือ กลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะในระบบทางเดินหายใจ

อาการไอ ( Cough )

อาการไอ ( Cough ) คือ กลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะในระบบทางเดินหายใจ หรือเพื่อกำจัดเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ อาการไอเป็นการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นของเซลล์ประสาทแบบโดยอัตโนมัติ ที่อยู่นอกการควบคุมของจิตใจ ( Reflex mechanism ) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อตัวรับสัญญาณการไอ ( Cough receptor ) ที่เยื่อบุผิวของระบบทางเดินหายใจตั้งแต่โพรงจมูก เยื่อบุไซนัส กล่องเสียง ลงไปจนถึงหลอดลม หูชั้นนอก เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และกะบังลมได้รับการกระตุ้น

เมื่อได้รับการกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอจะทำการส่งสัญญาณประสาทผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ( vagus ) ไปที่ศูนย์ควบคุมการไอ ( cough center ) ที่สมองบริเวณเมดุลลา ( Medulla ) ศูนย์ควบคุมการไอจะทำการส่งสัญญาณสั่งการไปตามเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อที่ควบคุมการไอให้เกิดการทำงานส่งผลให้เกิดการไอขึ้นนั่นเอง แต่บางครั้งอาการไออาจเกิดขึ้นจากการควบคุมของจิตใจ ( voluntary control ) ได้เช่นกัน นั่นคือจิตใจสามารถทำการควบคุมให้เกิดการไอหรือควบคุมไม่ให้เกิดการไอได้เช่นเดียวกัน แต่อาการไอลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้น้อยเมื่อเทียบกับการไอที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของร่างกาย

กลุ่มระยะเวลาอาการไอ

การวินิจฉัยเพื่อวินิจฉัยและวางแนวทางในการรักษาผู้ป่วย จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการไอของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งเราสามารถทำการแบ่งระยะเวลาอาการไอออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ
1. อาการไอชนิดเฉียบพลัน ( Acute Cough ) คือ อาการไอที่เกิดขึ้นน้อยกว่า 3 สัปดาห์ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น อาการหวัด ไซนัสอักเสบฉับพลัน คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมมีสิ่งแปลกปลอมหรือได้รับสารระคายเคือง เช่น ควัน มลพิษทางอากาศ เป็นต้น
2. อาการไอชนิดกึ่งเฉียบพลัน ( subacute cough ) คือ อาการไอที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 8 สัปดาห์ มีสาเหตุเช่นเดียวกับอาการไอชนิดเฉียบพลัน แต่มีความรุนแรงมากกว่าจึงทำให้เกิดอาการไอนานกว่านั่นเอง
3. อาการไอชนิดเรื้อรัง ( chronic cough ) คือ อาการไอที่เกิดขึ้นมากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป เกิดจากผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin-converting enzyme inhibitor ( ACE-I ) ติดต่อกันเป็นเวลานาน, การอักเสบจากโรคภูมิแพ้หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง, โรคหืด, โรคกรดไหลย้อน [ gastroesophageal reflux ( GERD ) ], เส้นเสียงอักเสบเรื้อรัง, การเกิดเนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม, วัณโรคลงปอด ซึ่งอาการไอเรื้อรัง อาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิดก็ได้
ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกายเบื้องต้น และทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการไอ ซึ่งนำไปซึ่งแนวทางในการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งการตรวจประเมินผู้ป่วยสามารถทำได้ดังนี้

การซักประวัติของอาการไอ

การซักประวัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการไอการถามจะถามเพื่อประเมินความรุนแรงและหาสาเหตุของการไอ ซึ่งการซักประวัติสามารถทำได้ดังนี้
1. ระยะเวลาของอาการไอ เนื่องจากระยะเวลาของอาการไอสามารถช่วยในการระบุสาเหตุของอาการไอ คือ

  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ แสดงว่าเป็นอาการไอชนิดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีหลักเกิดจากการติดเชื้อของระบบการหายใจ
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการไปมากกว่า 8 สัปดาห์ แสดงว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจชนิดเรื้องรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ เป็นต้น

และสอบถามว่าก่อนที่จะมีอาการไอเกิดขึ้น ผู้ป่วยมีอาการหวัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก่อนหรือไม่ ( post-infectious cough ) เช่น เจ็บคอ หวัดน้ำมูก เป็นต้น

2. ลักษณะเฉพาะของการไอ ลักษณะของการไอสามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดการไอได้ ดังนี้

  • การไอแบบกระแอม ( Throat clearing ) เพื่อนำสิ่งที่สร้างความระคายเคืองออกจากร่างกายในรูปของเสมหะ ที่ทำการไหลลงคอด้านหลังจมูก ( Post nasal drip ) หรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ( Chronic sinusitis ) ที่การอักเสบติดต่อกันต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการโรคภูมิแพ้เกิดขึ้นร่วมด้วย,
  • การไอเสียงดังอย่างรุนแรงเป็นพักๆ ( Whooping cough ) แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการไอเนื่องจากโรคไอกรน
  • การไอแบบแห้งๆ อย่างรุนแรงมีลักษณะคล้ายเสียงสุนัขเห่า ( Barking cough ) สาเหตุอาจเกิดจากพยาธิสภาพของกล่องเสียงหรือหลอดลมมีการตีบแคบ ซึ่งสามารถพบได้ในโรคครูป ( croup ) หรือโรคกล่องเสียงและหลอดลมใหญ่เกิดการอักเสบเฉียบอย่างเฉียบพลันหรือกล่องเสียงและหลอดลมคออักเสบ ( Laryngotracheitis ), คอตีบ ( Diphtheria ) ที่เป็นโรคติดต่อชนิดร้ายแรงเนื่องจากทางเดินหายใจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Corynebacterium diphtheriae จนทำให้ทางเดินหายใจเกิดการอักเสบและมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นที่บริเวณภายในลำคอ, การติดเชื้อและอักเสบของ epiglottis, การสูดสำลักสิ่งแปลกปลอม เป็นต้น

3. ช่วงเวลาที่เกิดการไอ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่เกิดการไอต่างกันไป ซึ่งช่วงเวลาที่เกิดการสามารถช่วยประเมิน

สาเหตุของ อาการไอ

1. การไอมากเวลากลางคืน อาจมีสาเหตุการไอเนื่องจาก โรคหืดหอบ ( Asthma ), upper airway cough syndrome ( UACS ) หรือ post-nasal drip syndrome คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการที่เกิดจากโรคจมูกหรือไซนัส เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ( Allergic rhinitis ) โรคจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากอาการภูมิแพ้ ( Nonallergic rhinitis ) โรคไซนัสอักเสบที่มีหรือไม่มีริดสีดวงจมูก ( rhinosinusitis with or without nasal polyps ) หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ( Congestive heart failure; CHF )
2. การไอมากช่วงเวลาเช้ามืด แสดงว่าอาการไอ ของผู้ป่วยอาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อน ( gastroesophageal reflux disease; GERD ) เพราะว่ากกรดมีการไหลย้อนเข้าไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้องรัง ทำให้เกิดการไอนั่นเอง
3. การไอมากหลังตื่นนอน แสดงว่าผู้ป่วยมีเสมหะเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับและมีการคั่งค้างในบริเวณหลอดลมในช่วงเวลาหลับ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ( chronic obstructive pulmonary disease; COPD ), โรคหลอดลมพอง ( Bronchiectasis ) เป็นต้น
4. การมีหรือไม่มีเสมหะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเสมหะเกิดขึ้นหรือไม่มีเสมหะเกิดขึ้นในขณะที่มี อาการไอก็ได้ ซึ่งเสมหะที่เกิดขึ้นนั้นสามารถบ่งบอกสาเหตุของอาการไอได้ดังนี้
4.1. การไอไม่มีเสมหะ โดยผู้ป่วยจะมีการระคายเคืองและมีอาการไอแห้งๆ เช่น การไอที่เกิดจากพยาธิสภาพที่เยื่อหุ้มปอด ( pleura ), กะบังลม ( diaphragm ), หัวใจ ( heart ), หลอดอาหาร ( esophagus ) หรือจากการใช้ยาบางประเภท
4.2. การไอมีเสมหะ แสดงว่าผู้ป่วยมีการอักเสบหรือการติดเชื้อ ซึ่งลักษณะของเสมหะสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ ทั้งสี ความเหนียว ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
4.2.1. เสมหะมีลักษณะเป็นฟองสีชมพู เป็นเสมหะที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจวาย ( congestive heart failure )
4.2.2. เสมหะมีลักษณะใสไม่มีสี เป็นเสมหะที่พบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อหรือการระคายเคืองจากเชื้อไวรัส
4.2.3. เสมหะมีลักษณะข้นเหนียว มีสีเขียวปนเหลือง แสดงว่าผู้ป่วยมีการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ
4.2.4. เสมหะมีลักษณะข้นเหนียวและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งสามารถพบได้มากผู้ป่วยที่มีฝีในปอด ( lung abscess ) หรือโรคปอดติดเชื้อจากไวรัสที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด staphylococcus ที่เรียกว่า necrotizing pneumonia นั่นเอง
4.2.5. เสมหะมีเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งเสมหะในลักษณะนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis), โรคหลอดลมพอง ( bronchiectasis ), มะเร็งปอด ( Lung cancer ), วัณโรค ( pulmonary tuberculosis ) หรือการที่เลือดมีการแข็งตัวผิดปกติ ( coagulopathy )

6. เสมหะมีลักษณะใสคล้ายน้ำลาย และมีปริมาณมากว่า 100 มิลลิลิตรต่อวัน หรือที่เรียกว่า bronchorrhea คืออาการที่มีการไหลของเสมหะไหลในปริมาณที่สูงมาก จนทำให้เสมหะดังกล่าวไหลมาอุดหลอดลม ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิด bronchoalveolar cell carcinoma ( BAC ) เป็นต้น
ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยมีเสมหะเกิดขึ้นในขณะที่มีการไอ แต่เสมหะดังกล่าวไม่ได้เคลื่อนที่ออกมาให้เห็นชัดเจน ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยที่มีอาการไอ จะต้องทำการสังเกตว่ามีเสมหะหรือไม่แม้ว่าจะไม่มีเสมหะให้เห็นก็ตาม อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นการไอแบบไม่มีเสมหะในทันที
7. ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง สิ่งแวดล้อม อาการ อากาศหรือสิ่งกระตุ้นที่อยู่รอบตัวบางชนิดสามารถกระตุ้นทำให้อาการไอเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งต้องทำกาซักถามผู้ป่วยด้วยว่ามีอะไรที่เข้ามากระตุ้นทำให้อาการไอเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น มีอาการไอมากขึ้นหลังมื้อรับประทานอาหารในปริมาณมาก เวลานอนราบกับพื้น เวลาออกกำลังกาย เวลาพูด เวลาหัวเราะแสดงว่าผู้ป่วยอาการไอของผู้ป่วยอาจเกิดขึ้นจากโรคกรดไหลย้อนเนื่องจากการลดลงของ lower esophageal sphincter tone หรือมีการไอมากเวลาอากาศเย็นหรือเวลามีสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่น ในผู้ป่วย allergic rhinitis เป็นต้น
8. ปัจจัยกระตุ้นที่ช่วยบรรเทาอาการไอ สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นอาการไอมาก่อน ให้ทำการสอบถามว่าผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการไอได้อย่างไร เช่น ต้องหลีกเลี่ยงอากาศเย็น ฝุ่นละอองแสดงว่าผู้ป่วยมีอาการไอจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ( Allergic rhinitis ) เป็นต้น
9. อาการอื่นๆ นอกจากอาการไอแล้ว บางครั้งผู้ป่วยบางโรคจะมีอาการร่วมที่สามารถบ่งบอกถึงสาเหตุของอาการไอได้อีกด้วย เช่น

  • การไอร่วมกับเสียงวีดขณะที่หายใจเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดลมตีบในโรคหอบหืด ( asthma ) หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ( COPD )
  • การไอแล้วมีเสมหะสีเหลืองปนเขียว และมีอาการไข้ หอบเหนื่อยเกิดขึ้นร่วมด้วยแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ
  • การไอร่วมกับอาการแสบร้อนที่บริเวณยอดอก มีการเรอเปรี้ยว ขมปากแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน,
  • การไอร่วมกับอาการเหนื่อยหอบง่าย ไม่สามารถนอนราบได้และมีอาการขาบวมเกิดขึ้น แสดงว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว ( congestive heart failure )
  • ไอเป็นๆ หายๆ ร่วมกับอาการคัดจมูก จาม คันตามจมูก / ตา ใน allergic rhinitis,
  • การไอที่เกิดขึ้นร่วมความรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง แสดงว่าอาการไอที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรคปอด, มะเร็งปอด เป็นต้น

10. ประวัติการใช้ยา เนื่องจากยาบางชนิดมีอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการไอได้ เช่น ยาลดความดันที่อยู่ในกลุ่ม Angiotensin converting enzyme ( AVE ) inhibitors ที่จะมีอาการข้างเคียงโดยผู้ป่วยจะมีอาการไอ แบบแห้ง ที่ไม่มีเสมหะนั่นเอง
11. ประวัติการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอเกิดขึ้นได้ และผู้ที่สูบบุหรี่ยังมีความเสี่ยงต่อโรคที่ทำให้เกิดอาการได้ เช่น COPD, มะเร็งปอด เป็นต้น
12. โรคประจำตัว โรคประจำตัวบางโรคจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดการไอ เมื่ออาการของโรคกำเริบขึ้นมา เช่น โรคภูมิแพ้ ( atopic diseases ), โรคของระบบประสาที่ทำให้มีปัญหาการกลืน อาจเกิด chronic silent aspiration เป็นต้น
13. อาชีพ สภาพแวดล้อม สัตว์เลี้ยง สิ่งแวดล้อมเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอาการไอได้ เนื่องจากร่างกายได้รับสารหรือสิ่งแปลกปลอมส่งผลให้เกิดการระคายเคืองในระบบการหายใจโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะหลอดลมไวเกิน ( airway hyperresponsiveness ) จะมีอาการไอเกิดขึ้นง่ายมาก ซึ่งอาชีพที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการไอได้มาก คือ คนทำขนมปัง ช่างทำผม ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผ้า เกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
14. อาการแทรกซ้อนจากการไอ อาการไอถ้ามีความรุนแรงสูงจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งอาการไอที่รุนแรงจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา ( subconjunctival hemorrhage ), herniation, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ( Arrhythmia ), arterial hypotension, ปวดหัว ( headeache ), อาการเวียนศีรษะ ( dizziness ), เป็นลมหมดสติ ( syncopy ), หอบอย่างเฉียบพลัน ( exacerbation of asthma ) เป็นต้น

การตรวจร่างกายของ อาการไอ

เมื่อทำการซักประวัติผู้ป่วยแล้ว แพทย์อาจสันนิฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุของอาการไอแล้ว ขั้นต่อไปจะส่งผู้ป่วยทำการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันและช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอ ซึ่งการตรวจร่างกายมีดังนี้
1.การตรวจคอและจมูกด้วยการส่อง เพื่อหาร่องรอยการติดเชื้อของผู้ป่วยที่มีการไอชิดเฉียบพลัน เช่น ต่อมทอนซิลบวมแดง คอแดง หรือ การพบหนองในโพรงจมูก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรัง ต้องทำการหาร่องรอยการอักเสบในโพรงจมูกส่วน inferior turbinate และ nasal polyp แต่ถ้าผู้ที่มีประวัติไอแบบกระแอมหรือรู้สึกมีน้ำไหลลงคอต้องทำการตรวจเสมหะหลังคอ ( postnasal drip ) ซึ่งสามารถพบมีต่อมทอนซิลโตได้
2.การตรวจปอดด้วยทั้งดู คลำ ฟังและเคาะ ซึ่งการตรวจปอดจะสามารถบ่งบอกถึงพยาธิสภาพในปอดและใกล้เคียงที่ทำให้เกิดการไอ เช่น

  • การตรวจพบ sign ของ consolidation ได้แก่ bronchial breath sound, crackle, egophony ในผู้ป่วย pneumonia
  • การตรวจพบ trachea shift ในผู้ป่วยที่มี pleural effusion ในด้านตรงข้าม, มีการตอบสนอง lung expansion ลดลง, dullness on percussion และ decreased breath sound
  • ตรวจพบเสียงปอดผิดปกติ ซึ่งเกิดกับผู้ป่วยภาวะหลอดลมตีบ เช่น wheeze, rhonchi
  • ตรวจพบเสียง coarse crepitation ซึ่งพบมากในผู้ป่วยที่มีเสมหะในหลอดลมปริมาณสูง เช่น ผู้ป่วย bronchiectasis เป็นต้น

3.การตรวจระบบอื่นๆ เช่น การกดที่บริเวณใบหน้าแล้วผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแสดงว่าผู้ป่วยมีอาการไซนัสอักเสบ ( sinusitis ), รอยดำคล้ำใต้ตา ( allergic shiner ) ของผู้ป่วย allergic rhinitis, ผิวหนังที่ดั้งจมูกและใต้ตาย่นเป็นรอย ( Morgan’s lines หรือ Dennie’s line ), ผื่นแดงและอาการคันบริเวณเปลือกตาหรือหัวตา เป็นต้น
เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาที่ถูกต้อง การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการไอ มีดังนี้
1.ภาพรังสีทรวงอก ( chest X-ray ) ตรวจผู้ป่วยที่มีอาการไอชนิดเรื้อรัง เพื่อหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการไอ เช่น มะเร็งปอด วัณโรคปอด เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่ไอแบบเฉียบพลันหรือไอแบบกึ่งเฉียบพลันทำการเอ็กซเรย์ในผู้ที่สงสัยว่ามีความผิดปกติในปอดจน
2.การตรวจสมรรถภาพปอดด้วย spirometry ทำการตรวจผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดลม เช่น asthma, COPD ซึ่งการตรวจสมรรถภาพของปอดจะสามารถตรวจภาวะหลอดลมตีบ ( airway obstruction ) และการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลม ( bronchodilator response ) ของผู้ป่วยได้
3.ภาพรังสีไซนัส ( plain x-ray of paranasal sinus ) ทำการตรวจในผู้ป่วยที่มีภาวะไซนัสอักเสบ ซึ่งจะพบลักษณะ haziness of maxillary sinus และ air fluid level ในภาพรังสี ซึ่งการตรวจชนิดนี้มีความแม่นยำที่ต่ำมากดังนั้นจึงไม่สามารถยืนยันได้ 100 % ต้องอาศัยการตรวจอื่น ๆ เพิ่ม
4.การส่งตรวจอื่นๆ ที่สามารถช่วยยืนยันสาเหตุของอาการไอได้แก่
4.1 Bronchoprovocative test คือ การทดสอบความไวของหลอดลม ( airway hyperresponsiveness; AHR ) ทำการตรวจในผู้ป่วยที่ผล spirometry ปกติ แต่มีความเสี่ยงของภาวะหลอดลมไวเกิน เช่น ผู้ป่วยที่ไอเรื้อรังจาก asthma ผล spirometry ซึ่งวิธีการตรวจที่นำมาทำการตรวจ คือ methacholine challenge test ( MCT )
4.2 การตรวจการอักเสบของหลอดลม ได้แก่ การตรวจ exhaled nitric oxide, การนับ eosinophils ที่มีอยู่ในเสมหะ
4.3 Serum specific IgE และ skin prick test ที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะโพรงจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้
4.4 High-resolution computed tomography ( HRCT ) ในผู้ป่วยที่สงสัย bronchiectasis, bronchiolitis, interstitial lung diseases ( ILD ) ที่ไม่พบในการ chest X-ray
4.5 Computed tomography of paranasal sinus เป็นการตรวจวิธีสุดท้ายในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือสมอง หรือทำก่อนการผ่าตัดรักษา แต่ไม่ควรทำในผู้ป่วนไซนัสอักเสบ

4.6 Laryngoscopy หรือการส่งด้วยกล้อง เพื่อตรวจดูภาวะโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง ( Laryngopharyngeal Reflux: LPR ) นอกจากการส่งกล้องแล้ว การตรวจหาสาเหตุ อาการไอจากภาวะกรดไหลย้อนสามารถตรวจได้ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น Esophageogastroduodenoscopy 24-hour esophageal pH monitoring, Esophagesl manometry / impedance testing ซึ่งการตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจตั้งแต่แรก แต่ให้ทำการตรวจเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเท่านั้น

การซักประวัติผู้ป่วยนอกจากจะช่วยประเมินถึงสาเหตุแล้ว ยังช่วยในการประเมินความรุนแรงอาการไอได้อีกด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจร่างกายและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันถึงสาเหตุและสร้างแนวทางในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไอเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการไออย่านิ่งนอนใจ เพราะอาการไอที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจวาย วัณโรค เป็นต้น ผู้ป่วยควรสังเกตลักษณะการไอและอาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เมื่อพบแพทย์ควรบอกรายละเอียดเกี่ยวกับอาการไอของตนเองอย่างตรงไปตรงมา อย่ากลัวที่จะบอกความจริงเพราะอาการทุกอย่างที่เกิดในขณะที่เกิดการไอ เพื่อที่แพทย์จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องนำมาซึ่งการวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิด อาการไอ และแนวทาวทางในการรักษาถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.