ผักบุ้งทะเล
เป็นพรรณไม้ล้มลุก ใบจะออกเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่มสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือเป็นสีม่วง ผลเหลี่ยมคล้ายกับแคปซูล

ผักบุ้งทะเล

ชื่อสามัญ Beach morning glory, Goat’s foot creeper[1],[5] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.[2],[5] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ ก็คือ Convolvulus pes-caprae L., Ipomoea biloba Forssk.[6]) อยู่วงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น หม่าอานเถิง (จีนกลาง), ผักบุ้งเล (ภาคใต้), ผักบุ้งต้น (ไทย), ละบูเลาห์ (มะลายู-นราธิวาส), ผักบุ้งขน (ไทย) [1],[4]

ลักษณะของผักบุ้งทะเล

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นจะทอดเลื้อยตามพื้นดิน เลื้อยได้ยาวประมาณ 5-30 เมตร ลำต้นหรือเถาจะกลมเป็นสีเขียวปนสีแดง สีแดงอมสีม่วง ผิวจะเกลี้ยงลื่น ที่ตามข้อมีรากฝอย ภายในจะกลวง จะมียางสีขาวอยู่ที่ทั้งต้นกับใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ตัดลำต้นปักชำ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง สามารถทนความแห้งแล้งได้ มักจะขึ้นที่ตามหาดทราย ริมทะเล[1],[2],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกับ ใบเป็นรูปไต รูปกลม รูปเกือกม้า รูปไข่ ที่ปลายใบจะเว้าบุ๋มเข้าหากัน ส่วนที่โคนใบจะสอบแคบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีเส้นใบแบบขนนก มีเนื้อใบที่ค่อนข้างหนา ผิวใบเป็นมันและเป็นสีเขียว ที่หลังใบจะเรียบ ส่วนที่ท้องใบก็จะเรียบเช่นกัน มีก้านใบที่ยาวและมีสีแดงที่ก้านใบ[1],[2],[4]
  • ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม จะออกดอกที่ตามง่ามใบ ช่อดอกมีดอกประมาณ 2-6 ดอก จะทยอยบานทีละดอก ดอกเป็นรูปปากแตร ที่ปลายดอกจะบานเป็นรูปปากแตร ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกัน มี 5 กลีบ กลีบดอกกลมรี แตกเป็น 5 แฉก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ดอกเป็นสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือเป็นสีม่วง ผิวเกลี้ยง ด้านในของดอกส่วนโคนมีสีเข้มกว่าด้านนอก กลีบดอกเลี้ยงมีลักษณะเป็นสีเขียว ดอกเหี่ยวง่าย [1],[2],[4]
  • ผล เป็นรูปมนรี รูปไข่ จะมีเหลี่ยมคล้ายกับแคปซูล ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลแห้งสามารถแตกได้ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีเมล็ดกลมอยู่ในผล เป็นสีเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร จะมีขนสีน้ำตาลขึ้นคลุม[1],[2],[4]

สรรพคุณผักบุ้งทะเล

1. สามารถช่วยแก้ลมชื้นปวดเมื่อยตามข้อ และช่วยแก้เหน็บชาได้ (ทั้งต้น)[4]
2. สามารถใช้เมล็ดเป็นยาแก้ตะคริว ช่วยป้องกันตะคริวได้ (เมล็ด)[1],[2],[5]
3. สามารถใช้แก้ผดผื่นคันตรงบริเวณหลังที่เกิดจากการกดทับได้ ตำรายาระบุเอาไว้ว่าให้นำใบสดมาตำให้แหลก แล้วคั้นเอาแต่น้ำ มาใช้ทาตรงบริเวณที่เป็น (ใบ)[4]
4. สามารถนำใบมาใช้เป็นยาพอกหรือนำมาต้มใช้อาบรักษาโรคผิวหนังได้ (ใบ)[5]
5. สามารถใช้ต้นเป็นยาถอนพิษลมเพลมพัดหรืออาการบวมที่เปลี่ยนไปตามอวัยวะทั่วไปได้ (ต้น, ทั้งต้น)[1],[5],[7]
6. สามารถใช้ใบเป็นยาทาภายนอก แก้แผลเรื้อรังได้ หรือจะนำไปต้มกับน้ำใช้ล้างแผลก็ได้ (ใบ)[1],[2]
7. นำน้ำที่คั้นได้จากใบมาต้มกับน้ำมะพร้าว ใช้ทำเป็นขี้ผึ้งทาแผล แผลเรื้อรังได้ (ใบ)[2]
8. สามารถใช้รากเป็นยาขับปัสสาวะ ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ (ราก)[1],[5]
9. สามารถใช้รากเป็นยาแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ (ราก)[1]
10. สามารถใช้แก้อาการจุกเสียดได้ (ใบ)[1]
11. สามารถช่วยแก้หวัดเย็นได้ (ทั้งต้น)[4]
12. สามารถช่วยทำให้เจริญอาหารได้ (ต้น)[1]
13. สามารถช่วยแก้โรคเท้าช้างได้ (ราก)[5]
14. ใบจะมีรสขื่นเย็น ใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคไขข้ออักเสบ ช่วยแก้ปวดไขข้ออักเสบมีหนองได้ [1],[2],[5]
15. ในตำรายาแก้ฝีหนองภายนอกระบุเอาไว้ว่าให้นำต้นสดมาตำพอแหลก ผสมน้ำตาลทรายแดงหรือผสมน้ำผึ้ง ใช้พอกตรงบริเวณที่เป็น (ต้น)[4]
16. สามารถนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้อาการคันตามผิวหนังได้[1],[5]
17. สามารถใช้รากเป็นยาแก้ผดผื่นคันมีน้ำเหลืองได้[5]
18. สามารถใช้เป็นยาทาแก้อาการอักเสบ แก้พิษจากแมงกะพรุนไฟ ช่วยทำให้แผลหายเร็วและไม่เป็นแผลเป็นได้ ในตำรายาระบุเอาไว้ว่าให้นำต้นสดมาตำพอแหลกผสมน้ำส้มสายชู ใช้ทาตรงบริเวณที่เป็น ส่วนในตำรายาไทยระบุเอาไว้ว่าให้นำใบสดประมาณ 10-15 ใบ มาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาใช้ทาแผลตรงบริเวณที่โดนแมงกะพรุน หรือตำกับเหล้าใช้เป็นยาพอก หรือนำรากสด 1 ราก มาฝนกับน้ำฝนให้ข้น ผสมเหล้าโรงหรือแอลกอฮอล์ ใช้ทาบ่อย ๆ หรือนำทั้งต้นมาตำให้ละเอียด แล้วก็คั้นเอาน้ำหรือเอามาตำผสมเหล้าใช้เป็นยาทาหรือใช้พอกก็ได้ (ก่อนที่จะทายาให้ใช้ทรายขัดตรงบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนเพื่อเอาเมือกของแมงกะพรุนออกให้หมดก่อน[6] ให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง เช้ากลางวันเย็น ให้ใช้จนหาย) (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[5]
19. ทั้งต้น สามารถช่วยกระจายพิษ แก้งูสวัด แก้พิษฝีบวม ฝีหนองบวมแดงอักเสบได้ (ทั้งต้น)[4] นำใบมาโขลกใช้พอก สามารถถอนพิษ แก้พิษต่าง ๆ อย่างเช่น พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น แมลง ปลา สัตว์ทะเลอื่น ๆ (ใบ)[5]
20.นำใบเข้ากับสมุนไพรอื่น ๆ มาต้มเอาไอมารมรักษาริดสีดวงทวาร (ใบ)[1],[2]
21. สามารถใช้เมล็ดเป็นยาถ่าย ยาระบายได้ (เมล็ด)[1],[2]
22. เมล็ดจะมีรสขื่น สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดท้องได้ (เมล็ด)[1],[2]
23. สามารถช่วยแก้อาการปวดฟันได้ (ราก)[5]
24. ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม เค็ม จะเป็นยาเย็นเล็กน้อย จะออกฤทธิ์กับม้าม ตับ สามารถใช้เป็นยาขับน้ำชื้น ขับลมได้ (ทั้งต้น)[4]

หมายเหตุ

  • ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม เอามาต้มกับน้ำทาน ถ้าใช้ภายนอก ให้ใช้ตามความเหมาะสม[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการทดสอบความเป็นพิษ ปรากฏว่าไม่ว่าจะทดสอบกับสุนัขในขนาด 2 กรัม ด้วยสารสกัดแอลกอฮอล์กับน้ำ หรือปิโตรเลียมอีเทอร์ ก็ไม่พบว่าเป็นพิษหลังผ่านไป 4 วัน และกับแมวที่หนัก 1.8 กรัม ต่อแอลกอฮอล์ 50% ฉีดเข้าช่องท้องก็ไม่เป็นพิษ หรือกับแมวที่ท้องก็ไม่เป็นผลกับลูกในท้อง เช่นเดียวกับหนูแรทที่ทานสารสกัดที่ได้จากใบ [1],[6]
  • ฤทธิ์ที่ลดการอักเสบ ปรากฏว่าสารที่สกัดด้วยอีเทอร์กับเอทานอลจากใบมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin)[6]
  • จากการทดสอบฤทธิ์ต่อต้านฮีสตามีน โดยใช้สารสกัดที่ได้จากใบทดลองกับลำไส้ที่ถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีน และพิษจากแมงกะพรุน ปรากฏว่าช่วยต้านฤทธิ์ทั้งสองได้ มีการทำครีมขึ้นด้วยการใช้สารสกัดที่ได้จากใบด้วยอีเทอร์ 1% สามารถช่วยรักษาพิษของแมงกะพรุนได้[1] สารที่มีฤทธิ์ต้านพิษแมงกะพรุนได้นั่นก็คือสาร Damascenone[3]
  • ใบ มีสารที่ระเหยได้ มีฤทธิ์ในการรักษาอาการแพ้จากพิษของแมงกะพรุน ที่ทำให้มีอาการคัน ผิวหนังเป็นแผลไหม้พอง เป็นผื่นแดงได้[4]
  • พบ Indole อัลคาลอยด์ (เป็นอนุพันธ์ของ Lysergic acid[1], Matorin acetate, Ergotamine, Cacalol methyl ether, Matorin, Dehydrocacalohastine) ในเมล็ด [5]
  • พบสาร Tartaric acid, Malic acid, Hyperoside, Citric acid, Succinic acid, Isoquercitrin, Fumaric acid ในทั้งต้น และพบสาร Sodium chloride, Myristic acid, ß-Sitosterol, Benzoic acid, Potassium Chloride, Behenic acid, Essential oil, Butyric acid ในลำต้นที่อยู่เหนือดิน[5]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเฉพาะที่ ปรากฏว่าสารที่สกัดได้จากใบไม่ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ทั้งผิวหนังธรรมดาและผิวหนังที่ขูดถลอกของกระต่าย[6]
  • ฤทธิ์แก้ปวด เถ้าฉีดสารสกัดด้วยเอทิลอะซิเตทกับน้ำจากส่วนเหนือดินเข้าทางช่องท้องของหนูเมาส์ ปรากฏว่าสามารถช่วยลดอาการปวดที่ถูกกระตุ้นด้วยกรดอะซิติกกับฟอร์มาลินได้ การที่ให้หนูทานสารที่สกัดด้วยเมทานอลปรากฏว่าสามารถลดอาการปวดได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐานพาราเซตามอลหรือยาแอสไพริน สารที่สกัดด้วยเมทานอลกับสารที่สกัดด้วยน้ำไม่ว่าจะให้ด้วยวิธีฉีดเข้าช่องท้องหรือให้กินก็สามารถช่วยลดอาการปวดในหนูเมาส์ได้เหมือนการฉีดสารที่สกัดด้วยเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินเข้าที่ทางช่องท้องของหนูเมาส์[6]
  • ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ส่วนสกัดที่เป็นไขมันที่ทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสบู่ไม่ได้ (unsaponifiable fraction) และสารที่มีผลึกเป็นรูปเข็มเป็นสีขาวที่ได้จากสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบกับน้ำที่คั้นได้จากใบสด ปรากฏว่ามีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนเมื่อนำมาทดสอบกับผิวหนัง แต่ส่วนสกัดอื่นและส่วนสกัดที่เป็นเมือกจากสารสกัดด้วยน้ำ ไม่พบฤทธิ์การต้านฮีสตามีน ครีมที่มีสารสกัดจากใบที่เข้มข้นร้อยละ 1 ปรากฏว่ามีฤทธิ์ถอนพิษแมงกะพรุน ถ้าเอาครีมมาทาทันทีในวันแรกที่โดนพิษแมงกะพรุน สามารถช่วยทำให้ตุ่มแดงลดลง อาการคันลดลงและหายไปภายใน 2 วัน ถ้าใช้ยานี้ผู้ที่มีพิษเป็นแผลเรื้อรัง จะพบว่าแผลหายไป 50% ภายใน 1 สัปดาห์ จะหายสนิทภายในหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง[6]
  • สารที่ออกฤทธิ์สำคัญ ก็คือ E-ehytol กับ Beta-damascenone โดยมีฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดคลายตัว จะช่วยลดการอักเสบ และมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบอื่น คือ 2-hydroxy-4,4,7-trimethyl-1-(4H)-naphthalenone, (-)-mellein, eugenol, 4-vinyl guaiacol, actinidols Ia และ Ib จะออกฤทธิ์ที่ต้านโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin)[6]
  • พบสารจำพวก Volatile ester มีฤทธิ์เป็น Antihistaminic-like ในใบ [1]
  • ใบพบสาร Maleic acid, Ergotamine, Citric acid, Succinic acid, Fumaric acid, Curcumene ในใบ[5] และพบน้ำมันระเหย (Essential oil) ประกอบด้วยสาร Myristic acid, Behenice acid, Melissic acid ในใบ [4]

ข้อควรระวังในการใช้

  • ยางจากต้นหรือยางจากใบจะมีพิษห้ามทาน เนื่องจากจะทำให้เมา คลื่นไส้ วิงเวียน[7]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ผักบุ้งทะเล”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 493-495.
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ผักบุ้งทะเล”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 178.
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักบุ้งทะเล Goat’s Foot Creeper”. หน้า 127.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผักบุ้งทะเล”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 346.
5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ผักบุ้งทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [25 เม.ย. 2014].
6. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักบุ้งทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [25 เม.ย. 2014].
7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ผักบุ้งทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [25 เม.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://tcmwiki.com/
2.https://www.biolib.cz/