สบู่แดง สรรพคุณช่วยแก้อาการหูอื้อ

0
1311
สบู่แดง
สบู่แดง สรรพคุณช่วยแก้อาการหูอื้อ พันธุ์ไม้พุ่ม ใบมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกย่อยที่มีขนาดเล็ก มีกลีบดอกเป็นสีแดงเข้ม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดสีน้ำตาล
สบู่แดง
พันธุ์ไม้พุ่ม ใบมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกย่อยที่มีขนาดเล็ก มีกลีบดอกเป็นสีแดงเข้ม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดสีน้ำตาล

สบู่แดง

ต้นสบู่แดง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลาง เติบโตพื้นที่ในแถบเขตร้อน[6] ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค ชื่อสามัญ Bellyache bush ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha gossypifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) ชื่ออื่น ๆ สลอดแดง สบู่เลือด หงษ์แดง (จังหวัดปัตตานี), บู่แดง ละหุ่งแดง (ในภาคกลาง), มะหุ่งแดง สีลอด ยาเกาะ เยาป่า เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะต้นสบู่แดง

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่ม
    – ต้นมีความสูงของลำต้นอยู่ที่ประมาณ 1-2 เมตร
    – ลำต้นจะแผ่กิ่งก้านออกไปโดยรอบ
    – เป็นพรรณไม้ที่สามารถพบได้ทั่วไปตามพื้นที่โล่งแจ้ง เป็นพรรณไม้ที่ชอบอากาศแห้ง และจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย
    – การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ[1],[3],[4]
  • ใบ
    – ใบเป็นใบเดี่ยว โดยลักษณะรูปร่างของใบนั้นจะคล้ายคลึงกับฝ่ามือ ซึ่งจะมีความเว้าลึกลงไปประมาณ 2-3 เว้า และใบมีเส้นใบเป็นสีแดง
    – ใบมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวปนแดงและมีขนขึ้นปกคลุม[1],[3]
    – ใบมีก้านใบอ่อน
  • ดอก
    – ดอก จะออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อรูปถ้วย โดยจะออกดอกที่บริเวณปลายยอด
    – ช่อดอกจะมีดอกย่อยที่มีขนาดเล็ก มีกลีบดอกเป็นสีแดงเข้ม และดอกมีกลีบเลี้ยงอยู่ 5 กลีบ
    – ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยแต่ละช่อย่อยนั้นจะมีดอกเพศเมียอยู่ 1 ดอก ที่เหลือจะเป็นดอกเพศผู้[1],[3],[4]
  • ผล
    – ผลจะเป็นรูปรียาว มีอยู่ด้วยกัน 3 พู
    – ผลอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง และเมื่อผลแก่เต็มที่ก็จะแตกออก
    – ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ 3 เมล็ด[1],[3],[4]

สรรพคุณ ประโยชน์ของต้นสบู่แดง

1. ก้านใบนำมาลนกับไฟ ใช้เป่าเข้าหูจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้ (ก้านใบ)[4]
2. ใบนำมาตำใช้สำหรับพอกโดยจะมีฤทธิ์ในการช่วยแก้ฝี (ใบ)[5]
3. ใบมีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ (ใบ)[4]
4. ใบนำมาตำใช้สำหรับพอกแก้ผดผื่นคันได้ (ใบ)[3],[5]
5. ใบ นำมาต้มใช้สำหรับดื่มจะมีสรรพคุณในการช่วยแก้ไข้ และลดไข้ได้ (ใบ)[5],[6]
6. ใบนำมาต้มใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องได้ (ใบ)[3]
7.นำมาใช้เป็นยาระบายได้ โดยการนำใบมาต้มใช้สำหรับดื่ม หรือจะใช้เมล็ดนำมาเผาให้สุกจากนั้นก็นำมารับประทานเป็นยาถ่าย หรือยาระบายก็ได้เช่นกัน แต่ควรจะใช้ในปริมาณน้อย (ใบ, เมล็ด)[3],[5],[6]
8. รากนำมาใช้รักษาโรคหืดได้ (ราก)[5]
9. มีบางข้อมูลการทดลองที่ระบุไว้ว่าราก มีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ซึ่งชาวเกาะคอสตาริกานั้นก็ได้นำรากมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งอีกด้วย (ราก)[5],[6]
10. เมล็ด มีฤทธิ์ที่ทำให้อาเจียน (เมล็ด)[5]
11. เมล็ดนำมาตำใช้สำหรับทาแผลโรคเรื้อนได้ (เมล็ด)[3],[5]
12. น้ำมันจากเมล็ดนำมาใช้เป็นยาถ่ายชนิดอย่างแรงได้ (น้ำมันในเมล็ด)[5]
13. น้ำมันในเมล็ดนำมาใช้ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสียได้ (น้ำมันในเมล็ด)[5]
14. นำมาใช้ทำเป็นยาขับพยาธิได้ (น้ำมันในเมล็ด)[5]
15. สามารถนำมาสกัดเพื่อใช้สำหรับในการย้อมสีได้ โดยจะให้สีเขียวหรือสีน้ำตาล ซึ่งสีที่สกัดมาจากต้นจะมีความคงทนต่อการซักและไม่ซีดเมื่อโดนแสงแดดนาน ๆ[1]

พิษของต้นสบู่แดง

1. พิษจากน้ำยาง
น้ำยางใส ๆ ของต้นมีความเป็นพิษ โดยพิษจะมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ทำให้ปวดแสบปวดร้อน เกิดอาการอักเสบบวม หรือเกิดอาการพองเป็นตุ่มน้ำใส หากน้ำยางนี้เข้าตาอาจจะทำให้เกิดอาการตาอักเสบ หรืออาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถึงขั้นบอดถาวรได้
วิธีการแก้พิษ
วิธีการแก้พิษเบื้องต้น หากถูกน้ำยางที่ผิวให้รีบล้างด้วยน้ำสบู่ในทันที จากนั้นทาด้วยครีมสเตียรอยด์ และรับประทานยาแก้แพ้ร่วมด้วย เช่น ยาคลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง แต่ถ้าหากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำหลาย ๆ รอบ จากนั้นให้ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หยอดตา แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด[2]

2. พิษจากเมล็ดและน้ำมันในเมล็ด
– เมล็ด ถ้ารับประทานเข้าไปพิษจะออกฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร อาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง อาจจะถ่ายเป็นเลือด กระหายน้ำ เริ่มปวดศีรษะ รูม่านตาขยาย มีเลือดออกในจอประสาทตา เริ่มมีอาการใจสั่น มีอาการชัก ทำให้มีความดันโลหิตต่ำ ผิวหนังแดง ทำให้อ่อนเพลีย อาจจะถึงขั้นเป็นอัมพาต และอาจมีอาการเคลิ้มฝันในเด็กได้
– น้ำมันในเมล็ดมีพิษรุนแรง จนถึงขั้นอาจทำให้อาเจียนและมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงได้[6]
วิธีการแก้พิษ
สำหรับวิธีการแก้พิษนั้น ให้พยายามทำให้อาเจียนออกมา แล้วรับประทานบาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ ต่อจากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องให้เร็วที่สุด โดยแนะนำให้รับประทานยาถ่ายประเภทเกลือ เช่น ดีเกลือ เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ และให้น้ำเกลือเพื่อใช้ทดแทนน้ำ ควรรับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนตอย่างโซดามินต์ปริมาณวันละ 5-15 กรัม เพื่อทำให้ปัสสาวะมีสภาพเป็นด่าง และเพื่อลดการอุดตันต่อทางเดินของระบบภายในไตอันเนื่องมาจากเม็ดเลือดแดงที่เกาะรวมตัวกัน และในระหว่างนี้ให้รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างสม่ำเสมอ และงดอาหารประเภทไขมัน เพื่อลดอาการตับอักเสบ (ให้ระมัดระวังเรื่องอาการไตวายและหมดสติเอาไว้ด้วยเสมอ)[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ. “สบู่แดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [10 พ.ย. 2013].
2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [10 พ.ย. 2013].
3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [10 พ.ย. 2013].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [10 พ.ย. 2013].
5. เดอะแดนดอตคอม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [10 พ.ย. 2013].
6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [10 พ.ย. 2013].