ดาดตะกั่วเถา
ไม้พุ่มเลื้อยหรือไม้เถาเลื้อยพาดพัน ต้นเกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีมือเกาะเป็นสองง่าม บริเวณปลายกิ่งเป็นสีแดง ดอกสีขาว ผลกลมสีแดงมีเนื้อหนึ่งเมล็ด

ดาดตะกั่วเถา

ดาดตะกั่วเถา มี ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cissus javana DC. และชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Cissus discolor Blume โดยจัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)[1]
นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอ็นเขา, คำแดง, หลังแดง, สะออบลาย, สะมึกริ๊ด (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะดาดตะกั่วเถา

  • ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มเลื้อยหรือไม้เถาเลื้อยพาดพัน
    – มีความยาวอยู่ประมาณ 2-10 เมตร
    – ลำต้นและกิ่งนั้นจะมีลักษณะเป็นสันตามยาว 5-6 สัน ไม่มีขนหรือมีขนนุ่ม
    – มีมือเกาะเป็นสองง่ามอยู่บริเวณปลายกิ่งและเป็นสีแดง[1],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ
    – ใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนานแกมใบหอก
    – ปลายใบมน โคนใบตัด ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย
    – มีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร
    – ผิวใบด้านบนนั้นจะเป็นสีเขียวเข้ม มักมีแถบสีเขียวแกมเทาเป็นแถวคู่ตามยาว
    – ด้านล่างท้องใบจะเป็นสีแดงเข้ม มักมีขนสีขาวบริเวณเส้นใบ มีก้านใบเป็นสีแดง[1],[3]
  • ดอก เป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม จะออกตรงซอกใบหรือปลายยอด
    – ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 0.6-4 เซนติเมตร และมีขน
    – ดอกย่อยก็มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเป็นพูตื้น ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีเขียว
    – ปลายกลีบนั้นเป็นสีแดง รูปรี มีความยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร
    – เกสรเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ[1],[3]
  • ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อหนึ่งเมล็ด
    – ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร
    – ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมสีแดงเข้ม[1],[3]

สรรพคุณ

  • ใบ สามารถนำไปอังกับไฟแล้วนำมาขยี้ทาผิวหนังรักษาแผลตุ่มคัน (ใบ)[2]
  • ทั้งต้น สามารถนำมาทุบแล้วใช้ประคบบริเวณที่ปวดกระดูกร่วมกับยากริ๊ด (ลั้วะ) (ทั้งต้น)[2]
  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนานั้นมีการใช้ใบสดขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)[1]

ประโยชน์

  • สามารถใช้ปลูกเป็นไม้ดอก ไม้ประดับได้[3]
  • ชาวลั้วะนั้นจะใช้เครือมามัดคล้องคอวัวควายที่ถูกตัวทักแถ้เข้าไปในจมูก โดยเชื่อว่าจะทำให้ตัวทักแถ้หลุดออกมา ซึ่งจะใช้คาถาร่วมด้วย[2]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ดาด ตะกั่ว เถา”. หน้า 68.
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ดาด ตะกั่ว เถา, คำแดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [24 ธ.ค. 2014].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ดาด ตะกั่ว เถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [24 ธ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.nparks.gov.sg/
2.https://efloraofindia.com/