ต้นติ้วเกลี้ยง
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cratoxylum cochinchinense (Lour.) Blume[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE) ต้นติ้วเกลี้ยง มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ลำติ้ว (ลั้วะ), ติ้วใบเลื่อม (ภาคเหนือ), ติ้วแดง (จังหวัดสุรินทร์), ติ้วส้ม (คนเมือง), ตุ๊ดจรึ่ม (ขมุ), ติ้วหม่น, ขี้ติ้ว (ภาคเหนือ), กุ่ยฉ่องบ้าง (กะเหรี่ยง, จังหวัดลำปาง) [1],[2],[4]
ลักษณะต้นติ้วเกลี้ยง
- ต้น เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นจะเรียบหรือสะเก็ด เปลือกเป็นสีเทาอมสีน้ำตาล เปลือกต้นด้านในมีลักษณะเป็นสีเหลืองอ่อน จะมีน้ำยางเหนียวเป็นสีเหลืองออกสีแดงซึมออกเวลาที่ถูกตัด ลำต้นจะมีหนามแหลมยาวและแข็งเป็นเนื้อไม้ออกที่ตามลำต้น พบเจอขึ้นได้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ที่มีความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงที่มีความสูงประมาณ 700 เมตร ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดเพาะกล้า[1],[3]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปลายใบมักจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะสอบหรือมน ที่ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกับกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบมีลักษณะเกลี้ยงทั้งสองด้าน ที่ด้านล่างมักจะมีนวล มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 10-18 เส้น ที่ปลายจะเชื่อมกันก่อนจะถึงขอบใบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร[1]
- ดอก เป็นดอกเดี่ยวหรือจะออกเป็นกระจุกประมาณ 2-5 ดอก ดอกจะออกที่ตามซอกใบ ที่ตามปลายกิ่ง เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ จะมีใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ก้านดอกมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงอยู่ 5 กลีบ แยกเป็น 2 วง ก็คือ มีกลีบเลี้ยงวงนอก 3 กลีบ ที่ส่วนตรงกลางของกลีบวงนอกจะมีลักษณะเป็นสีม่วงแดง ขอบเป็นสีเขียว กลีบจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงวงในนิดหน่อย และมีกลีบเลี้ยงวงใน 2 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นสีเขียว เป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ จะแยกจากกัน มีลักษณะเป็นสีส้มหรือสีส้มแดง กลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวกลีบมีลักษณะเกลี้ยง จะมีเส้นสีม่วงแดงจนถึงสีดำตามแนวยาว มีเกสรตัวผู้จำนวนเป็นมากเชื่อมติดเป็น 3 กลุ่ม สลับกับกลุ่มเกสรตัวผู้ที่ไม่สมบูรณ์ 3 ก้าน จะเป็นก้อน อวบน้ำ มีสีเหลือง รังไข่อยู่ที่เหนือวงกลีบเลี้ยง มีช่อง 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลอยู่เป็นจำนวนมาก มีก้านเกสรตัวเมียอยู่ 3 ก้าน จะแยกจากกัน[1]
- ผล เป็นผลแห้งแตก ผลเป็นรูปวงรี ผลมีลักษณะแข็งและเกลี้ยงเป็นมัน กว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงที่ติดทนหุ้มประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวผล ผลแก่จะแตกตามรอยประสานออกเป็นพู 3 พู มีเมล็ดอยู่ในผลประมาณ 6-8 เมล็ดต่อพู เมล็ดมีปีกแบนและบางใส ออกดอกช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ส่วนผลก็จะออกช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม[1]
สรรพคุณต้นติ้วเกลี้ยง
1. สามารถช่วยรักษาอาการที่เกี่ยวกับลำไส้ อาการเสียดท้องได้ (เปลือกต้น)[1]
2. นำต้นกับรากมาต้มน้ำผสมกับลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ใช้ดื่มเป็นยาแก้กระษัยเส้น เป็นยาระบายได้ [1],[2],[3]
3. น้ำยางที่เปลี่ยนเป็นสีแดงที่ได้จากเปลือกสามารถใช้เป็นยารักษาโรคหิดได้ [1]
4. ใบจะมีฤทธิ์ที่เป็นยาระบายอ่อน ๆ สามารถทานใบอ่อนกับยอดอ่อนได้ [3]
ประโยชน์ต้นติ้วเกลี้ยง
1. ชาวมาเลเซียจะนำเปลือกต้นกับใบมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว สามารถใช้ช่วยบำรุงผิวพรรณได้[1]
2. มีบางข้อมูลระบุไว้ว่ามีการนำต้น มาใช้ทำเครื่องสำอาง (ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด และใช้ทำเครื่องสำอางใด)[5]
3. ยอดอ่อนกับใบอ่อนจะมีรสชาติเปรี้ยวค่อนข้างฝาด ทานกับอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถทานเป็นผักสด ทานกับลาบหรือน้ำพริกได้[1],[3],[4]
4. สามารถนำเนื้อไม้มาใช้ทำเสา ถ่าน สร้างบ้าน ฟืน ทำกระดาน [3],[4]
5. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาได้ดี[3]
6. สามารถนำเนื้อไม้มาใช้ทำเชื้อเพลิงและฟืนไว้ใช้สำหรับจุดไฟต้มยาให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟได้ เนื่องจากมีควันที่ไม่เหม็น และเนื้อไม้ก็ยังติดไฟได้ดีมาก[1],[4]
7. สามารถนำเปลือกต้นมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้[1]
สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ติ้วเกลี้ยง”. (เอกภพ พิมเสน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 ม.ค. 2014].
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ติ้วเกลี้ยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [15 ม.ค. 2014].
3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ติ้วเกลี้ยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [15 ม.ค. 2014].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “”ติ้วเกลี้ยง“”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 ม.ค. 2014].
5. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคเหนือ. “ติ้วเกลี้ยง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้าที่ 116.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/