ว่านลูกไก่ทอง
เป็นพันธุ์ไม้ประเภทเฟิร์น รอบเหง้ามีขนนิ่มสีเหลืองทองปกคลุม ก้านใบมีสีเทา และที่โคนก้านใบมีขนสีทองยาวปกคลุม ก้านมีความแข็งมาก

ว่านลูกไก่ทอง

ว่านลูกไก่ทอง ประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งจะพบตามธรรมชาติในพื้นที่แถบภูเขา ตามหุบเขา เชิงเขา หรือตามพื้นที่ชื้นแฉะ[1],[2],[3] ในต่างประเทศสามารถพบเห็นได้ในแถบประเทศจีน มาเลเซีย และอินเดีย ชื่อสามัญ Golden Moss, Chain Fern.[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Cibotium barometz (L.) J.Sm.[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ CIBOTIACEAE ชื่ออื่น ๆ จินเหมาโก่วจี๋ (ภาษาจีนกลาง), เกาแช กิมซีม้อ กิมม๊อเกาจิก (ภาษาจีนแต้จิ๋ว), หัสแดง (ในภาคใต้), เฟินลูกไก่ทอง กูดผีป่า ละอองไฟฟ้า กูดพาน เฟิร์นลูกไก่ทอง (ในภาคเหนือ), ว่านไก่น้อย (ในภาคกลาง), กูดเสือ โพลี (จังหวัดปัตตานี), ขนไก่น้อย (จังหวัดเลย), แตดลิง (จังหวัดตราด), หัสแดง (จังหวัดนครราชสีมา), นิลโพสี (จังหวัดสงขลาและยะลา) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของว่านลูกไก่ทอง

  • ต้น
    – จัดเป็นพันธุ์ไม้ประเภทเฟิร์น
    – ออกใบเป็นจำนวนมากรอบ ๆ เหง้า โดยจะมีลักษณะคล้ายกับมงกุฎ
    – รอบเหง้าแล้ว ก็ยังมีขนนิ่ม ๆ สีเหลืองทองปกคลุมอยู่ทั่วเหง้าอีกด้วย (เป็นที่มาของขนอ่อนที่เหมือนกับลูกไก่)
    – ความสูงของต้นประมาณ 2.5-3 เมตร
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ โดยต้นจะเจริญเติบโตได้ดีในดินเปรี้ยว ดินที่ระบายน้ำได้ดี ต้องการแสงแดดที่ไม่จ้ามากนัก และต้องการความชื้นมาก
  • ใบ
    – ใบหลักจะแบ่ง 2 ลักษณะ คือ 1. ใบส่วนบนเป็นใบขนาดใหญ่ที่มีลักษณะรูปร่างรี ปลายแหลมเป็นรูปขนนก 3 ชั้น ใบมีสีเขียวเข้ม และ 2. ใบส่วนล่างเป็นใบที่ขนาดเล็กกว่ามีลักษณะรี ปลายแหลม ใบมีสีเทาลักษณะเหมือนมีแป้งเคลือบใบเอาไว้อยู่
    – ก้านใบมีสีเทา และที่โคนก้านใบจะมีขนสีทองยาวขึ้นปกคลุมอยู่ ก้านมีความแข็งมาก
    – ที่ริมใบตามรอยหยักของใบจะมีอับสปอร์ลักษณะกลมโตขึ้นอยู่ประมาณ 2-12 กลุ่ม ซึ่งอับสปอร์นี้จะมีเยื่อสีน้ำตาลหุ้มเอาไว้อยู่[1],[2]
    – ใบหลักมีขนาดความกว้างประมาณ 15-30 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร และใบย่อยมีขนาดความกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และมีความยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร

สรรพคุณของว่านลูกไก่ทอง

1. ตำรับยารักษาโรครูมาติสซั่ม รักษาอาการปวดตามข้อและตามกล้ามเนื้อ หรืออาการแขนและขาไม่มีแรง ระบุว่าให้ใช้เหง้าตากแห้ง, รากอบเชยญวน, ต้นและรากนังด้งล้าง, ใบพวงแก้วมณี, รากซกต๋วง, รากพันงู และเปลือกต้นโต่วต๋ง นำมาแช่กับเหล้าใช้ทานเป็นยา (เหง้า)[1]
2. เหง้านำมาใช้ทำเป็นยาขับพยาธิ (เหง้า)[1]
3. ตำรับยาบำรุงกำลังและกระดูก ระบุว่าให้นำเหง้าตากแห้ง, รากหง่วงจี้เน็ก, โกฐเชียง และโป่งรากสนที่เอาเปลือกออกแล้ว ในปริมาณอย่างละเท่า ๆ กัน นำมาบดให้ละเอียดเป็นผง จากนั้นนำมาผสมกับน้ำผึ้ง ทำเป็นยาเม็ด ใช้ทานพร้อมกับเหล้าครั้งละ 50 เม็ด (เหง้า)[1]
4. ตำรายาแก้อาการปัสสาวะบ่อย ระบุว่าให้ใช้เหง้าตากแห้ง, เปลือกต้นโต่วต๋ง, เปลือกรากโงวเกียพ้วย และลูกบักกวย ในปริมาณอย่างละ 15 กรัมเท่า ๆ กัน นำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยา (เหง้า)[1]
5. เหง้านำมาใช้ทำเป็นยาระบาย เป็นยาเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ และมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอีกด้วย [1]
6. ในตำรายามียาที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ระบุไว้ว่า ให้นำเหง้าตากแห้งในปริมาณ 15 กรัม, รากเชียวจั้งในปริมาณ 15 กรัม, ราพังทึ้งก้วงในปริมาณ 15 กรัม, และใบไต่แม้กวยมึ้งในปริมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูใช้ทานเป็นยา โดยจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคช้ำรั่วหรืออาการปัสสาวะไม่รู้ตัว อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอยเป็นสีเหลือง (เหง้า)[1],[2]
7. เหง้านำมาใช้ทำเป็นยารักษาอาการน้ำกามเคลื่อนที่ไม่รู้ตัว (เหง้า)[2]
8. สตรีที่มีอาการตกขาวมากผิดปกติ สามารถนำเหง้าที่เอาขนออกแล้ว, แปะเกี่ยมสด และเต็งย้ง (เขากวางอ่อนนึ่งด้วยน้ำส้ม แล้วนำไปเผา) นำมาบดรวมกันให้เป็นผงพักไว้ก่อน จากนั้นให้นำต้นหนาดใหญ่ลงไปต้มกับน้ำส้มสายชูที่ผสมกับข้าวเหนียว หลังจากต้มได้ที่แล้วก็นำมาบดจนเหนียว แล้วนำมาผสมกับผงที่พักไว้ทำเป็นยาเม็ด ใช้ทานตอนท้องว่าง ทานปริมาณครั้งละ 50 เม็ด (เหง้า)[1],[2]
9. มีความเชื่อว่าเหง้ามีสรรพคุณทำให้มีบุตรได้ง่ายขึ้น (เหง้า)[1]
10. เหง้านำมาใช้ทำเป็นยาบำรุงตับและไต (เหง้า)[1],[2]
11. เหง้านำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก แก้อาการเหน็บชา รักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการอัมพฤกษ์ รักษาอาการแขนขาอ่อนไม่มีแรง (เหง้า)[1],[2]
12. ในตำรับยาหลาย ๆ ตำรับ ได้ระบุไว้ว่า ผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด โดยนำขนจากเหง้ามาตากแห้ง แล้วบดให้เป็นผงนำมาใช้โรยลงบนบริเวณที่มีบาดแผล มีฤทธิ์ในการบรรเทาแผลจากปลิงดูด ใช้รักษาบาดแผลสด แผลจากการถูกของมีคมบาดทุกชนิด แผลที่ถูกสุนัขกัด หรือจะนำมาใช้หลังการถอนฟันก็ได้เช่นกัน (ขนจากเหง้า)[1],[2],[3],[4]

ประโยชน์ว่านลูกไก่ทอง

1. สัตว์เลี้ยงที่เกิดโรคติดต่อ สามารถรักษาให้หาย โดยการนำขนของว่านชนิดนี้ไปแช่กับน้ำให้สัตว์ที่ป่วยกิน[4]
2. ใบแก่นำมาใช้ฟอกสำหรับนำมาย้อมสีได้[3]
3. มักนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีขนสีทองปกคลุม ทำให้ดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ[3],[4]
4. ถือเป็นว่านมหามงคลชนิดหนึ่ง มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของการช่วยป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และถือเป็นว่านเสี่ยงทาย เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า หากต้นเติบโตขึ้น แล้วได้ยินเสียงไก่ร้องในตอนกลางคืนที่เงียบสงัด มีเสียงร้อง “จิ๊บ ๆ” (บางตำราว่าร้อง “กุ๊ก ๆ”) ก็จะทำนายทายทักโชคชะตาของผู้ปลูกและครอบครัวได้ว่า จะร่ำรวยเงินทองในไม่ช้า และมีโชคลาภเกิดขึ้น แต่ถ้าหากนำมาปลูกไว้ในบ้านหรือหน้าบ้าน ไม่ควรเดินข้ามหรือล้างมือใส่ และห้ามปัสสาวะรดโดยเด็ดขาด เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของว่านจะเสื่อมลงได้ [4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. ขนจากเหง้าที่นำมาบดให้เป็นผง จากการนำมาทดลองกับสุนัขและกระต่ายทดลอง มีผลพบว่า มีฤทธิ์ในการห้ามเลือดในแผลสด รักษาแผลเป็น รักษาบาดแผลของตับและม้าม รักษาบาดแผลของเนื้อเยื่อ เนื่องจากมีผลทางกายภาพ สร้างเม็ดเลือดใหม่เร็วขึ้น และผลจากการทดลองนี้ยังพบอีกว่าส่วนผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด โดยจะมีฤทธิ์คล้ายกับปฏิกิริยาที่เกิดกับ Gelatin และฟองน้ำ เหตุนี้จึงนิยมใช้ผงจากขนล้วน ๆ มาโรยลงบนบริเวณที่มีบาดแผล และเนื้อเยื่อก็จะค่อย ๆ ดูดซึมผงจนหมดไปเองอีกด้วย[1],[2]
2. เหง้า มีสารจำพวกแทนนิน สาร Kaempferol และแป้งอีกประมาณ 30%[1],[2]

ขนาดและวิธีใช้

1. ยาสำหรับใช้ภายใน ให้นำเหง้ามาใช้ในปริมาณครั้งละ 5-10 กรัม มาต้มกับน้ำใช้ดื่ม
2. ยาสำหรับใช้ภายนอก ให้นำขนมาใช้บดให้เป็นผง นำมาโรยบนบริเวณที่มีบาดแผล[2]

ข้อควรระวัง

ผู้ที่มีอาการปากขม ลิ้นแห้ง และมีอาการปัสสาวะขัด ไม่ควรรับประทานสมุนไพรว่านลูกไก่ทอง เพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้[2]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านไก่น้อย”. หน้า 707-709.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านไก่น้อย”. หน้า 508.
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เฟินลูกไก่ทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [24 ต.ค. 2014].
4. ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านลูกไก่ทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [24 ต.ค. 2014].
5. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.nybg.org
2. https://commons.wikimedia.org