ขอบชะนาง
เป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า เส้นใบที่มองเห็นได้ชัดเจน และขนที่ขึ้นปกคลุมประปรายที่ผิวใบ ดอกมี2สีตามชนิดของสายพันธุ์ ผลมีขนาดเล็กเป็นสีน้ำตาล

ขอบชะนาง

ต้นขอบชะนาง มี 2 ชนิด คือ ขอบชะนางแดงและขอบชะนางขาว โดยทั้งคู่จะมีความแตกต่างกันตรงที่สีของใบ และดอกตามชื่อที่ตั้ง ส่วนลักษณะอื่น ๆ ก็จะแตกต่างกันไม่มากนัก มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย[5] ชื่ออื่น ๆ หนอนตายอยากแดง หนอนขาว หนอนตายอยากขาว หนอนแดง (ภาคกลางของไทย), ตาสียาเก้อ ตอสีเพาะเกล (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), หญ้ามูกมาย (จังหวัดสระบุรี), หญ้าหนอนตาย (ภาคเหนือของไทย) เป็นต้น[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Gonostegia pentandra (Roxb.) Miq. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Pouzolzia pentandra (Roxb.) Benn. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กะลังตังช้าง (URTICACEAEหรือ CECROPIACEAE)[1],[2]

ลักษณะของขอบชะนาง

  • ต้น
    – จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า
    – ลำต้นมีขนาดเล็กเท่าก้านไม้ขีดไฟ
    – มักเลื้อยไปตามซอกหินหรืออิฐเก่า ๆ และชูยอดขึ้นเพื่อแตกใบ
    – ความสูงของต้น ประมาณ 2-3 ฟุต[5]
    – การขยายพันธุ์ วิธีการใช้เมล็ด[1]
  • ใบ
    – เส้นใบที่มองเห็นได้ชัดเจน และขนที่ขึ้นปกคลุมประปรายที่ผิวใบ[1],[2]
    – ใบของขอบชะนางแดง ใบมีรูปร่างเป็นรูปใบหอก มีสีม่วงอมแดงเห็นเด่นชัด ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร
    – ใบขอบชะนางขาว ใบมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ มีสีเขียวอ่อน ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอกเป็นช่อขนาดเล็กที่บริเวณซอกใบ ดอกเป็นดอกแบบแยกเพศอาศัยอยู่บนต้นเดียวกัน
    – ดอกของต้นขอบชะนางแดง จะมีสีแดง
    – ดอกของขอบชะนางขาว จะมีสีเขียวอมเหลือง[1],[2]
  • ผล
    – ออกผลเป็นกระจุกที่บริเวณซอกใบ ผลมีขนาดเล็กเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นผลแห้งแบบไม่แตก และเมื่อผลแห้งมาก ๆ ก็จะร่วงหล่นลงมาตามพื้นดิน หรือบางผลก็ปลิวไปตามสายลม
  • เมล็ด 
    – เมล็ด มีขนาดเล็กเป็นทรงกลมแกมรี โดยภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2 เมล็ด[5]

สรรพคุณของขอบชะนาง

1. ข้อมูลจากศูนย์สมุนไพรทักษิณ ระบุเอาไว้ว่า ทั้ง 2 ชนิด มีสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมะเร็งได้ (ทั้งต้น)[4]
2. ทั้งต้นมีสรรพคุณในการขับพยาธิในเด็ก (ทั้งต้น)[1]
3. ทั้งต้นนำมาทานเป็นยารักษาโรคหนองใน (ทั้งต้น)[1],[5]
4. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[2]
5. ทั้งต้นมีสรรพคุณในการช่วยรักษาน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[5]
6. ทั้งต้นนำมาปรุงเป็นยาขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[1]
7. ทั้งต้นมีสรรพคุณในการช่วยแก้พิษต่าง ๆ ได้ (ทั้งต้น)[4]
8. เปลือกต้นที่ต้มแล้วนำมาคลุกกับเกลือเล็กน้อย ใช้สำหรับอมรักษาโรครำมะนาด (เปลือกต้น)[1]
9. เปลือกต้นนำมาใช้ทำเป็นยาดับพิษในกระดูก (เปลือกต้น)[1]
10. เปลือกต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาพยาธิผิวหนัง (เปลือกต้น)[1]
11. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการรักษาโรคริดสีดวง โดยให้นำเปลือกต้นไปหุงกับน้ำมัน พอหุงเสร็จก็นำไปทาบริเวณที่เป็นริดสีดวง (เปลือกต้น)[1]
12. ยอดอ่อนนำมาผ่านกระบวนการกลั่นด้วยไอน้ำ ใช้สำหรับรักษาอาการปวดหู (ยอดอ่อน)[1]
13. ผลแห้งนำมาบดให้ละเอียดใช้สำหรับอุดตรงฟันที่มีอาการปวด[1]
14. ผลที่แห้งแล้ว นำมาทานเป็นยาแก้อาการเบื่ออาหารได้[1]
15. ผลที่แห้งแล้ว นำมาทานแก้อาการอาเจียน[1]
16. ผลนำมาทำเป็นยาเม็ดใช้ทานคู่กับน้ำขิงครั้งละ 30 เม็ด โดยมีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการปวดท้อง[1]
17. เหง้าอ่อนมีสรรพคุณในการขับลมและบรรเทาอาการปวดท้อง (เหง้าอ่อน)[1]
18. เหง้าสดนำมาตำผสมกับน้ำมะขามและเกลือ จากนั้นนำไปผสมกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาระบาย (เหง้าสด)[1]
19. ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ใบ)[5]
20. ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคกลากและเกลื้อน โดยใช้เป็นยาภายนอก (ใบ)[1]
21. ใบนำมาพอกรักษาฝีและบรรเทาอาการปวดอักเสบของฝีได้ (ใบ)[2]
22. ใบมีสรรพคุณในการรักษาอาการขาวคล้ำในกล้ามเนื้อส่วนล่างของร่างกาย (ใบ)[4]
23. ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการปวดตามข้อ (ใบ)[1]
24. น้ำจากใบมีสรรพคุณในการช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)[3]
25. ใบนำมาต้มกับน้ำ ใช้สำหรับทำเป็นน้ำอาบให้กับสตรีหลังคลอดบุตร (ใบ)[1]

ประโยชน์ของขอบชะนาง

1. ต้นสด ดอก และใบ มักนำมาใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลง หรือฆ่าหนอนในพืชผักภายในสวน (ต้นสด)[1],[2]
2. ต้น ช่วยรักษาแผลของสัตว์จำพวกโคและกระบือได้ (ต้นสด)[1],[2]
3. รากนำมาตำให้แหลกจากนั้นนำไปแช่กับน้ำสักระยะหนึ่ง แล้วนำมาสระผมจะช่วยฆ่าเหาได้[5]

4. ต้นสด ดอก และใบ ชาวบ้านมักนำส่วนดังกล่าวนี้อย่างใดอย่างหนึ่งมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ โรยไว้บนปากไหที่ใส่ปลาร้าเพื่อฆ่าหนอน (ต้นสด)[1],[5]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการวิจัยพบว่าเหง้าของต้น มีสารที่มีฤทธิ์ขับเสมหะ ขับลมและบรรเทาอาการบีบตัวของลำไส้ที่ผิดปกติได้
2. พบว่าสารที่สกัดมาจากต้น มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงวันได้[1]
3. ภายในเมล็ดของต้น พบว่ามีสารที่มีชื่อว่า l’-acetoxychavicol acetate และสาร l’-acetoxyeugenol acetate อยู่ โดยสารเหล่านี้เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการรักษาแผลเรื้อรังที่เกิดภายขึ้นในกระเพาะอาหารและลำไส้[1]
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ขอบชะนาง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 95-97.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “ขอบชะนาง”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 171.
3. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ประโยชน์ของชอบชะนาง”.  อ้างอิงใน: ศาสตราจารย์ ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [11 ก.พ. 2014].
4. ศูนย์สมุนไพรทักษิณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “รายชื่อสมุนไพรแบ่งตาม สรรพคุณเภสัช”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: herbal.pharmacy.psu.ac.th.  [11 ก.พ. 2014].
5. ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.  “หญ้าหนอนตายหยาก”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (นันทวัน บุญยะประภัศร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:  www.sbg.uru.ac.th/page/database.php.  [11 ก.พ. 2014].
6. https://medthai.com
อ้างอิงรูปจาก
1. https://guatemala.inaturalist.org/taxa/569164-Gonostegia
2. https://efloraofindia.com/2011/03/03/gonostegia-hirta/