กระดอม
กระดอม (Gymnopetalum chinensis) หรือลูกกระดอมมีผลที่โดดเด่นและมีสรรพคุณทางยารักษา ส่วนมากมักจะพบอยู่ในแกงป่ามากกว่าการรับประทานในรูปแบบอื่น เป็นผักชื่อแปลกที่เป็นสมุนไพรในตำรับยาโบราณของไทยอย่างตำรับยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทจักร์และตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา เป็นต้น
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระดอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะนอยจา” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ขี้กาเหลี่ยม” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “ขี้กาดง ขี้กาน้อย” จังหวัดน่านเรียกว่า “ผักแคบป่า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ขี้กาลาย” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “ดอม” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักขาว” และจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มะนอยหก มะนอยหกฟ้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ชื่อพ้อง : Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz
ลักษณะของกระดอม
กระดอม เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแถบประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค มักจะขึ้นทั่วไปตามที่รกร้าง
ลำต้น : เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเป็นร่องและมีมือเกาะ (tendril)
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นรูปไตไปจนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยมหรือเป็นแฉก โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ
ดอก : เป็นดอกแยกเพศบนต้นเดียวกัน ขอบใบเป็นจักแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉกรูปหอก 5 แฉก กลีบดอกมีสีขาว โคนติดกันเล็กน้อยส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นเดี่ยว ๆ และกลีบเลี้ยงลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ มีรังไข่ช่อเดียว ยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 3 แฉก
ผล : ผลสุกเป็นสีแดงอมส้มรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะคล้ายกระสวยหรือรูปวงรีแหลมหัวท้าย มีผิวสากและมีสัน 10 สัน เนื้อผลสีเขียว ผลแก่และผลสุกมีพิษห้ามรับประทาน ส่วนผลอ่อนจะแห้งเป็นสีน้ำตาลสามารถรับประทานได้
เมล็ด : มีเมล็ดจำนวนมากเป็นรูปวงรี ลักษณะเป็นริ้ว ๆ สีน้ำตาลไหม้และมีกลิ่นฉุน
สรรพคุณของกระดอม
- สรรพคุณจากผล
– บำรุงโลหิต ด้วยการนำผลมาต้มแล้วดื่ม - สรรพคุณจากผลอ่อน ช่วยดับพิษโลหิต ดับพิษร้อนในร่างกาย แก้อาการสะอึก ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้ดีฝ่อ ดีแห้ง อาการคลั่งเพ้อหรือคุ้มดีคุ้มร้าย รักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตรหรือแท้งบุตร บำรุงมดลูก บำรุงน้ำนมของสตรี ช่วยถอนพิษผิดและแก้พิษ
– แก้ไข้หรือแก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัม มาต้มกับน้ำพอประมาณแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 นำมาดื่มก่อนอาหารช่วงเช้าและเย็นหรือในช่วงที่มีอาการไข้ - สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ขับน้ำลาย ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับน้ำดี รักษาโรคในการแท้งบุตร แก้พิษสำแดง เป็นยาถอนพิษจากการรับประทานผลไม้ที่เป็นพิษ ใช้ถอนพิษจากพืชมีพิษชนิดต่าง ๆ
– เป็นยาลดไข้ ด้วยการนำเมล็ดมาต้มแล้วดื่ม - สรรพคุณจากใบ แก้พิษบาดทะยัก
– แก้อาการตาอักเสบ ด้วยการนำใบมาคั้นแล้วเอาน้ำมาหยอดตา - สรรพคุณจากราก
– เป็นยาทาถูนวดตามกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดเมื่อย ด้วยการนำรากกระดอมแห้งมาบดผสมกับน้ำร้อนแล้วดื่ม - สรรพคุณจากสมุนไพรกระดอม ยับยั้งการจับตัวกันของเกล็ดเลือดและช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว
ประโยชน์ของกระดอม
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำมาใช้ทำแกง เช่น แกงป่าหรือแกงคั่ว โดยผ่าเอาเมล็ดออกก่อนนำมาใช้แกงหรือจะนำมาใช้ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน
2. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร เป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา ตำรับยาหอมนวโกฐและตำรับยาหอมอินทจักร์
กระดอม เป็นสมุนไพรที่มีลักษณะเด่นและมีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย ส่วนมากจะนำผลอ่อนมารับประทานและเป็นส่วนประกอบในอาหารเพราะผลสุกนั้นมีพิษ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงเลือด บำรุงน้ำดี บำรุงมดลูก และเป็นยาแก้ไข้ กระดอมเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เหมาะกับสตรีเป็นอย่างมากเนื่องจากรักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตรหรือแท้งบุตร บำรุงมดลูกและบำรุงน้ำนมของสตรีได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [14 ต.ค. 2013].
ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data. [14 ต.ค. 2013].
สมุนไพรพื้นบ้าน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th. [14 ต.ค. 2013].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “ลูกกระดอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [14 ต.ค. 2013].