หญ้าคา สมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัว
หญ้าคา คือ วัชพืชที่ทนต่อสภาพอากาศร้อน พบได้ทั่วไปในที่โล่ง และมีความชื้นสูง รากของหญ้าคามีสาร 5 ชนิด ช่วยบำรุงและป้องกันโรคต่างๆได้

หญ้าคา

หญ้าคา ( Imperata Cylindrica ) คือ วัชพืชชนิดหนึ่งที่มีใบแหลมคมเจริญเติบโตได้ดีในที่แห้งแล้งและมีแสงแดดส่องถึง โดยทั่วไปชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากใบของหญ้าคา โดยสานหญ้าคาแล้วนำมาใช้ประโยชน์โดยการนำไปมุงหลังคาบ้านเรือนที่พักอาศัย หรือคอกสัตว์เลี้ยง แต่รู้หรือไหมรากหญ้าคามีองค์ประกอบทางเคมีหลายอย่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ กลูโคส (glucose), แมนนิทอล (mannitol), กรดซิตริก (citric acid), อะรันโดอิน (arundoin), เฟอร์เนอรอล (fernerol), อะไคน์ (achine),โพลีฟีนอ (polyphenols), แทนนิน (taninin), และอัลคาไล (alkali) องค์ประกอบเหล่านี้ใช้เป็นยาสมุนไพรลดไข้ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการกระหายน้ำ และใช้เป็นยาห้ามเลือด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Imperata cylindica ( L. ) P. Beauv
ชื่อวงศ์ : POACEAE ( GRAMINEAE )
ชื่อเรียกอื่น : ลาลาง ลาแล เก้อฮี หญ้าแฝก หรือ หญ้าคา

ถิ่นกำเนิด

มาจากคาบสมุทรมาเลเซีย และชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ถูกนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณในประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ศรีลังกา ซาอุดิอาราเบีย เวียดนาม และไทย หญ้าคาเป็นวัชพืชที่พบได้ทั่วไปในที่โล่ง และมีความชื้นสูงทั่วประเทศ มีอายุยืนหลายปีขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนของเหง้า และเมล็ดแพร่กระจายบริเวณเขตร้อนทั่วโลก

ลักษณะทั่วไป

หญ้าคาเป็นวัชพืชที่ทนต่อสภาพอากาศร้อน โดยลักษณะของต้นหญ้าคาจะแตกกอแน่นมีลำต้นเมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 50 – 150 เซนติเมตร ใบแบนเรียวยาวประมาณ 20 – 50 เซนติเมตร. กว้าง 5 – 9 มิลลิเมตร จะมีปลอกหุ้มแหลมและแข็งที่ยอด ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร งอกแทงขึ้นมาจากดิน ดอกออกเป็นช่อทรงกระบอก ยาว 5 – 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 – 3 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่ติดกันแน่น เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว อับเรณู 2 อัน สีเหลืองหรือสีส้ม ยอดเกสรเพศเมียสีชมพูหรือสีม่วง เมล็ดจะหลุดร่วงปลิวไปตามลม แพร่พันธุ์ไปได้ไกลๆ และในหนึ่งต้นสามารถผลิตเมล็ดได้มากถึง 3,000 เมล็ด

สรรพคุณ และประโยชน์

การใช้ประโยชน์ คือ ใช้มุงหลังคาบ้าน หลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อายุการใช้งาน 3 – 5 ปี พบได้ตามต่างจังหวัดของประเทศไทย และมีงานวิจัยพบว่า ที่รากของหญ้าคามีสารสำคัญอยู่ 5 ชนิด คือ ฟินอลิก ( phenolic compounds ) โครโมน ( chrmones ) ไตรเตอร์ปินอยด์ ( triterpenoid ) เซสควิทเตอร์ปินอยด์ ( sesquiterpenoids ) และ โพลีแซคคาไรด์ ซึ่งมีสรรพคุณทางตำรับยาสมุนไพรดังนี้

สรรพคุณของหญ้าคา

  • รากหญ้าคาช่วยป้องกันเซลล์สมองถูกทำลายจากสารเคมีที่เป็นพิษ
  • รากหญ้าคาช่วยในการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด
  • ช่วยแก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ใช้รากและเหง้าเป็นยาขับปัสสาวะ
  • ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง
  • ช่วยขยายหลอดเลือด
  • ช่วยต้านการอักเสบ
  • ช่วยรักษาปัสสาวะเป็นหนอง
  • ช่วยแก้อาการตาเหลือง
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยขับระดูขาว
  • ช่วยแก้ออกหัด
  • แก้โรคดีซ่าน
  • ช่วยบำรุงไต
  • แก้ร้อนใน
  • แก้ไอ

ตำรับยา

1) แก้ไตอักเสบ ใช้รากแห้ง 30 กรัม ดอกเจ๊กกี่อึ้ง ( Solidago virga-aureus var. leiocarpa ( Benth ) A Gray ) 30 กรัม เปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม เหล้าขาว 3 กรัม ต้มน้ำแบ่งกิน 2 ครั้ง วันละชุด ( ห้ามผสมเกลือกิน ) หรือใช้รากสด 60 – 120 กรัม ต้มน้ำแบ่งกิน 2-3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน

2) แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้รากแห้ง 15 กรัม ใส่น้ำ 250 มิลลิลิตร ต้มให้เหลือ 50 มิลลิลิตร รินกินตอนอุ่นหรือเย็น

3) แก้ตรากตรำทำงานหนัก ช้ำใน ใช้รากสดและขิงสดขนาดเท่าๆ กัน ( 60 กรัม ) ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำ 2 ถ้วย ต้มให้เหลือ 1 ถ้วย กินวันละครั้ง

4) แก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้รากแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำกินหรือผสมรากบัว 15 กรัม ต้มน้ำกิน

5) แก้ออกหัด กระหายน้ำ ใช้รากแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มบ่อย ๆ

6) CDH ดีซ่าน ตัวเหลืองจากพิษสุรา ใช้รากสด 1 กำมือ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม

7) ปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ใช้รากสด 250 กรัม ใส่น้ำ 2,000 มิลลิลิตร ต้มให้เหลือ 1,200 มิลลิลิตร ใส่น้ำตาลพอสมควรแบ่งกิน 3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน หรือกินแทนชาติดต่อกัน 5 – 15 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา

8) แก้หอบ ใช้รากสด 1 กำมือ เปลือกต้นหม่อน ( Morus alba L. ) อย่างละเท่าๆ กัน ใส่น้ำ 2 ชาม ต้มให้เหลือ 1 ชาม กินแต่น้ำ

9) แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ราก 1 กำมือ ใส่น้ำ 1 ถ้วยใหญ่ ต้มให้เหลือ 1 ถ้วยชา ( 15 มิลลิลิตร ) รินกินตอนอุ่นๆ หรือใช้รากแห้ง เมล็ดผักกาดน้ำ ( Plantago asia-tica L. ) อย่างละ 30 กรัม น้ำตาลทราย 15 กรัม ต้มน้ำกิน

10) แก้ปัสสาวะขัด ตัวบวมน้ำ ใช้รากสด 500 กรัม ลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้ออก หั่นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ ต้มให้เดือด 10 นาที เปิดดู ถ้ารากยังไม่จมน้ำ ก็ให้ต้มต่อไปจนรากจมน้ำหมด เอากากออกรินตอนอุ่นๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย กลางวัน 5-6 ครั้ง กลางคืนอีก 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง ปัสสาวะจะถูกขับออกมากขึ้น

11) แก้พิษจากต้นลำโพง ใช้รากสด 30 กรัม ต้นอ้อย 500 กรัม ตำคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำมะพร้าว 1 ลูก ต้มกิน

12) แก้เลือดกำเดาออกง่าย หรือออกไม่ค่อยหยุด ใช้ช่อดอกแห้ง 15 กรัม จมูกหมู 1 อัน ต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง กินหลังอาหารหลายครั้ง อาจหายขาดได้ หรือใช้ขน ( ดอกแก่ ) 15 กรัม ต้มน้ำกินก็ได้หรือใช้น้ำคั้นจากรากสดกิน 1 ถ้วยชา ( 15 มิลลิกรัม ) หรือใช้รากแห้งบดเป็นผง 2.6 กรัม ผสมน้ำซาวข้าวกินหรือใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกินขณะที่เลือดกำเดาออก ใช้ช่อดอกหรือขนตำอุดรูจมูก ช่วยห้ามเลือดกำเดาอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

หญ้าคาเพื่อสุขภาพ (ออนไลน์).สืบค้นจาก : http://herb-to-health.blogspot.com [14 กรกฎาคม 2562].

หญ้าคา (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.doctor.or.th [14 กรกฎาคม 2562].

หญ้าคา วัชพืชแห่งตำนาน มีความหวานเป็นยา.สืบค้นจาก : https://www.matichonweekly.com [14 กรกฎาคม 2562].

หญ้าคาสุดยอดวัชพืชสมุนไพร (ออนไลน์).สืบค้นจาก : http://www.acn.ac.th [14 กรกฎาคม 2562].