ผักกูด ( Paco Fern ) สมุนไพรพื้นบ้านพิชิตความดัน
ผักพื้นบ้านที่เป็นได้ทั้งอาหารและยาสมุนไพรของชาวบ้าน มีต้นตระกูลมาจากเฟิร์น เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมเย็นและชื้น

ผักกูด

ผักกูด ( Paco Fern ) คือ ผักพื้นบ้านที่เป็นได้ทั้งอาหารและยาสมุนไพรของชาวบ้าน มีต้นตระกูลมาจากเฟิร์น ซึ่งมีด้วยกันอยู่ 3 ชนิด ที่นิยมนำมารับประทานจะแตกต่างกันบริเวณสีของลำต้นและใบ ลักษณะทั่วไปลำต้นสูงกว่า 1 เมตรลำต้นแตก ออกจากเหง้าหัวที่อยู่ใต้ดิน โคนจะมีสีน้ำตาลเข้ม ขอบใบเกล็ดหยักคล้ายซี่ฟัน ก้านใบกูดน้ำยาวประมาณ 70 เซ็นติเมตร ขณะอายุอ่อนมีใบคล้ายขนนกเป็นชั้นเดียว แต่เมื่ออายุมากขึ้นใบจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นรูปขนนกสองชั้น โดยบริเวณปลายยอดอ่อนจะม้วนงอแบบก้นหอย เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมเย็นและชื้น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและพบมากในป่าทึบ ชื่อตามท้องถิ่นอื่น ๆ ผักกูดขาว (ชลบุรี), หัสดำ (นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี), กูดน้ำ (แม่ฮ่องสอน), ไก้กวิลุ ปู่แปลเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน),แลโพโด้ แหละโพะโด้ะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), แทรอแปล๊ะ (กะเหรี่ยงแดง), หย่ายจ๊วด (เมี่ยน), เหล้าชั้ว (ม้ง), บ่ะฉ้อน (ลั้วะ), ร่านซู้ล (ขมุ), กูดคึ (ภาคเหนือ), ผักกูด (ภาคกลาง), กูดกิน เป็นต้น ชื่อสามัญของผักกูด : Paco fern, Small vegetable fern, Vegetable fern ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diplazium esculentum (Retz.) Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Athyrium esculentum (Retz.) Copel.) จัดอยู่ในวงศ์ ATHYRIACEAE

มีความพิเศษที่ถือเป็นอาหารสุขภาพ เพราะแม้ว่ามันจะเป็นพืชผักที่ขึ้นตามริมทาง ริมลำน้ำคลองบึง แต่ถ้าบริเวณนั้นมีสภาพพื้นที่ที่ไม่สมบูรณ์ มีสารเคมีเจือปน อากาศไม่บริสุทธิ์ ก็จะไม่ขึ้นหรือเจริญเติบโตไม่ได้เด็ดขาด ในทางตรงข้ามหากดินมีความสมบูรณ์ของสารอาหาร ไม่มีสารพิษและสารเคมี อากาศดี นั่นคือพื้นที่ที่มันขึ้นได้ดีมาก

ลักษณะของผักกูด

อุดมด้วยสารอาหารทางโภชนาการ เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก แคลเซียม และเบต้าแคโรทีนสูง ซึ่งเป็นอาหารของคนที่ชอบขาดสารอาหารเหล่านี้ได้อย่างดี นอกจากนี้มีสรรพคุณทางยาที่สามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกินง่ายเพราะใช้ปรุงเป็นอาหารได้ตั้งแต่ต้มเป็นผักกินเคียงกับบรรดาน้ำพริก ทำเมนูยำ ผัดผักน้ำมันหอย แกงกะทิ เป็นต้น แล้วถ้าได้ทราบถึงประโยชน์ที่มีสุขภาพด้วยแล้ว จะช่วยเพิ่มความอยากกินให้มากอีกยิ่งขึ้นเชียว

คุณค่าทางโภชนาการของผักกูด

ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 34 กิโลแคลอรี่ คอเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม  โอเมก้า-3 โอเมก้า-6 วิตามินเอ 3617 IU คาร์โบไฮเดรต 5.54 กรัม โปรตีน 4.55 กรัม ไขมันทั้งหมด 0.40 กรัม ไนอาซิน 4.980 มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน 0.210 มิลลิกรัม ไทอามีน 0.020 มิลลิกรัม วิตามินซี 26.6 มิลลิกรัม โซเดียม 1 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 370 มิลลิกรัม แคลเซียม 32 มิลลิกรัม ทองแดง 0.320 มิลลิกรัม เหล็ก 1.31 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 34 มิลลิกรัม แมงกานีส 0.510 มิลลิกรัม ซีลีเนียม 0.7 ไมโครกรัม สังกะสี 0.83 มิลลิกรัม แคโรทีน-ß 2040 ไมโครกรัม แคโรทีน-อัลฟา 261 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังมีวิตามิน B-complex กลุ่มที่มีคุณค่าเช่นniacin, riboflavin และ thiamin ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

10 สรรพคุณของผักกูด ประโยชน์ในการรักษาโรค

1. มีธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ มีประโยชน์ต่อการช่วยดูดซึมสารอาหารและเอนไซม์บางชนิดจากโปรตีนเข้าสู่ร่างกายได้ดี ธาตุเหล็กยังมีหน้าที่สำคัญคือการเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดง

2. อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนสูงซึ่งจะช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ เมื่อถูกย่อยสลายที่ตับแล้วจะได้วิตามินเอ ป้องกันการเสื่อมของดวงตาและลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจกลงได้

3. นำส่วนของใบมาต้มหรือกินสดจะมีสรรพคุณช่วยแก้พิษไข้ ลดอาการไข้ตัวร้อน รักษาพิษอักเสบ ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง เลือดออกตามไรฟัน และช่วยขับปัสสาวะ

4. ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดลง ซึ่งจะเป็นผลดีในการลดโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังได้หลายชนิด อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือภาวะหัวใจขาดเลือด

5. ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีความแข็งแรง มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันและต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย

6. มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายไม่ให้อ่อนเพลียหรือซีดง่าย ทำให้ระบบการทำงานภายในต่างๆ เกิดความสมดุลและทำงานดีขึ้น เพราะอุดมด้วยสารอาหารอย่างวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นมากมาย

7. เป็นผักที่ใบมีรสเย็นจึงมีคุณสมบัติช่วยดับร้อนในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถปรับระดับของอุณหภูมิภายในเข้ากับสภาพอากาศร้อนๆ ได้ดีมาก

8. มีประโยชน์เป็นแหล่งของเส้นใยอาหารและแคลเซียมสูงในปริมาณที่กินแทนนมตามหลักโภชนาการแนะนำได้เลยทีเดียว

9. มีฤทธิ์ในการเป็นอาหารและยาช่วยระบาย หากนำใบมาตำพอแหลกแล้วพอกบริเวณผิวหนังที่มีอาการคันจะช่วยบรรเทาและทำให้ผิวหนังรู้สึกสบายขึ้น

10. มีธาตุฟอสฟอรัสซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อร่างกายพอๆ กับแคลเซียม จะช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อเซลล์ ช่วยในการทำงานของเซลล์ การดูดซึมและระบบการขับถ่ายด้วย

หากคุณเองก็ยังไม่รู้จักหรืออาจจะรู้จักแต่ไม่เคยกินสักครั้ง เห็นที่คราวนี้คงต้องหันกลับมาสนใจทำความรู้จักกับผักพื้นบ้านชนิดนี้กันมากขึ้นแล้ว เพราะมีสรรพคุณและประโยชน์ทางสารอาหารมากมายซึ่งร่างกายต้องการ และเป็นยาสมุนไพรใกล้ตัวที่จะช่วยรักษาและป้องกันโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี โดยปลอดภัยจากสารเคมีโดยเฉพาะที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ

ข้อควรระวัง

มีสารออกซาเลตสูงมาก สารชนิดนี้จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วและอาจมีปัญหาไตอักเสบ ซึ่งไม่ควรทานแบบดิบๆ ควรนำไปปรุงให้สุกก่อนทุกครั้ง เพราะสารออกซาเลตจะถูกสลายเมื่อถูกความร้อน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ประโยชน์ของผักกูด ไอเดียการกินการใช้ผักกูดเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.honestdocs.co [26 มิถุนายน 2562].
ผักกูด..ผักพื้นบ้าน สรรพคุณเป็นยาชั้นดี (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://kaijeaw.com [26 มิถุนายน 2562].