สรรพคุณของครอบฟันสี

0
1383
ครอบฟันสี
สรรพคุณของครอบฟันสี ไม้พุ่มที่เป็นวัชพืชและพืชในตำรับยาสมุนไพรไทย ดอกสีเหลือง ผลกลมเป็นกลีบเรียงติดกันคล้ายกับฟันเฟืองข้าว มีขนสั้นปกคลุม
ครอบฟันสี
ไม้พุ่มที่เป็นวัชพืชและพืชในตำรับยาสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณหลากหลาย ดอกสีเหลือง ผลกลมเป็นกลีบเรียงติดกันคล้ายกับฟันเฟืองข้าว มีขนสั้นปกคลุม

ครอบฟันสี

ชื่อสามัญของครอบฟันสี คือ Indian mallow, Moon flower, Country mallow ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Abutilon indicum (L.) Sweet อยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[2],[4] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะก่องเข้า, พรมชาติ, มะอุบข้าว, ก่อนเข้า, ครอบจักรวาล, กิมฮวยเช่า, โพะเพะ, หมากก้นจ้ำ, ครอบตลับ[1],[2],[6],[9],[11]

หมายเหตุ : จากข้อมูลทั่วไปแล้ว Abutilon indicum (L.) Sweet เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นครอบฟันสี แต่ในหนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทยจะแยกต้นครอบฟันสี ต้นครอบตลับ ต้นครอบจักวาลออกจากกัน โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกัน แบ่งออกได้ดังนี้

1. ครอบฟันสี ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Abutilon sinense Oliv. (ทั่วไปเรียก “ก่องข้าวดอย“) ชนิดนี้ที่บริเวณกิ่งและลำต้นจะมีสีเพียงเล็กน้อย ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ค่อนข้างกลม ดอกมีสีส้มหรือสีแสด ต่างจากครอบตลับที่มีดอกสีเหลือง
2. ครอบจักรวาล หรือ ครอบจักรวาฬ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Abutilon persicum (Burm.f.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abutilon polyandrum (Roxb.) Wight & Arn.) (ทั่วไปเรียก “ก่องข้าวหลวง“) มีลักษณะของต้นคล้ายกับต้นครอบตลับ แต่พันธุ์นี้ขนาดของใบจะใหญ่กว่าและบางกว่าครอบตลับ
3. ครอบตลับ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abutilon indicum (L.) Sweet ใบจะมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ดอกเป็นสีเหลือง (เป็นชนิดที่กล่าวถึงในบทความนี้)

โดยทั้งสามชนิดนี้จะมีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกันและสามารถใช้แทนกันได้[11]

ลักษณะ

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 0.5-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก มีขนสีขาวนวลหรือสีเทาอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่วไป ต้นครอบฟันสีนั้นมักเกิดตามดินปนทราย พบได้ทั่วไปตามที่รกร้างริมถนนหนทาง มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาและในทวีปเอเชีย เช่น ในประเทศ เวียดนาม ศรีลังกา ลาว อินเดีย ฯลฯ ในประเทศไทยพบได้มากที่ทางภาคกลางและภาคตะวันออก[7] ทั้งต้นจะมีสาร Amino acids, Flavonoid glycoside, Phenols, และน้ำตาล (จำพวก Flavonoid glycoside มี Cyanidin-3-rutinoside, Gossypin, Gossypitrin) ส่วนรากจะมี Asparagin[1],[2]
  • ใบ จะออกสลับกัน ใบมีลักษณะกลมโต ที่ปลายจะแหลมสั้น ฐานใบจะเว้าเป็นรูปคล้ายหัวใจ ที่ขอบใบเป็นหยักรูปฟัน ใบกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวค่อนข้างหนาและมีขนสีขาวนวลหรือสีเทาขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว ใบจะมีสาร Organic acid, Mucilage, Tannins, Traces of asparagin และมีเถ้าที่ประกอบไปด้วย Alkaline sulphates, Calcium carbonate, Chlorides และ Magnesium phosphate[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นดอกเดียวจากซอกของก้านใบ ดอกมีสีเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก้านดอกยาว ทางใกล้โคนดอกจะมีรอยเป็นข้อ 1 รอย กลีบเลี้ยงดอกติดกัน ถ้าบานออกจะคล้ายกับจาน และมีรอยแยกฉีกแบ่งออกเป็น 5 กลีบ ที่กลีบปลายจะแหลมสั้น ๆ มีสีเขียว มีขนนุ่มสีเทาปกคลุมด้านนอกของกลีบดอกทั้งห้า มีเกสรตัวผู้เป็นจำนวนมากติดกันอยู่ที่โคนเป็นหลอดสั้น ๆ รังไข่จะอยู่เหนือส่วนอื่นของดอกทั้งหมด ผนังของรังไข่เป็นกลีบเรียงติดกันรอบ ๆ เป็นรูปทรงกลม[1],[2]
  • ผล มีลักษณะกลมเป็นกลีบเรียงติดกัน คล้ายกับฟันเฟืองข้าว มีกลีบประมาณ 15-20 กลีบ เส้นผ่านศูนย์มีขนาดกลางประมาณ 2 เซนติเมตรและหนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ภายนอกของผลจะมีขนสั้นปกคลุมอยู่ ชนิดนี้ผลจะมีลักษณะเป็นรูปตูม ไม่บานอ้าเหมือนกับชนิดอื่น
  • เมล็ด มีลักษณะคล้ายรูปไต มีขนสั้น ๆ ในเมล็ดจะมีไขมันอยู่ประมาณ 5% โดยมี Oleic acid 41.3%, Linoleic acid 26.67%, Linolenic acid 6.8%, Palmitic acid 5.08%, Stearic acid 11.17% และ Non-saponified matter ประมาณ 1.77% (เป็นพวก Sitosterol) กากเมล็ดจะประกอบไปด้วย Raffinose (C18 H32 O16)[1],[2]

สรรพคุณของครอบฟันสี

1. สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดในกระดูก โดยใช้ครอบฟันสีทั้ง 5 ส่วนมาต้มกินและนำมาใช้อาบ หรือนำมาประคบร่วมด้วย (ทั้งต้น)[3]
2. สามารถช่วยแก้อัมพาต แก้ลมเข้าข้อ ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8],[9]
3. สามารถใช้เป็นยาแก้ฝีบวมแดง แก้อีสุกอีใส (เมล็ด, ทั้งต้น)[11]
4. สามารถช่วยแก้ฝีฝักบัว โดยใช้เมล็ด 1 ช่อนำมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาชงกับน้ำสุกอุ่น ๆ ใช้ทาน และให้ใช้ใบสดมาตำผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำตาลแดงก็ได้ แล้วนำมาใช้พอกที่แผล (เมล็ด, ใบสด)[1]
5. สามารถช่วยรักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการใช้ครอบฟันสีทั้ง 5 ส่วนมาต้มกินและนำมาใช้อาบ หรือนำมาใช้ประคบร่วมด้วย (ทั้งต้น)[3] ในอินเดียใช้ดอกและใบ มาพอกรักษาฝีและแผลเรื้อรังต่าง ๆ (ดอก, ใบ)[2] ส่วนฟิลิปปินส์ใช้ใบมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลและแผลเรื้อรังชนิดต่าง ๆ (ใบ)[2] หรือใช้ใบผสมน้ำใช้ล้างก็ได้ (ใบ)[5],[6] และยังช่วยรักษาแผลพุพองและแผลเบาหวานได้ด้วย โดยจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ทำให้คอลลาเจนมาเกาะที่แผลมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการเรียงตัวและการเติบโตดีขึ้น[9]
6. สามารถช่วยแก้หกล้มแล้วเป็นบาดแผลได้ โดยใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม มาต้มกับขาหมู 2 ขา ผสมกับเหล้าเหลืองประมาณ 60 กรัม ต้มกับน้ำใช้ทาน (รากแห้ง)[1]
7. สามารถช่วยบำรุงไต รักษาโรคไตได้ (ราก)[8]
8. สามารถใช้เป็นยาแก้มุตกิดสตรี หรืออาการปัสสาวะขุ่น เสียวในมดลูก มีอาการตกขาวและมีกลิ่นเหม็นคาว และมีอาการปวดที่บริเวณชายกระเบนเหน็บ (ราก)[4],[5],[6],[10]
9. สามารถใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารได้ โดยใช้รากประมาณ 100-150 กรัม มาต้มเอาน้ำข้น ๆ ดื่มประมาณ 1 ถ้วยชา วันละ 1-3 ครั้ง ส่วนกากที่เหลือให้นำมาต้มเป็นน้ำยาแล้วอบที่ทวารให้พออุ่น ๆ และพอทนได้ ให้อบวันละประมาณ 5-6 ครั้ง และเอาน้ำอุ่น ๆ มาชะล้างแผล (ราก)[1],[11]
10. สามารถช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ทั้งต้น) ช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด เจ็บ ขุ่น ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปวดแสบเวลาขับปัสสาวะ หรือที่เรียกว่าโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ ด้วยการใช้ทั้งต้นสด 40-80 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[1],[8],[9][11] ใบหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ (ใบ, ทั้งต้น)[4],[5],[6] บ้างก็ว่าเปลือกนั้นมีเมือก ที่สามารถนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (เมือกจากเปลือก)[2] ในอินโดจีนจะใช้ดอกอ่อนและเมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ และหล่อลื่น (เมล็ด, ดอกอ่อน)[2],[11] ในอินเดียจะใช้ยาชงจากรากเป็นยาแก้อาการขัดเบาเป็นเลือด และระบุด้วยว่ารากและเปลือกนั้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี (ราก, เปลือก)[2]
11. สามารถช่วยขับพยาธิในท้องได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
12. สามารถช่วยแก้อาการท้องร่วงได้ (ทั้งต้น, ราก)[1]
13. สามารถใช้ดอกเป็นยาฟอกลำไส้ให้สะอาดได้ (ดอก)[5],[6],[10]
14. สามารถช่วยในการย่อยอาหารได้ (ต้น, ทั้งต้น)[4],[5],[6]
15. นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มช่วยขับลม (ต้น,ทั้งต้น)[1],[4],[5],[6],[10]
16. สามารถช่วยแก้อาการสะอึกได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
17. สามารถช่วยขับเสมหะได้ (เมล็ดแห้ง)[2]
18.รากเป็นยาเย็น จะมีรสหวานจืด สามารถใช้เป็นยารักษาอาการไอได้ (ราก)[1],[4],[5],[6],[10],[11]
19. สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ โดยใช้ครอบฟันสีทั้ง 5 ส่วนมาต้มกินและนำมาใช้อาบ (ทั้งต้น[3], ราก[4],[5],[6]) ช่วยลดไข้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
20. สามารถช่วยแก้เลือดร้อนได้ (ทั้งต้น)[1]
21. สามารถใช้เป็นยาแก้คอตีบได้ โดยใช้รากสดประมาณ 30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรืออาจเพิ่มรากว่านหางช้างสด 20 กรัม และรากหญ้าพันงูสด 20 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้าขาวดื่ม (รากสด)[1],[11]
22. นำใบมาขยี้ใช้อุดฟัน สามารถช่วยแก้อาการปวดฟัน แก้อาการเหงือกอักเสบได้ (ใบ)[5],[6]
23. สามารถช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบได้ (ราก)[1]
24. สามารถช่วยแก้อาการหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังได้ โดยใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ข้าวเหนียวปริมาณ 1 ถ้วย (หรือจะใช้เนื้อหมูไร้มันหรือเต้าหู้แทนข้าวเหนียว) ในปริมาณพอสมควร มาต้มกับน้ำดื่ม (รากแห้ง)[1]
25. สามารถช่วยแก้อาการหูหนวกได้ (ทั้งต้น, ราก)[1]
26. สามารถใช้เป็นยาแก้โรคลมบ้าหมูหรือโรคลมชักได้ โดยใช้ทั้งต้นรวมรากนำมาต้มกับน้ำปริมาณพอสมควรจนเดือด แล้วใช้ดื่มในขณะยังอุ่นทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ผู้ที่เพิ่งเป็นโรคดังกล่าวจะหายในเวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นนานเกิน 5 ปีแล้ว ต้องต้มดื่มติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1 ปีจึงจะหาย (ทั้งต้น)[6]
27. นำใบหรือทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้โรคเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือใช้ยอดสดยาว 1 คืบ จำนวน 15 ยอด มาต้มกับน้ำ 6 แก้วโอเลี้ยงจนเดือด ใช้ดื่มขณะยังอุ่นจนหมด ติดต่อกันประมาณ 2-3 อาทิตย์ บ้างก็ใช้ผลต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 8-9 ผลต่อน้ำ 2 ลิตร ถ้าน้ำตาลในเลือดลดลงแล้วให้ใช้เพียง 4-5 ผลต่อน้ำ 2 ลิตร ต้มดื่มต่างน้ำ จะสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ บ้างก็ว่าใช้ทั้ง 5 ส่วนของครอบฟันสีก็ใช้รักษาโรคเบาหวานได้ และผู้ที่เป็นแผลเปื่อยจากเบาหวานก็หายด้วย (ผล, ใบ, ทั้งต้น)[4],[5],[6],[9] และยังมีการทดลองเพื่อทดสอบฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากใบครอบฟันสี ด้วยการป้อนสารสกัดในขนาด 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวใช้เวลาดูดซึมประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงจะออกฤทธิ์[7]
28. สามารถช่วยบำรุงปอดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
29. นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ต้น, ทั้งต้น)[4],[5],[6],[10]
30. สามารถใช้รากเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกายได้ (ราก)[4],[5],[6],[10]
31. สามารถใช้รากเป็นยาบำรุงกำลังได้ (ราก)[4],[5],[6],[10] สามารถช่วยแก้อาการร่างกายอ่อนแอไม่มีกำลังได้ โดยใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม มาต้มกับขาหมู 2 ขา แล้วผสมกับเหล้าเหลืองประมาณ 60 กรัม ใช้ต้มกับน้ำดื่ม (รากแห้ง)[1]
32. สามารถช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ (เมล็ดแห้ง)[2]
33. สามารถช่วยแก้อาการข้อมือและข้อเท้าอักเสบ หรือเป็นแผลอักเสบที่ทำให้กล้ามเนื้อลีบได้ โดยใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม มาผสมกับน้ำและเหล้าอย่างละเท่ากัน แล้วใช้ตุ๋นทาน (รากแห้ง)[1]
34. สามารถใช้เป็นยาแก้อาการผดผื่นคันที่เกิดจากอาการภูมิแพ้ โดยใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 80 กรัม มาต้มกับเนื้อสันของหมูประมาณ 200 กรัม โดยต้มเป็นน้ำแกง ใช้ทานจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ (ทั้งต้นแห้ง)[1],[11]
35. นำใบมาตำใช้พอกบ่มหนองให้สุกไวและแตกเร็วขึ้น (ใบ)[5],[6],[10],[11]
36. สามารถช่วยรักษาโรคเรื้อนได้ (ทั้งต้น)[1]
37. ทั้งต้นสามารถใช้รักษาแผลบวมเป็นหนองได้(ทั้งต้น)[1]
38. เมล็ดสามารถใช้เป็นยาสมานแผลได้ (เมล็ด)[11]
39. สามารถช่วยรักษาโรคต่อมลูกหมากอักเสบได้ โดยใช้สมุนไพรครอบจักรวาล รางจืด ลูกใต้ใบ อย่างละเท่า ๆ กันมาต้มดื่ม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
40. สามารถช่วยขับระดูของสตรีได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
41. สามารถช่วยแก้อุจจาระกะปริบกะปรอยได้ (เมล็ด, ทั้งต้น)[11]
42. สามารถช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด บิดมูกขาวได้ โดยใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 3-5 กรัม มาผสมกับน้ำผึ้งใช้ทานก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง (เมล็ด)[1],[11]
43. ผงจากเมล็ดสามารถใช้ฆ่าพยาธิเส้นด้ายได้ โดยใช้ผงจากเมล็ดนำมาโปรยบนถ่านไฟ เอาควันมารมก้นเด็กที่เป็นพยาธิเส้นด้าย (เมล็ดแห้ง)[2]
44. สามารถช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้บิดได้ (ราก)[1]
45. เมล็ดแห้งสามารถใช้ทานประมาณ 3.5-7.5 กรัม ใช้เป็นยาระบายในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร (เมล็ดแห้ง)[2]
46. สามารถช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
47. สามารถช่วยแก้โรคเกี่ยวกับหลอดลมและน้ำดีได้ (ราก)[4],[5],[10] ช่วยแก้โรคลมและดีพิการ (ราก)[6]
48. สามารถช่วยละลายเสมหะได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
49. สามารถช่วยแก้หืดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
50. สามารถใช้รากเป็นยารักษาโรคไข้ผอมเหลือง (ราก)[4],[5],[6],[10]
51. ทั้งต้นจะมีรสหวานเป็นยาสุขุม จะออกฤทธิ์กับปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต ใช้เป็นยาแก้หวัด ไอแห้ง ไข้ตัวร้อนไม่ยอมลด ช่วยกระจายลมร้อน ขับลมชื้น (ทั้งต้น)[11]
52. รากจะมีรสจืด ชุ่ม เย็น ส่วนต้นมีรสชุ่มและสุขุม มีสรรพคุณเป็นยาช่วยแก้อาการร้อน ชื้น (ทั้งต้น, ราก)[1]
53. สามารถช่วยแก้อาการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ อาการไอ หลอดลมอักเสบได้ โดยนำรากมาทุบแล้วแช่กับน้ำส้มสายชูประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นนำมาอมจะทำให้อาการดีขึ้น และอีกวิธีแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ให้ใช้ทั้งต้นสด 40-80 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ทั้งต้น)[8],[9],[11]
54. สามารถช่วยแก้อาการรากฟันเน่าและเป็นหนองได้ โดยใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม มาผสมกับน้ำตาลแดงพอสมควร ใช้ต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้รากแห้งนำมาแช่กับน้ำส้มสายชูประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วใช้ผ้าห่อนำมาอมไว้ในปากบ่อย ๆ (รากแห้ง)[1]
55. สามารถช่วยรักษาคางทูมได้ (ทั้งต้น)[1]
56. สามารถช่วยแก้อาการปวดหู ลมออกหูได้ (ทั้งต้น)[8]
57. สามารถใช้เป็นยาแก้อาการหูอื้อได้ (ทั้งต้น)[1],[8],[11]
58. ทั้งต้นสามารถใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตได้ (ทั้งต้น)[8]
59. สามารถช่วยแก้โรคประสาทได้ (ทั้งต้น)[8]
60. สามารถช่วยฟอกโลหิตได้ (ทั้งต้น, ราก)[1] ช่วยขับโลหิตเสีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
61. สามารถช่วยทำให้เจริญอาหารได้ (ต้น[4],[5], ราก[5], ทั้งต้น[6])
62. ในอินโดจีนใช้ดอกอ่อนและเมล็ดเป็นยาบำรุง (เมล็ด, ดอกอ่อน)[2]

วิธีใช้และขนาดที่ใช้ : การใช้ตาม [1] ทั้งต้นและราก ให้เก็บช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว โดยตัดมาทั้งต้นแล้วล้างให้สะอาด เอามาตากให้แห้งแล้วเก็บไว้ใช้ ถ้าเป็นส่วนของราก ให้ใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม ถ้าใช้ภายในให้นำมาต้มกับน้ำดื่ม แต่ถ้าใช้ภายนอกให้นำรากมาตำแล้วพอกหรือต้มกับน้ำใช้ชะล้าง สำหรับในส่วนของทั้งต้น ให้ใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 30-60 กรัม ถ้าใช้ภายในให้นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ตุ๋นกับเนื้อไก่ทาน แต่ถ้านำมาใช้ภายนอกก็ให้นำมาตำแล้วใช้พอก ทั้งนี้ก็ให้ดูลักษณะของอาการประกอบด้วย[1] ส่วนการใช้ตาม [11] ต้นสดและรากให้ใช้ครั้งละ 40-80 กรัม ต้นแห้งใช้ครั้งละ 20-30 กรัม ส่วนการนำมาใช้ภายนอกนิยมใช้ต้นสดมาตำพอก เมล็ดแห้งนำมาบดให้เป็นผงใช้ครั้งละ 3-5 กรัมทาน[11]

ประโยชน์ของครอบฟันสี

1. ในฟิลิปปินส์มีการนำใบมาต้มเอาน้ำมาใช้สวนล้างช่องคลอด[2]
2. เปลือกต้นมีเส้นใยที่เหนียวและแข็งแรง สามารถใช้ทำเชือกได้ดี โดยทำใช้กันเอง ไม่มีการทำเป็นการค้า[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ครอบฟันสี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [20 ธ.ค. 2013].
2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 11 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ฟันสี“. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [20 ธ.ค. 2013].
3. หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ บันทึกของแผ่นดิน ๑: หญ้า ยา สมุนไพร ใกล้ตัว (สุภาภรณ์ ปิติพร).
4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “มะก่องข้าว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [20 ธ.ค. 2013].
5. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “มะก่องข้าว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.walai.msu.ac.th. [20 ธ.ค. 2013].
6. ไทยรัฐออนไลน์. “ครอบฟันสี แก้โรคลมบ้าหมู“. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [20 ธ.ค. 2013].
7. จุฬาสัมพันธ์ ฉบับที่ 43 (วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2552). “สารสกัดจากใบครอบฟันสีพัฒนาเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน“. (รศ.สพญ.ดร.ศิรินทร หยิบโชคอนันต์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.research.chula.ac.th. [20 ธ.ค. 2013].
8. จำรัส เซ็นนิล. “สมุนไพรครอบจักรวาล“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [20 ธ.ค. 2013].
9. “ใบความรู้เรื่องครอบฟันสี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: api.ning.com/files/M9hL–WJJPRB13WbJDEQZzube9lpVbp9G7APhYxlt6JvosH9Aqh2Rz-TfRW90uXgPNFHpSzMjrR3AZyuvtdsVSYgmtFClRnb/2.docx. [20 ธ.ค. 2013].
10. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ครอบจักรวาฬ, ครอบตลับ, ครอบฟันสี”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 164-167.
11. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ครอบตลับ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 152.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com
2. https://www.flickr.com