บุนนาค
บุนนาค เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา อินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย และสิงคโปร์ มักจะพบได้มากในป่าดิบชื้น ตามลำธารหรือริมห้วย สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เป็นดอกที่มีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อนสวยงาม แถมยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ในปัจจุบันจึงมีการนำมาเพาะปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้นยังเป็นไม้มงคลที่เชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตรด้วย ส่วนของดอกมีน้ำมันหอมระเหยที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการให้ความหอมและแต่งกลิ่นต่าง ๆ
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบุนนาค
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesua ferrea L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Iron wood” “Indian rose chestnut”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “นาคบุตร นากบุต รากบุค” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “สารภีดอย” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ก๊าก่อ ก้ำก่อ” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ปะนาคอ ประนาคอ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ต้นนาค”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ CALOPHYLLACEAE
ลักษณะของบุนนาค
ต้น : ลักษณะเป็นทรงยอดพุ่มทึบและแคบ มีทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ต่ำ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกและหลุดร่วงได้ง่าย ที่เปลือกชั้นในจะมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนในเนื้อไม้จะมีสีแดงคล้ำเป็นมันเลื่อม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะปราง โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุมอยู่ ใบอ่อนมีสีชมพูออกแดง ส่วนใบแก่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีเทา มีเส้นใบข้างมากแต่เห็นไม่ชัด ใบห้อยลงเป็นพู่
ดอก : ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หัวกลับ ปลายบานและเว้า โคนสอบ ปลายกลีบย่นเล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มกลีบจะแผ่กว้างออก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกจะห้อยลง มีเกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน เป็นสีเหลืองส้มและเป็นฝอย ส่วนอับเรณูเป็นสีส้ม ก้านเกสรตัวเมียมีสีขาว มีรังไข่ 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คล้ายรูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง และแยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม กลีบเลี้ยงจะแข็งหนาและอยู่คงทน ดอกมีกลิ่นหอมเย็น มักจะออกดอกในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลแข็งมาก ส่วนปลายโค้งแหลมและไม่แตก เปลือกผลมีรอยด่างสีน้ำตาล ผลมีสีส้มแก่หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยห่อหุ้มอยู่ และมีหยดยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับอยู่ 4 กลีบติดอยู่ และจะขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล ภายในผลมีเมล็ด 1 – 4 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีลักษณะแบนและแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม
สรรพคุณของบุนนาค
- สรรพคุณจากดอก รากและแก่น ช่วยชูกำลัง รักษาอาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยแก้ไข้สำประชวร ช่วยแก้รัตตะปิตตะโรค แก้เลือดกำเดาไหล ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยแก้กลิ่นเหม็นสาบในร่างกาย
- สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้กระหาย แก้ร้อน แก้อาการกระสับกระส่าย ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ช่วยแก้ไข้ เป็นยารักษาไข้กาฬ ช่วยแก้เสมหะในลำคอ แก้ลมหาวเรอ แก้ลมที่ทำให้หูอื้อ แก้ตามัว ช่วยแก้ลมกองละเอียดที่ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ แก้หน้ามืดตาลาย แก้ใจสั่น แก้ใจหวิว ช่วยแก้อาการร้อนในกระสับกระส่าย แก้อาเจียน ช่วยรักษาบาดแผลสด แก้แผลสด ใช้พอกบาดแผลสด เป็นยาฝาดสมาน ช่วยแก้พิษงู ช่วยบำรุงผิวกายให้สดชื่น ช่วยคุมกำเนิด แก้ร้อนในกระสับกระส่าย บำรุงครรภ์สตรี บำรุงโลหิต แก้ไอ เป็นยาพอกรักษาริดสีดวง
- สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้เสมหะในลำคอ ช่วยรักษาบาดแผลสด แก้แผลสด ใช้พอกบาดแผลสด ช่วยแก้พิษงู ช่วยคุมกำเนิด
– แก้ไข้หวัดอย่างแรง ด้วยการนำใบมาตำผสมรวมกับน้ำนมและน้ำมันมะพร้าวใช้สุมหัวเป็นยาพอก - สรรพคุณจากผล ช่วยขับเหงื่อ เป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นยาฝาดสมาน
- สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยฟอกน้ำเหลือง กระจายน้ำเหลือง ช่วยกระจายหนอง เป็นยาฝาดสมาน ช่วยแก้อาการฟกช้ำ ช่วยแก้พิษงู
– ช่วยขับเหงื่อ ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มรวมกับขิงกิน - สรรพคุณจากแก่น ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- สรรพคุณจากเนื้อไม้ ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- สรรพคุณจากกระพี้ ช่วยแก้เสมหะในลำคอ แก้อาการสะอึก
- สรรพคุณจากน้ำมันจากเมล็ด เป็นยาทาช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้คิด แก้แผลเล็กน้อย เป็นยานวดช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
- สรรพคุณจากน้ำมันจากดอก ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
- สรรพคุณจากเมล็ด รักษาบาดแผล
- สรรพคุณจากเกสร เป็นยาฝาดสมาน ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น แก้ไข้ ช่วยขับลม บำรุงครรภ์
ประโยชน์ของบุนนาค
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาใช้เป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก หรือนำมายำหรือแกงได้
2. เป็นไม้ปลูกประดับ ปลูกประดับอาคารสถานที่กันอย่างแพร่หลาย
3. ใช้เป็นวัตถุดิบ นำมาทำฐานรองพานดอกไม้ไหว้พระ ถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวไทใหญ่ เป็นไม้เนื้อแข็งที่ใช้ทำหมอนรถไฟ สิ่งก่อสร้างบ้านเรือนได้
4. เป็นน้ำมันหอมระเหย ดอกนำมาใช้กลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหยและใช้ในการอบเครื่องหอม ใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ เปลือกลำต้นนำมาบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูป เมล็ดมีน้ำมันที่กลั่นใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่าง ๆ และนำมาใช้จุดตะเกียงให้กลิ่นหอม
5. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร เป็นยาไทยสูตร “พิกัดเกสร” ใช้เข้ายาหอม
ข้อควรระวังของบุนนาค
กรดในน้ำมันจากเมล็ดมีพิษต่อหัวใจ
บุนนาค เป็นชื่อมงคลที่มักจะมีในนามสกุลของผู้ดีในประเทศไทย เป็นต้นที่มีประโยชน์ได้หลากหลายด้าน ส่วนของดอกอุดมไปด้วยสรรพคุณ และยังมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำมาใช้ในด้านความหอมได้ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยฟอกน้ำเหลือง ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยแก้กระหาย ช่วยบำรุงหัวใจ และแก้เสมหะในลำคอได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, พจนานุกรมสมุนไพรไทย ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://efloraofindia.com