เขยตาย
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนก ผลสดทรงกลมขนาดเล็กสีชมพูใสฉ่ำน้ำ มีรสหวาน

เขยตาย

เขยตาย (Khoei Tai) เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นมีขนาดที่เล็ก ซึ่งที่มาของพืชชนิดนี้มีตำนานเล่าว่า ลูกเขยกับแม่ยายไปทำไร่บนภูเขา ขากลับลูกเขยถูกงูกัดตาย แม่ยายจึงตัดต้นไม้มาคลุมร่างเอาไว้กันอุจาด จากนั้นจึงไปตามคนในหมู่บ้าน แต่เมื่อกลับไปที่เกิดเหตุก็พบว่าลูกเขยฟื้นขึ้นมาแล้ว เนื่องจากต้นไม้ที่แม่ยายชักปรกไว้นั้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Glycosmis arborea (Roxb.) DC. ชื่อวงศ์ RUTACEAE
มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มชื่น ศรีชมชื่น น้ำข้าวต้น พิษนาคราช พุทธรักษา (สุโขทัย), ประยงค์ใหญ่ (กรุงเทพฯ), กระรอกน้ำ กระรอกน้ำข้าว (ชลบุรี), มันหมู (ประจวบคีรีขันธ์), เขนทะ ส้มชื่น (ภาคเหนือ), ส้มชื่น (ภาคอีสาน), กระโรกน้ำข้าว เขยตายแม่ยายชักลาก ลูกเขยตาย น้ำข้าว (ภาคกลาง), เขยตายแม่ยายชักปรก ลูกเขยตาย ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ ต้มชมชื่น น้ำข้าว โรคน้ำเข้า หญ้ายาง (ภาคใต้), ชมชื่น เขยตายแม่ยายปรก ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ ตาระเป (บางภาคเรียก), ต้นเขยตาย (ตามตำรายาเรียก) เป็นต้น

ลักษณะของเขยตาย

  • ต้นเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นมีขนาดที่เล็ก สูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้นเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว ใบออกดกทึบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ เป็นพืชในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย พบได้ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน สุมาตราและชวา ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ตามชายป่าและหมู่บ้าน
  • ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับตรงข้ามกันหรือกึ่งตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมถึงกลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบนั้นจะเรียบหรือมีรอยจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ผิวใบทั้งสองด้านมีจุดต่อม หลังใบเรียบและลื่นมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบก็เรียบเช่นกันแต่สีอ่อนกว่า ใบที่อยู่ด้านบน ๆ ฐานจะมีสีแดง
  • ดอกออกเป็นช่อเชิงลดแยกแขนงหรือออกดอกเป็นกระจุกประมาณ 12-15 ดอก มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีขนาดเล็ก ดอกมีสีขาว ส่งกลิ่นหอม โดยดอกนั้นจะออกไปตามซอกใบและที่ปลายของกิ่ง กลีบดอกเป็นสีขาว มีกลีบทั้งสิ้น 5 กลีบ ขนาด 4-5 x 2-2.5 มิลลิเมตร เรียงกลีบซ้อนกันเป็นวง ผิวมีต่อมจุด กลีบมีลักษณะรูปไข่กลับ ส่วนกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายจะแยกออกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เป็นรูปแหลมกึ่งรูปไข่ มีขนอ่อน ๆ ที่ส่วนปลาย มีใบประดับหุ้มไว้ ชั้นบนจะมี 5 กลีบใหญ่ และมีส่วนย่อยเล็ก ๆ อีกเป็นหลายอัน มีต่อมซึ่งเป็นร่อง ส่วนก้านชูดอกมีขนาดที่สั้นมาก เกสรเพศเมียออกเรียงรูปเป็นวง ตรงกลางแกนดอกมีเกสรเพศผู้เป็นแท่ง รังไข่มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร เป็นรูปไข่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
  • ผลเป็นรูปทรงกลมมีขนาดที่เล็ก โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.18 เซนติเมตร ปลายผลนั้นแหลม ผิวเรียบ ผลตอนอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูใส มีความดูฉ่ำน้ำ และมีรสชาติหวาน มีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม สีดำ และเป็นลาย ติดผลในช่วงเดือนมีนาคม

สรรพคุณของเขยตาย

1. ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด สามารถแก้เบาหวานได้ (ใบ)[5]
2. ดอกและผลนั้นมีรสเมาร้อน เป็นยาแก้หิดได้ (ดอกและผล)[1],[2],[4]
3. ส่วนรากมีรสเมาขื่นปร่า เป็นยาแก้ไข้กาฬ ไข้รากสาด และยาลดไข้ได้ (ราก)[1],[2],[4]
4. ใบนำเอามาบดผสมกับขิง ใช้รักษาผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มพุพอง หรือคันอักเสบได้ (ใบ)[4]
5. รากและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ หรือแก้ไข้ได้ (ราก, ใบ)[7]
6. เปลือกต้น เนื้อไม้ และราก มีสรรพคุณเป็นยาขับน้ำนม (เนื้อไม้, เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[4]
7. รากและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคบิด ท้องเดิน (ราก, ใบ)[7]
8. ในบังกลาเทศจะนำน้ำคั้นที่ได้จากใบไปผสมกับน้ำตาล ใช้กินตอนท้องว่างเพื่อถ่ายพยาธิตัวกลม และสามารถแก้ไข้ได้ (ใบ)[4]
9. น้ำคั้นที่ได้จากใบนำไปผสมกับน้ำตาลกินตอนท้องว่างเป็นยาแก้โรคตับ (ใบ)[4]
10. เปลือกต้นนั้นมีรสเมาร้อน เป็นยาแก้ฝีได้ทั้งภายนอกและภายใน (เนื้อไม้, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4]
11. รากนำมาฝนแล้วนำไปทาแก้โรคผิวหนังพุพอง และใช้ทาแผลที่อักเสบ (ราก)[1],[2],[4]
12. ใบเอามาขยี้หรือบดผสมกับพวกแอลกอฮอล์ เช่น เหล้าขาว หรือน้ำมะนาว เป็นยาทารักษางูสวัด เริม ไฟลามทุ่ง ขยุ้มตีนหมา และลมพิษ (ใบ)[9]
13. ตำรายาไทยเขียนไว้ว่า รากเป็นยาแก้ฝีที่นม ตัดรากฝีที่นม เกลื่อนฝีให้ยุบ และสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิดได้ (ราก)[4]
14. ส่วนของรากนั้นเป็นยากระทุ้งพิษ แก้พิษฝีทั้งภายในและภายนอก นำมาฝนกับน้ำกินและทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู (จากงูพิษที่พิษไม่รุนแรง) พิษตะขาบกัด พิษปลาดุกแทง ปลาแขยงปักมือ ฯลฯ หรือจะนำเอารากมาตำบีบน้ำมะนาวใส่หรือเหล้าพอกทิ้งไว้สักครู่ก็ได้ อาการก็จะหายไป (ราก)[1],[2],[4] หรือจะใช้ส่วนของเปลือกต้นเป็นยากระทุ้งพิษ แก้พิษงู แก้พิษต่าง ๆ แก้พิษไข้ ก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น)[3],[4]

ประโยชน์ของเขยตาย

1. ผลเมื่อสุกมีรสชาติที่หวานนำมารับประทานได้ แต่มีกลิ่นที่ฉุน[5],[7]
2. เนื้อไม้สามารถใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตรได้[7]
3. ส่วนของใบใช้เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อ[8]

ข้อควรระวัง : ยางจากทุกส่วนของลำต้นมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน เกิดอาการเพ้อคลั่ง จนสามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเขยตาย

1. ดอกมีสารอัลคาลอยด์ arborine, arbornine, glycorine, glycophymine, glycophymoline, glycosmicine, glycomide, skimmianine[4]
2. ใบมีสารอัลคาลอยด์ arborine, arborinine, glycosine, glycosminine, glycosamine, glycorine, glycosmicine , gamma-fagarine สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน เช่น arbinol, arborinone, isoarbinol สารสเตียรอยด์ β-sitosterol, stigmasterol[4]
3. รากมีสารอัลคาลอย์ carbazole alkaloids ได้แก่ glycozolicine, 3-formylcarbazole, glycosinine, glycozoline, glycozolidine, gamma-fagarine, dictamine, skimmianine[4]
4. ลำต้นนั้นมีสารอัลคาลอยด์ arborinine เป็นหลัก และอัลคาลอยด์อื่นๆ[4]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เขยตาย (Khoei Tai)”. หน้า 69.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “เขยตาย”. หน้า 98.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เขยตาย”. หน้า 152-153.
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เขยตาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [27 ม.ค. 2015].
5. อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 28 ประจำเดือน มีนาคม 2548. (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร). “เก็บป่ามาฝากเมือง”. หน้า 2.
6. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
7. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เขยตาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [27 ม.ค. 2015].
8. พันธุ์ไม้สวนพืชอาหารแมลง, ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1. “ชื่อพืชอาหารต้นส้มชื่น (เขยตาย)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/FOREMIC/. [27 ม.ค. 2015].
9. จำรัส เซ็นนิล. “เขยตายแม่ยายปรก “สมุนไพรถอนพิษ เริม-งูสวัด-ไฟลามทุ่ง-ขยุ้มตีนหมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.jamrat.net. [27 ม.ค. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://tropical.theferns.info/image.php?id=Glycosmis+parviflora
2. http://www.fpcn.net/a/guanmu/20131108/Glycosmis_parviflora.html