ต้นสังวาลย์พระอินทร์ สรรพคุณช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด

0
1405
ต้นสังวาลย์พระอินทร์ สรรพคุณช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ไม้เถาเลื้อยกึ่งกาฝาก ยอดอ่อนของเถามีขนสีเหลืองนุ่ม ใบเล็กมาก ดอกเป็นช่อสีขาว ผลมีสีเขียวและมีขนาดที่เล็กมาก เนื้อนิ่ม
สังวาลย์พระอินทร์
ไม้เถาเลื้อยกึ่งกาฝาก ยอดอ่อนของเถามีขนสีเหลืองนุ่ม ใบเล็กมาก ดอกเป็นช่อสีขาว ผลมีสีเขียวและมีขนาดที่เล็กมาก เนื้อนิ่ม

สังวาลย์พระอินทร์

ชื่อสามัญ Love Vine [1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassytha filiformis L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์อบเชย (LAURACEAE)[2],[3] ชื่ออื่น ๆ บ่อเอี่ยงติ้ง (ภาษาจีนแต้จิ๋ว), อู๋เกินเถิง อู๋เย่เถิง (ภาษาจีนกลาง), เซาะเบียง (ภาษาเขมร), ช้องนางคลี่ (ในภาคใต้), เขืองคำโคก (จังหวัดเลย), สังวาลย์พระอินทร์ (จังหวัดนครราชสีมา), ผักปลัว (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), ต้นตายปลายเป็น รังนกกระสา (จังหวัดจันทบุรี), เขียงคำ เขียวคำ (จังหวัดอุบลราชธานี), รังกาสา, วัวพันหลัก, เครือเขาคำ เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นสังวาลย์พระอินทร์

  • ต้น
    – จัดให้เป็นพันธุ์ไม้ประเภทเถาเลื้อยกึ่งกาฝาก ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบความชื้นบ้าง[1],[2]
    – ลักษณะคล้ายกับต้นฝอยทอง ลำต้นจะเป็นเถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ
    – ลักษณะของลำต้นหรือลำเถามีลักษณะรูปร่างเป็นเส้นกลมยาว มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีสีเป็นสีเขียว สีเขียวออกเทา หรือเขียวอมเหลือง
    – บริเวณยอดอ่อนของเถามีขนสีเหลืองนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ และบริเวณตรงกลางหรือโคนของลำเถาจะไม่มีขนขึ้นปกคลุมหรืออาจมีขนขึ้นปกคลุมบ้างเล็กน้อยเป็นประปราย
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
  • ใบ
    – ใบมีลักษณะรูปร่างเป็นเกล็ดรูปสามเหลี่ยม[1],[2]
    – ใบมีขนาดใบที่เล็กมาก หรือแทบจะไม่มีใบเลย
  • ดอก
    – ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อ
    – ก้านช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-5 เซนติเมตร
    – ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อยอยู่ 6 ดอก โดยดอกย่อยจะไม่มีก้านดอก ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว มีกลีบดอก 6 กลีบ และกลีบดอกมีรูปร่างกลมมนเป็นรูปไข่
    – ซึ่งกลีบดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกของดอกมีกลีบอยู่ 3 กลีบ ส่วนชั้นในดอกมีกลีบอยู่ 3 กลีบ และกลีบดอกชั้นในจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าชั้นนอก โดยมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิเมตร
    – ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีสีเป็นสีเขียวและมีขนาดที่เล็ก
    – ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 9 อัน และมีเกสรเพศเมียอยู่ 1 อัน โดยจะออกเกสรเรียงตามชั้นของขอบกลีบดอก[1],[2]
  • ผล
    – ผลจะพบได้ที่บริเวณใกล้กับดอก
    – ผลมีสีเขียวและมีขนาดที่เล็กมาก โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 7 มิลลิเมตร (หรือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว)
    – ลักษณะรูปร่างของผลจะเป็นรูปทรงกลม ภายในผลจะมีเนื้อนิ่ม ๆ อยู่ภายใน
    – ผลมีเมล็ดรูปทรงกลมอยู่ 1 เมล็ด[1],[2]

สรรพคุณของต้นสังวาลย์พระอินทร์

1. ต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาไข้หวัด และบรรเทาอาการตัวร้อน (ต้น)[1],[2]
2. ต้นมีฤทธิ์ต่อตับและไต โดยจะมีสรรพคุณเป็นยาขับความชื้นในร่างกาย แก้พิษในเลือด และทำให้เลือดเย็น (ต้น)[1],[2]
3. นำต้นสด เหล้า และเนื้อในหมู ในปริมาณอย่างละเท่า ๆ กันมาตุ๋นทำเป็นยา ใช้สำหรับรับประทานเป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล หากมีอาการเลือดกำเดาออกบ่อย ๆ (ต้น)[1],[2]
4. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาในการช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด และไอร้อนในปอดได้ (ต้น)[1],[2]
5. ใช้ต้นสดในปริมาณประมาณ 15-30 กรัม นำมาตุ๋นกับเต้าหู้ 2 ชิ้น ทานเป็นยาสำหรับใช้แก้เด็กเป็นดีซ่าน (ต้น)[1]
6. ใช้ต้นสดในปริมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม โดยจะมีสรรพคุณในการช่วยแก้บิดมูก (ต้น)[1]
7. ตำรับยาการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ ระบุไว้ว่า ใช้ต้นสดปริมาณ 60 กรัม, ต้นบักทงปริมาณ 12 กรัม, ต้นเต็งซิมเช่าปริมาณ 12 กรัม และเปลือกรากเกากี่ไฉ่ปริมาณ 12 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม โดยจะออกฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รักษาอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ต้น)[1],[2]
8. ใช้ต้นสด ต้นหญ้าไผ่หยอง และสมุนไพรฉั่งกีอึ๊ง ในปริมาณอย่างละ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้ไตอักเสบเรื้อรัง (ต้น)[1]
9. ใช้ต้นสดในปริมาณ 120 กรัม นำมาต้มกับน้ำตาลทรายแดงทานเป็นยา แก้อาการตกเลือด (ต้น)[1]
10. ต้นสดนำมาตำและใช้พอกรักษาแผลหกล้มที่มีอาการเลือดออกได้ (ต้น)[1]
11. ต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำมาใช้ชะล้างร่างกายในบริเวณที่มีโรค หากเป็นโรคผิวหนังผดผื่นคัน และสูตรยาสมุนไพรนี้ยังสามารถนำมาใช้แก้ฝีหนองอักเสบได้อีกด้วย (ต้น)[1],[2]
12. ต้นสดนำมาผิงไฟให้แห้ง จากนั้นนำมาบดให้เป็นผงแล้วนำไปผสมกับน้ำมันพืชใช้สำหรับทาในบริเวณที่มีอาการ จะมีฤทธิ์ในการรักษาแผลไฟไหม้ และแผลจากการโดนน้ำร้อนลวกได้ (ต้น)[1]
13. ต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้สำหรับชะล้างรักษาแผลเน่าเปื่อยเรื้อรังได้ (ต้น)[1]

ขนาดและวิธีใช้

1. ยาใช้ภายนอก ให้ใช้ต้นสด ๆ มาตำจากนั้นนำมาพอกบริเวณที่เป็นแผลหรือจะต้มเอาแต่น้ำมาล้างแผลก็สามารถทำได้เช่นกัน[2]
2. ยาแห้งนำมาใช้ครั้งละ 10-15 กรัม โดยให้นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม
3. ยาสดนำมาใช้ครั้งละ 30-60 กรัม โดยให้นำมาตำจากนั้นนำมาคั้นเอาแต่น้ำหรือจะมานำต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มก็ได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการใช้

1. เนื่องจากสมุนไพรนี้มีความเป็นพิษอยู่ จึงไม่ควรนำมาใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะจะส่งผลทำให้เกิดอาการชักได้[2]
2. สตรีที่มีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้[1],[2]
3. หากขึ้นพาดพันกับต้นไม้ชนิดที่มีพิษ ตัวอย่างเช่น ยี่โถ ลำโพง ฯลฯ จึงไม่ควรนำมาใช้ปรุงเป็นยาอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายต่อร่างกายได้[1]

ประโยชน์ของต้นสังวาลย์พระอินทร์

  • นำทั้งต้นมาตำผสมกับน้ำปูนใสสำหรับให้สัตว์จำพวกโคและกระบือกิน โดยทั้งต้นนี้มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิสำหรับโคและกระบือได้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. สารอัลคาลอยด์ที่สกัด จากผลการทดลองถ้านำมาใช้ในปริมาณมาก ๆ จะทำให้สัตว์ทดลองมีอาการชักจนถึงตายได้ แต่ถ้าใช้ในปริมาณน้อย ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของสัตว์ทดลองมีอาการเส้นเอ็นเป็นตะคริว[1],[2],[3]
2. ทั้งต้นจะพบสารอัลคาลอยด์ได้หลากหลายชนิด ได้แก่ cassiline, cassythidine, cassyfilline (cassythine), dulcitol, galactitol, laurotetanine, launobine, tannins เป็นต้น[1],[2]

3. สารสกัดจากต้น มีฤทธิ์ในกดประสาทส่วนกลาง กดการหายใจ นำมาเป็นยาขับปัสสาวะ ยาลดไข้ และลดความดันโลหิต[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สังวาลพระอินทร์”.  หน้า 771-772.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สังวาลพระอินทร์”.  หน้า 548.
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สังวาลพระอินทร์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [11 ต.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/
2.https://alchetron.com/