สำรอง
พืชสมุนไพรแผนโบราณแก้ปวดฟัน รูปร่างคล้ายเรือหรือรูปกระสวย แก่แล้วผลจะแตก ผลมีรสจืดสีขุ่นเล็กน้อย

สำรอง

สำรอง มีชื่อสามัญ คือ Malva nut เป็นพรรณไม้ที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรแผนโบราณถือว่าหายาก ผลเปลือกสีน้ำตาลอมเทาเปลือกนอกมันวาวใช้ในตำรายาแพทย์แผนจีนมีสรรพคุณแก้เจ็บคอ แก้พิษ ลดอาการไอแห้งๆ พบขึ้นตามป่าฝนเขตร้อนที่มีการระบายน้ำดี เช่น ป่าเต็งรัง ป่าพรุ ป่าดิบชื้น ป่าดิบชื้น ตามไหล่เขา และสันเขา และมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Scaphium scaphigerum (Wall. ex G. Don) G.Planch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sterculia scaphigera Wall. ex G. Don)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaphium macropodum (Miq.) Beumée ex K.Heyne (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Carpophyllum macropodum Miq., Sterculia macropoda (Miq.) Hook. ex Kloppenb.)[1] โดยจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
นอกจากนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า จอง หมากจอง (อุบลราชธานี), บักจอง หมากจอง (ภาคอีสาน), ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย, ฮวงไต้ไฮ้ (จีน), พ่างต้าห่าย (จีนกลาง) เป็นต้น ส่วนในจังหวัดจันทบุรี ตราด และทั่วไปจะเรียก “สำรอง”[1],[2],[4],[5],[6],[9]

สาเหตุที่เรียกสมุนไพรชนิดว่า “พุงทะลาย” เพราะในปัจจุบันนั้นมีผู้นำไปรับประทานเพื่อลดความอ้วน เนื่องจากสามารถพองตัวได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าจะช่วยกำจัดไขมันออกจากร่างกายได้ โดยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วขับถ่ายออกมา เชื่อว่ารับประทานเป็นประจำแล้วจะช่วยลดพุงได้ด้วยการรับประทานก่อนเข้านอนเพื่อจะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า จึงเป็นที่มาของเชื่อ “พุงทะลาย” นั่นเอง[7]

ลักษณะของต้นสำรอง

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่มีความสูงประมาณ 30-40 เมตร และอาจจะสูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นมีลักษณะที่ตั้งตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านออกไปรอบต้น เรียงกันเป็นชั้นๆ ลำต้นเป็นสีเทาดำ เปลือกต้นมีความหยาบ มีเส้นเป็นร่องตามแนวดิ่ง จะพบได้ตามป่าดิบเขาที่มีฝนตกชุกและมีแสงแดดส่องถึง และจะพบได้มากในจังหวัดจันทบุรี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธุ์ได้[1],[2],[5]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับกัน มีลักษณะที่หลากหลายรูปร่าง เช่น รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปคล้ายรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อยคล้ายกับรูปหัวใจ และใบมีรูปร่างเป็นแฉกเว้าลึกประมาณ 2-5 แฉก ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบนั้นจะมีความยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนมักเป็นหยักประมาณ 3-5 หยักและมีก้านใบยาวมาก[1],[2]
  • ดอก จะออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ โดยจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ๆ กลีบดอกเป็นแฉกคล้ายกับรูปดาว มีความยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร กลีบดอกปลายแหลม เป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยงนั้นจะมีลักษณะคล้ายทรงกระบอก มีขนสีแดงปกคลุมอยู่ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 10-15 ก้าน และมีเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[1],[2],[6]
  • ผล จะออกตามปลายกิ่ง กิ่งหนึ่งก็จะมีผลอยู่ประมาณ 1-5 ผล ลักษณะจะรูปร่างคล้ายเรือหรือรูปกระสวย เมื่อแก่แล้วผลจะแตกออก ผลมีความกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร
  • เมล็ดมีลักษณะกลมรีเล็กน้อย ลักษณะคล้ายกับลูกสมอ แต่ถ้าผลแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล ผิวเหี่ยวย่น แห้ง และขรุขระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตรและมีความยาวประมาณ 18-25 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดก็จะเปลี่ยนเป็นรูปมนรี มีเยื่อหุ้มอยู่ ซึ่งเป็นสารเมือกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาแช่ในน้ำจะพองตัวออกและขยายตัวเป็นวุ้นคล้ายกับเยลลี่สีน้ำตาล สามารถรับประทานได้ โดยผลจะเริ่มแก่และร่วงในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอกจะมีสารเมือก (Mucilage) ที่สามารถพองตัวได้ดีในน้ำ เพราะมีความสามารถในการดูดซับน้ำถึง 40-45 มิลลิลิตรต่อกรัม ทำให้เกิดเป็นเจล (Gel) หรือเป็นวุ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยความร้อน[1],[2],[5],[6]

สรรพคุณของสำรอง

1. ผล ช่วยแก้พิษ [2]
2. ผล แก้ตาแดง [2]
3. ผล ช่วยแก้โลหิตกำเดา[2]
4. ผล ช่วยแก้อาการปวดฟัน [2]
5. ผลแห้ง นำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ[1]
6. ผล ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด [2]
7. ผล ช่วยแก้ริดสีดวงทวารมีเลือด [2]
8. ผล มีรสจืด ขุ่นเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น [2]
9. ผล ช่วยแก้อาการแสบร้อนอวัยวะภายในร่างกายหรือธาตุไฟแทรกซึมอยู่ในกระบังลมทั้งสาม (ผล)[2]
10. ผล ช่วยแก้เจ็บคอ แก้ไข้ ด้วยการใช้ลูกประมาณ 10-20 ลูก นำมาต้มกับชะเอมจีนให้พอหวานจนได้น้ำยาที่เข้มข้น นำมาใช้จิบบ่อยๆ จะช่วยแก้ไข้เจ็บคอได้เป็นอย่างดี (ผล)[11]
11. ผล ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการไอแห้ง คันคอ คอเจ็บไม่มีเสียง ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 3-10 กรัม (หรือประมาณ 3-5 ผล) นำมาแช่กับน้ำพอสมควรจนพองเป็นวุ้น แล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลกรวดลงไป ใช้รับประทานทั้งเนื้อและน้ำ วันละ 3 ครั้ง[1],[2]
12. เมล็ด ช่วยลดการดูดซึมไขมัน [1]
13. เมล็ด ใช้เป็นยารักษาโรคคออักเสบ [6]
14. เมล็ด ช่วยแก้โรคตาแดงอักเสบ [1]
15. เมล็ด ก็ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกัน [1]
16. ผลและเมล็ด ช่วยแก้ธาตุพิการ [5]
17. ผลและเมล็ด ช่วยแก้ตานขโมยในเด็ก [5]
18. ผลและเมล็ด ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดอาการท้องผูก [2],[6]
19. ผลและเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาระบาย [5]
20. เปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว (มีรสจืดเย็น) นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดงหรือชะเอมเทศ ใช้รับประทานแก้อาการร้อนในกระหายน้ำก็ได้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ [1],[3]
21. วุ้นใสที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด ใช้พอกตา แก้ตาอักเสบบวมแดง ปอดบวม โดยวุ้นเป็นยาเย็น ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุอ่อน ๆ จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการตาอักเสบได้ วิธีการก็คือให้นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่มชื้น แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บตา ตาอักเสบอย่างได้ผล (เปลือกหุ้มเมล็ด)[1],[11]
22. ใบ, ผลและเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม [5] ช่วยแก้อาการท้องเสีย[5]
23. วุ้น ช่วยรักษาโรคหอบหืด (วุ้น)[7]
24. เปลือกต้น ใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)[5]
25. ใบ ใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ใบ)[5]
26. แก่นต้น ช่วยแก้กามโรค [5]
27. แก่นต้น ช่วยแก้โรคเรื้อน [5]
28. ราก ช่วยแก้พยาธิผิวหนัง [5]
29. ราก มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก)[5]
30. ในประเทศอินเดียมีรายงานการใช้สมุนไพรสำรองเพื่อการรักษาอาการอักเสบ แก้ไข้ และขับเสมหะ ส่วนในประเทศจีนจะใช้สำรองร่วมกับชะเอมนำมาจิบบ่อยๆ เพื่อช่วยแก้อาการเจ็บคอ ลดอาการปวด และบำรุงไต[7]
หมายเหตุ : การใช้ผลตาม ให้ใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงกับน้ำเป็นชาดื่ม[2]

ประโยชน์ของสำรอง

1. นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำรองที่อยู่ในรูปของแคปซูลอีกด้วย โดยมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงตับ และเป็นยาแก้ร้อนใน[12]
2. ลูกสำรองเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจสุขภาพและรูปร่าง เนื่องจากวุ้นจากเนื้อของผลแก่ “มีส่วน” ช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะมีเส้นใยอาหารมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว ส่งผลให้รับประทานอาหารอื่นๆ ได้น้อยลง
3. วุ้นยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล สารต่างๆ (รวมถึงสารที่มีประโยชน์อื่นๆ อย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่ไปด้วย) มันจึงมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง และช่วยลดอาการท้องผูกได้ (เพราะเนื้อวุ้นจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยเพิ่มปริมาณของใยอาหาร ทำให้มีการบีบรูดของลำไส้เพื่อขับเป็นอุจจาระได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่อง)
4. ช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตได้อีกด้วย โดยให้รับประทานในช่วงก่อนนอน จะช่วยในการขับถ่ายตอนเช้า กากใยที่รับประทานเข้าไปจะไปช่วยชะล้างไขมันที่สะสมอยู่ในลำไส้ ทำให้ลำไส้ใหญ่สะอาดขึ้น ช่วยลดสารพิษตกค้าง แต่หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ พลอยทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา จุดนี้ก็ขอให้ตระหนักไว้[10],[11]
5. เมื่อนำผลมาแช่ในน้ำ เนื้อบางๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่จะดูดน้ำและพองตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น เมื่อนำมาแยกวุ้นออกจากเมล็ด เปลือก และเส้นใย จะสามารถนำแผ่นวุ้นดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำพริก ลาบ ยำ แกงจืด (ใช้แทนสาหร่าย) ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก หรือทำลอยแก้ว หรือน้ำพร้อมดื่มที่บรรจุในกระป๋อง หรือทำเป็นสำรองผง เป็นต้น[4]
6. นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้นำสารเมือกจากลูกไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้แก่ การนำไปใช้เป็นสารช่วยในการแตกกระจายตัวในยาเม็ด เมื่อเทียบกับสตาร์ชข้าวโพด ก็พบว่าการแตกกระจายตัวของยาเม็ดที่มีสารเมือกเป็นสารช่วยแตกกระจายตัว จะมีอัตราเร็วในการดูดซับน้ำสูงกว่า และเม็ดยาจะแตกกระจายเร็วกว่าการใช้สตาร์ชข้าวโพดที่ระดับความเข้มข้นเดียวกัน แลกเนื่องจากคุณสมบัติในการอุ้มน้ำของสารเมือกนี้เอง จึงมีการนำสารเมือกนี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังนำไปใช้ในไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการใช้ความร้อนกับไส้กรอกมากที่สุด ซึ่งจากการทดสอบทางประสาทสัมผัสพบว่าจะให้ค่าความแน่นเนื้อและค่าความยืดหยุ่นมาก[6]

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผล

ประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต 68.59%, โปรตีน 8.45%, ไขมัน 0.11%, ใยอาหาร 3.97%, เถ้า 8.01%, แคลเซียม 0.25%, ฟอสฟอรัส 0.20%, ธาตุเหล็ก 0.007%, โซเดียม 0.12%, โพแทสเซียม 0.14% (ผลวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลูกสำรอง

1. เปลือกผลมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของสัตว์ทดลอง[2]
2. ในลูกมีสาร Glucorine 15%, Pentose 24% และพบสาร Bassorin เป็นต้น[2]
3. เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากผลในความเข้มข้น 25% มาฉีดให้สุนัขหรือแมวทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ทำให้ความดันของสัตว์ทดลองลดลง[2]
4. ลูกประกอบไปด้วย ใยอาหาร 64.12-76.45%, ความชื้น 15.31-16.86%, เถ้า 5.84-27.9%, โปรตีน 3.75-9.5%, ไขมัน 0.41-9.5% นอกจากนี้ยังมีความหวาน 3 บริกซ์ และให้พลังงาน 4,175.24 แคลอรีต่อ 100 กรัม[5]
5. เมื่อนำน้ำที่แช่กับเมล็ดมาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าจะทำให้ลำไส้ใหญ่ของกระต่ายเกิดการขยายตัว และมีอาการถ่ายท้อง หรือเมื่อนำเนื้อในผลมาให้สุนัขทดลองกิน ก็พบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้มีการบีบตัวมากขึ้น[2]
6. ใยอาหารที่พบส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรตมากถึง 62%, โปรตีน 3.8%, เถ้า 8.4% ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่พบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำตาลโมโนแซกคาไรด์ ได้แก่ Arabinose, Galactose, Glucose, Mannose, Rhamnose และ Xylose[5]
7. พืชในวงศ์ STERCULIACEAE สามารถนำไปใช้เป็น bulk-forming (ยาระบาย) ได้ โดย Srivastava GS และคณะ ได้ทำการศึกษาการใช้พืชในวงศ์นี้เดี่ยว ๆ ในขนาด 10 กรัม มาใช้กับผู้ป่วยที่ท้องผูกจำนวน 50 ราย เป็นระยะเวลา 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยหายจากอาการท้องผูกจำนวน 47 คน[13]
8. จากการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ พบว่าสมุนไพรชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งอาหารเสริมจากจะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายเป็นปกติ แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็ก ผู้เป็นภูมิแพ้ และสตรีมีครรภ์ เพราะบุคคลเหล่านี้มีภูมิที่ไว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น และการรับประทานอาหารเสริมจากสมุนไพรชนิดนี้ (ชนิดแคปซูล) ควรรับประทาน 7 วัน แล้วเว้นไปอีก 7 วัน เนื่องจากในปริมาณดังกล่าวสมุนไพรนี้จะมีฤทธิ์ต่อเนื่องไป 7 วัน (ฉันทรา พูนศิริ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว.)[12]

น้ำสำรองลดความอ้วนได้จริงหรือ ?

1. ในปัจจุบัน “น้ำสำรอง” กำลังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้ที่ต้องการจะลดความอ้วน โดยน้ำสำรองดังกล่าวนั้นได้บรรยายสรรพคุณไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การช่วยลดความอ้วน ช่วยกำจัดไขมันให้ออกมาจากร่างกาย ล้างไขมันในลำไส้ ด้วยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วอุ้มไปทิ้งพร้อมกับขับถ่าย เป็นยาระบาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ฯลฯ ซึ่งจากคำบอกเล่าแบบปากต่อปากถึง “สรรพคุณของน้ำสำรอง” ทำให้น้ำดื่มชนิดนี้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมถึงขั้นติด 1 ใน 10 ไปเลยก็ว่าได้[5],[7]
2. จากข้อมูลทางเภสัชวิทยาเบื้องต้นที่กล่าวไป เราจะเห็นได้ว่าสารอาหารในลูกแทบจะไม่มีสารตัวไหนที่สามารถช่วยลดความอ้วนได้เลย แต่ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามันช่วยลดความอ้วนได้ ก็น่าจะเกิดจากใยอาหารในลูกสำรองที่เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำ มีสารเมือกและมิวซิเลจสูง ซึ่งใยอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการพองตัวได้ดี เมื่อสัมผัสกับน้ำจะละลาย เกิดเป็นสารข้นหนืดที่สามารถช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ได้มากขึ้น มีผลทำให้อาหารเคลื่อนตัวได้ช้าลงและอยู่ในระบบทางเดินอาหารนานขึ้น จึงส่งผลไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ทำให้ไปชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาลได้ดีนั่นเอง และหากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายรับสารอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดลดลงได้[5]

โทษของน้ำสำรอง ยังไม่พบว่ามีรายงานเรื่องความเป็นพิษ แต่สิ่งที่ควรจะระวังก็คือ การดื่มน้ำสำรองที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ซึ่งจะมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ และการดื่มน้ำสำรองแทนการรับประทานอาหาร ก็อาจจะทำให้ขาดสารอาหารได้[5]

วิธีทำน้ำสำรอง

1. ให้นำลูกสำรองไปล้างน้ำเพื่อเอาเศษผงที่ติดมาด้วยออกให้ได้มากที่สุด แล้วนำไปแช่ในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง (พยายามกดให้ลูกสำรองจมน้ำเข้าไว้ เพื่อจะได้พองออกมามากที่สุด)
2. เมื่อลูกสำรองพองออกแล้วจะเห็นเป็นวุ้นๆ ลอยอยู่ ก็ให้เราคัดเอาเมล็ดออก (น้ำวุ้นที่ได้จะยังมีเปลือกปนอยู่)
3. ให้นำวุ้นที่ได้มาใส่ในตะแกรงถี่ๆ แล้วเปิดน้ำไล่น้ำเก่าออกจนหมดกลิ่น เปิดจนน้ำเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีใส
4. ให้ตักเอาวุ้นมาใส่ผ้ากรอง แล้วรวบผ้าบีบรูดเอากากออก เก็บเอาเฉพาะเนื้อวุ้นไว้ (ให้ตักวุ้นใส่ผ้ากรองทีละน้อยพอที่จะรูดออกได้)
5. นำวุ้นที่ได้มาเติมแล้วเอาไปต้ม ระหว่างต้มก็คอยคนอย่าให้เนื้อวุ้นติดก้นหม้อด้วย และให้ใส่น้ำตาลทรายหรือน้ำหญ้าหวานตามแต่ต้องการเป็นอันเรียบร้อย

หมายเหตุ : ถ้าหากว่าพึ่งหัดทำให้ค่อยๆ ทำทีละน้อยๆ เพราะลูกที่แช่น้ำแล้วจะพองออกมาค่อนข้างเยอะ และน้ำที่ได้นั้นก็สามารถเก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้นาน โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การรับประทาน จากข้อมูลระบุไว้ว่าเป็นช่วง 03.00-05.00 ช่วยบำรุงปอด, 05.00-07.00 ช่วยบำรุงลำไส้ใหญ่ให้บริหาร, 07.00-09.00 ช่วยรักษาและเคลือบกระเพาะอาหาร, 09.00-11.00 ช่วยดูดซับไขมันในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ลดไขมันหน้าท้องได้ดี, ช่วงบ่ายถึงเย็น ช่วยบำรุงไต, ช่วงหลังเวลา 19.00 หากดื่มคู่กับน้ำดอกคำฝอย จะช่วยลดไขมันในเลือด และในช่วงก่อนเข้านอน หากรับประทานช่วงนี้จะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า (ที่มา : กินลืมป่วย)

สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง

1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [04 พ.ค. 2014].
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุงทะลาย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 390.
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สำรอง”. หน้า 184.
4. วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 หน้า 25. “การยืดอายุ5. การเก็บรักษาผลสำรองโดยการอบแห้ง (Prolonging the Shelf-life of Dried Malva Nut Fruits by Drying)”. (วรัญญา โนนม่วง, ชาติชาย ไชยช่วย, ทองจวน วิพัฒน์เจริญลาภ, นฤมล มงคลธนวัฒน์).
5. ศูนย์เภสัชสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “น้ำสำรอง ลดความอ้วนได้จริงหรือ ?”. (ภญ.น้ำฝน ปิยะตระกูล).
6. วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร. (ชนินันท์ ลิมปิชัชวาลย์). “ผลของปริมาณโปรตีนในกัมสำรองต่อสมบัติอิมัลชัน ปริมาณกรดฟีนอลิก และความสามารถด้านออกซิเดชัน”.
7. หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน คอมลัมน์ รู้ไปโม้ด ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2550. “สำรอง”. (น้าชาติ ประชาชื่น).
8. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.
9. ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หมากจอง ไม้ท้องถิ่นสำคัญของจังหวัดอุบลฯ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: bio.sci.ubu.ac.th/research/dbdiversity/db/2550-Poster-Aranya-2.pdf. [04 พ.ค. 2014].
10. เมนูเพื่อสุขภาพ, ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก. “สำรอง พุงทะลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: hpc9.anamai.moph.go.th/kk/htm/kk48/5_2/5.pdf. [04 พ.ค. 2014].
11. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 335 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก. “สำรอง”. (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [04 พ.ค. 2014].
12. ผู้จัดการออนไลน์. “จากน้ำสำรองสู่แคปซูลเสริมภูมิคุ้มกัน พุงทะลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [04 พ.ค. 2014].
13. Srivastava GS, Smith AN and Painter NS. Sterculia bulk-forming agent with smoot-muscle relaxant versus bran in diverticular disease. British Medical Journal. 1976; 1: 315-8.