กระแตไต่ไม้
เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์น เหง้าปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ใบมีทั้งสร้างสปอร์และสร้างสปอร์

กระแตไต่ไม้

ต้นกระแตไต่ไม้ พบได้ในประเทศอินโดจีน ประเทศพม่า ประเทศไทย ประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศจีนทางตอนใต้ และประเทศมาเลเซีย ในประเทศไทยจะพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบขึ้นที่บริเวณตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าพรุ ขึ้นตามต้นไม้ และตามโขดหิน[4]ชื่อสามัญ Oak-leaf fern, Drynaria ชื่ออื่น ๆ กูดขาฮอก กูดอ้อม กูดไม้ (ในภาคเหนือ), กระปรอก (จังหวัดจันทบุรี), เดาน์กาโละ (ชาวมลายูในจังหวัดปัตตานี), ใบหูช้าง สไบนาง (จังหวัดกาญจนบุรี), กระปรอกว่าว (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดปราจีนบุรี), หว่าว (ปน), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), ฮำฮอก (จังหวัดอุบลราชธานี), หัวว่าว (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), สะโมง (ชาวส่วยในจังหวัดสุรินทร์) เป็นต้น[1],[2],[4] ชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria quercifolia (L.) J. Sm. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polypodium quercifolium L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ POLYPODIACEAE

ลักษณะของกระแตไต่ไม้

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทล้มลุก จัดอยู่ในจำพวกเฟิร์น มักเลื้อยเกาะตามต้นไม้หรือโขดหิน
    – ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งลำต้นจะมีลักษณะที่นอนทอดราบไปกับพื้นดิน มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร
    – เหง้ามีรูปร่างกลมและยาว ภายนอกเหง้าจะปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม และมีขนที่มีลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนภายในเหง้าจะมีเนื้อสีขาว บางเหง้ามีสีเขียว[1]
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้สปอร์หรือเหง้า[1],[3]
  • ใบ (แบ่งออกเป็น 2 ชนิด)
    1. ใบที่สร้างสปอร์
    – ใบมีรูปร่างเป็นรูปไข่ ตรงปลายใบแหลมหรือมน บริเวณขอบใบจะมีรอยเว้าเป็นแฉกตื้น ๆ ใบมีฐานใบเป็นรูปหัวใจ ใบชนิดนี้จะไม่มีก้านใบ ใบมีขนขึ้นปกคลุมเป็นรูปดาวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และใบชนิดนี้จะมีกลุ่มอับสปอร์อยู่ อับสปอร์จะมีรูปร่างเป็นรูปขอบขนานหรือกลม ซึ่งกลุ่มอับสปอร์จะอยู่เรียงกันเป็นแถว 2 แถวอยู่ที่บริเวณขนาบข้างตรงกลางระหว่างเส้นใบ
    – ใบจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 32 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ
    2. ใบที่ไม่สร้างสปอร์
    – ใบจะเรียงตัวกันแบบขนนก ใบมีรูปร่างเป็นรูปหอก ตรงปลายใบเรียวแหลม บริเวณขอบใบจะเว้าลึกลงไปเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบมีฐานใบเป็นรูปลิ่ม ผิวใบมีสีเขียวหม่นและผิวมีความเป็นมัน ใบชนิดนี้จะมีก้านใบ โดยที่โคนก้านใบจะมีเกล็ดสีน้ำตาลดำเป็นจุดเด่น[1]
    – ใบจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 50 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร

สรรพคุณของต้นกระแตไต่ไม้

1. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการปัสสาวะพิการ และมีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ (เหง้า)[1],[2],[3]
2. เหง้ามีสรรพคุณในการขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)[1],[2],[4]
3. เหง้ามีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคงูสวัด (เหง้า)[1]
4. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาแผลเนื้อร้ายและแผลพุพอง (เหง้า)[1]
5. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดบวม (เหง้า)[1]
6. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาโรคนิ่ว (เหง้า)[1],[2]
7. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาโรคไตพิการ (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
8. นำเหง้ามาต้มผสมรวมกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดเส้น (เหง้า)[1]
9. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาฝี (เหง้า)[1]
10. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
11. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดประดงเลือด (เหง้า)[1]
12. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการริดสีดวงที่จมูก (เหง้า)[1]
13. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการกระหายน้ำ (เหง้า)[1]
14. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เหง้า)[1],[2],[4]
15. นำเหง้ามาต้มผสมกับสมุนไพรยาข้าวเย็น มีฤทธิ์ในการรักษาโรคหอบหืด (เหง้า)[1],[3]
16. เหง้ามีสรรพคุณในการแก้โรคมือเท้าเย็น (เหง้า)[3]
17. เหง้ามีสรรพคุณในการบำรุงโลหิต ทำให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น (เหง้า)[3]
18. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคมะเร็งปอด (เหง้า)[1]
19. เหง้ามีฤทธิ์เป็นยาคุมธาตุ (เหง้า)[1],[2],[3]
20. เหง้านำมาใช้แบบเดี่ยว ๆ หรือนำไปใช้ร่วมกันกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ บรรเทาอาการฟกช้ำดำเขียว แก้เคล็ดขัดยอก และบำบัดอาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากเส้นเอ็นฉีกขาด หรือกระดูกแตกหัก (เหง้า)[3]
21. เหง้า มีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด แต่ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าใช้เพียงแค่เหง้าอย่างเดียว หรือมีสมุนไพรอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบร่วมด้วย (เหง้า)[1]
22. นำขนที่ได้มาจากเหง้ามาทำการบดให้ละเอียด ทำเป็นไส้ยาสูบใช้สูบเพื่อแก้อาการโรคหอบหืด (ขนจากเหง้า)[1]
23. ใบมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการแผลพุพองและแผลเรื้อรัง (ใบ)[2]
24. นำใบมาต้มกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ทำเป็นน้ำสำหรับอาบ โดยจะช่วยรักษาอาการบวมตามร่างกาย และบรรเทาอาการไข้สูงให้ลดลงได้อีกด้วย (ใบ)[1]
25. น้ำต้มจากใบ มีสรรพคุณในการแก้อาการอ่อนเพลียของสตรีหลังการคลอดบุตรได้ (ใบ)[1]
26. นำรากและแก่นมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยา โดยมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการประจำเดือนไหลไม่หยุด (ราก, แก่น)[1]
27. น้ำต้มจากรากและแก่นนำมาอาบ โดยจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคซาง (ราก, แก่น)[1]
28. มีสรรพคุณในการช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
29. มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]

ประโยชน์ของต้นกระแตไต่ไม้

1. ในด้านความเชื่อ เป็นว่านไม้ที่เสริมเรื่องความมีเมตตามหานิยม เชื่อว่าหากนำมาปลูกตั้งไว้ในร้านที่มีการค้าขาย จะทำให้ค้าขายดีขึ้นเป็นเท่าตัว[5]

2. มีใบที่สวยงาม เหมาะสำหรับการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 พ.ย. 2013].
2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระ แต ไต่ ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [29 พ.ย. 2013].
3. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน.  “กระ แต ไต่ ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [29 พ.ย. 2013].
4. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.  [29 พ.ย. 2013].
5. บ้านว่านไทย.  “ว่านกระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: banvanthai.com.  [29 พ.ย. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://plantsam.com
2. https://zh.m.wikipedia.org