โกฐก้านพร้าว
เป็นไม้ล้มลุก ใบออกเป็นกระจุกใกล้เหง้า ดอกเป็นช่อแทงขึ้นจากโคนใบ ดอกมีสีม่วงเข้มหรือสีม่วงน้ำเงิน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อในเป็นสีดำ รสขม

โกฐก้านพร้าว

ชื่อสามัญ Picorrhiza[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Picrorhiza kurroa Royle ex Benth.อยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE) ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ โอ่วไน้, กฏุโรหินี, กฏุกะโรหินี, กะฎุกะ, หูหวางเหลียน (จีนกลาง)เป็นต้น[1],[3]

หมายเหตุ
โกฐก้านพร้าวพันธุ์จากอินเดียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Picrorhiza kurroa Royle ex Benth.
ส่วนโกฐก้านพร้าวพันธุ์จากทิเบตมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Picroriza scrophulariora Pennell. ซึ่งทั้งสองพันธุ์นี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

ลักษณะของโกฐก้านพร้าว

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุก อายุ 1-2 ปี ความสูงของลำต้นราวๆ 5-10 เซนติเมตร[1] นิยมปลูกกันมากในจีน มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของป่าหิมพานต์ประเทศอินเดีย [3]
  • ดอก เป็นช่อมีสีม่วงน้ำเงินหรือม่วงเข้ม ก้านดอกยาว ดอกจะออกแทงขึ้นมาจากโคนใบ[1]
  • ใบ เป็นรูปกลมรีเหมือนช้อนออกติดกับราก ใบซ้อนกันเหมือนใบดอกบัว มีขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ความกว้างของใบ 0.6-2.5 เซนติเมตร ความยาวของใบ 1-5 เซนติเมตร[1]
  • ผล เป็นรูปไข่กลม มีเมล็ดยาวราวๆ 1.2 มิลลิเมตร เป็นรูปไข่สีดำเงา[1]
  • เหง้าหรือรากแห้ง ส่วนที่ถูกนำมาทำเป็นยา ลักษณะกลมยาว ขรุขระ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ความยาว 3-6 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหางหนูมะพร้าว มีข้อคล้ายกับตะไคร้อยู่ 5-8 ข้อแต่จะเล็กกว่า มีขนขึ้นตามข้อ มีวงๆเป็นแผลของตา ผิวมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแกมเทาเข้ม เนื้อนิ่ม อาจมีตาหรือส่วนของลำต้นติดอยู่บ้าง มีรอยย่นอยู่ตามแนวยาวของราก ตามขวางมีรอยแตก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีเนื้อในเป็นสีดำ[1],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัดจากรากถูกใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อและตับอักเสบนอกจากนี้ยังใช้ในการต่อต้านเชื้อได้หลายอีกชนิด[1]
  • มีฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือด ช่วย ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ขับปัสสาวะ แก้แพ้ ขยายหลอดลม ป้องกันการเกิดเนื้องอก ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ต้านออกซิเดชัน ฯลฯ ข้อมูลจากการศึกษาทางเภสัชวิทยา[3]
  • พบสาร Picroside, Rutkisterol, Vanillic acid, Cuthartic acid, Kutkin, Kutkisterol, D-Mannitalm ส่วนในผลพบแป้ง โปรตีน วิตามินซี และน้ำตาล[1]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยใช้สารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% ให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาดเท่ากัน ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ[3]
  • ต้มกับน้ำ สัดส่วน 1 ต่อ 4 พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี[1]
  • พบสารขมที่ชื่อว่า Picrorrhizin ปริมาณมากในโกฐก้านพร้าว อีกทั้งยังมีสารที่แสดงฤทธิ์ต่อหัวใจหลายชนิด, สารในกลุ่ม iridoid glycosides, aucubin และสารอื่นๆ[3]

สรรพคุณของโกฐก้านพร้าว

1. นำมาใช้ในเครื่องยาไทยชื่อว่า “พิกัดโกฐ” โดยมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หอบ แก้สะอึก แก้หืดไอ แก้ลมในกองธาตุ ใช้เป็นยาชูกำลัง ช่วยขับลม บำรุงกระดูก บำรุงโลหิต[3]
2. ใช้แก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัวได้[1]
3. นำมาเป็นยารักษาโรคบิดชนิดปวดท้องน้อยได้[1]
4. ช่วยแก้หอบเพราะเสมหะเป็นพิษได้ ด้วยการใช้รากและเหง้ามาทำ[2],[3]
5. รากนำมาใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาได้ รากมีรสขม เป็นยาเย็นจัด ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ใหญ่ และตับ[1],[3]
6. ข้อมูลจากตำราอายุรเวทของอินเดียระบุไว้ว่า หากใช้น้อยจะเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยบำรุงธาตุและทำให้เจริญอาหาร และหากใช้มากจะเป็นยาบำรุง และเชื่อว่าช่วยในการรักษาไข้จับสั่นและช่วยขับน้ำดีได้[3]
7. ปรากฏการใช้ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ”ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้อาการหน้ามืด แก้ลมวิงเวียน ใจสั่น ตาลาย คลื่นเหียนอาเจียน และแก้ลมจุกแน่นในท้อง[3]
8. ใช้ในการแก้ริดสีดวงทวาร[1]
9. ใช้ทำเป็นยาแก้ลมได้ด้วยการนำรากมาทำ[3] อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยขับความชื้นในร่างกาย[1]
10. สามารถใช้เป็นยาลดไข้ แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้ไข้เรื้อรัง แก้อาเจียน แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึก แก้ซางตัวร้อนในเด็ก และแก้อาการเหงื่อออกไม่รู้ตัว[1],[2],[3]

ปริมาณและวิธีการใช้

  • นำมาบดเป็นยาผง ทานครั้งละ 0.5-1.5 กรัม โดยนำมาต้มกับน้ำทานครั้งละ 3-10 กรัม[1]

ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่มีธาตุอ่อน ไม่ควรทานสมุนไพรชนิดนี้เกินขนาดหรือทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐ-ก้าน-พร้าว”. หน้า 100.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐ-ก้าน-พร้าว Picorrhiza”. หน้า 217.
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐ-ก้าน-พร้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [12 มิ.ย. 2015].
4. https://medthai.com