โกฐกระดูก
เป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยวรูปสามเหลี่ยมขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกสามเหลี่ยม สีดอกขาว สีม่วงเข้ม ผลเป็นเส้นแบน

โกฐกระดูก

(ตำรายาโบราณบางเล่มก็เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “โกฐหอม”) ชื่อสามัญ Costus[2],[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Aucklandia lappa DC. อยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[5] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ มู่เชียง มู่เซียง (จีนกลาง),บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[5]

ลักษณะของโกฐกระดูก

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกมีความสูงราวๆ 1-2 เมตร มีขนขึ้นปกคลุมลำต้น ลำต้นไม่แตกกิ่งก้านสาขามีขนาดเล็ก มีอายุหลายปี[1],[3]
  • ดอก เป็นดอกเดี่ยว ดอกออกติดกับโคนใบ ความยาวของก้านดอกมีขนาดราวๆ 30-100 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยม เล็กๆ มีกลีบดอก 10 ชั้นต่อหนึ่งดอก เป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกขาว ดอกมีสีม่วงเข้ม ความยาวกลีบดอกมีขนาด 9-25 มิลลิเมตร ในดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน คล้ายกับดอกบานไม่รู้โรย[1]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปสามเหลี่ยม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย โคนใบเว้าเข้าหากัน ใบขนาดใหญ่ กว้าง 15-30 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร ก้านใบยาว มีขนหยาบๆขึ้นปกคลุมหน้าใบ หน้าใบมีสีเขียว หลังใบมีสีเขียวอ่อนอมเหลือง[1]
  • ผล เป็นเส้นแบนๆมีความยาวราวๆ 6 มิลลิเมตร ผลตอนแก่จะแตกออก[1]

หมายเหตุ

โกฐกระดูกเป็นชื่อเรียกของส่วนของรากที่นำมาใช้เป็นยา โดยเป็นรากสะสมอาหารขนาดใหญ่ มีเนื้อแข็ง เป็นสีเทาถึงน้ำตาล เป็นรูปกระสวยทรงกลมยาว คล้ายกระดูก มีรอยแผลเป็นรากแขนงอยู่ด้านข้าง มีร่องตามยาวและมีรอยย่นชัดเจน มีร่องไขว้กันคล้ายร่างแหบริเวณผิวนอก มีเส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 0.5-5 เซนติเมตร และมีความยาว 5-10 เซนติเมตร รอยหักอาจพบรากแขนงบ้างเล็กน้อย รอยเป็นสีน้ำตาลอมเทาไปถึงน้ำตาลเข้ม หากนำมาผ่าแนวตามขวาง จะมีเนื้อในรากแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนในที่เป็นเนื้อราก และส่วนนอกที่บางกว่า มีรสหวาน มัน ขม และมีกลิ่นเฉพาะที่หอมชวนดม[1],[5]

สรรพคุณของโกฐกระดูก

1. มีการใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม เป็นยาชูกำลัง บำรุงกระดูก บำรุงโลหิต แก้หืดไอ แก้หอบ แก้สะอึก แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ [5]
2. ราก สามารถใช้ทำยาแก้ปวดได้(ราก)[5]
3. ข้อมูลจากตำรับยาแก้อาการปวดท้องของโรคบิด ระบุว่าให้ใช้โกฐกระดูก 10 กรัม ฟ้าทะลายโจร 10 กรัม นำมาบดเป็นผงรวมกันชงกับน้ำรับประทาน และข้อมูลจากตำรับยาแก้ปวดกระเพาะระบุว่าใช้โกฐกระดูก 30 กรัม, ข่าลิง 30 กรัม, ดีปลี 30 กรัม, อบเชย 8 กรัม, ลิ้นทะเล 100 กรัม, ส้มมือ 15 กรัม, หนังกระเพาะไก่ 30 กรัม นำมาบดรวมกันเป็นผงทานครั้งละ 8 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง (ราก)[1]
4. ใช้แก้ลมในกองเสมหะ แก้หืดหอบได้(ราก)[3],[5]
5. รากใช้ในการทำเป็นยาหอมรับประทานแก้ลมวิงเวียน แก้โรคโลหิตจาง ขับลมในลำไส้ ตาลาย หน้ามืดได้(ราก, เปลือกราก)[3],[5]
6. ราก ใช้ในการบำรุงกระดูกได้(ราก)[5]
7. สามารถนำมาทำเป็นยาลดไขมันในเลือด[4] และยังสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย(ราก)[3]
8. มีการใช้ในยาหลายตำรับเช่นในตำรับยา “พิกัดตรีทิพย์รส” ที่ช่วยในการบำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ และช่วยแก้ลมในกองเสมหะ , ตำรับยา “พิกัดสัตตะปะระเมหะ” ช่วยในการชำระเมือกมันในลำไส้ แก้อุจจาระธาตุลามก เป็นยาชำระมลทินโทษให้ตกไป[5]
9. ใช้เป็นส่วนผสมในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม โดยปรากฏการใช้ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) อีกทั้งยังมีในตำรับ “ยาประสะกานพลู” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย และมีปรากฏอยู่ในตำรับ“ยาหอมนวโกฐ”และ “ยาหอมเทพจิตร” สามารถช่วยแก้อาการตาลาย หน้ามืด ใจสั่น แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้องได้[5]
10. ทำเป็นยาฆ่าเชื้อไทฟอยด์และฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ โดยใช้ผงจากราก (ราก)[1]
11. สามารถนำมาใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ กระเพาะ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วย แก้อาการจุกเสียด ช่วยขับลมชื้นและช่วยในการย่อยอาหารได้ สามารถใช้ทำให้น้ำย่อยของกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มขึ้น และยังช่วยกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้บีบตัว ในตำรับยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีการใช้โกฐเขมาขาว 10 กรัม, เปลือกส้ม 8 กรัมและโกฐกระดูก 10 กรัม โดยการนำต้มน้ำรับประทาน(ราก)[1],[2] ทำเป็นยาขับลมในลำไส้ได้ โดยใช้ส่วนเปลือกราก(เปลือกราก)[3]
12. ราก ใช้ทำเป็นยาแก้อาเจียนได้(ราก)[1],[2]
13. เปลือกรากใช้ทำเป็นยาแก้โลหิตจางได้(เปลือกราก)[3]
14. สามารถทำเป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้นได้
15. รากเป็นยาสุขุมออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ ลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหาร[1] อีกทั้งรากยังใช้เป็นยาบำรุงโลหิตได้อีกด้วย(ราก)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • มีการใช้สารสกัดจากรากในหนูทดลอง พบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ ข้อมูลการทดลองในปี ค.ศ.1981 ที่ประเทศอินเดีย[3]
  • ให้หนูทดลองกินสารสกัดจากรากด้วยเอทานอล 50% ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมและให้โดยการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูทดลองขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สรุปว่าไม่พบอาการเป็นพิษ[5]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากราก ความเข้มข้น 0.5 – 4 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกรดของแบคทีเรีย ยับยั้งการยึดเกาะของแบคทีเรียต่อแผ่นโมเดล hydroxyapatite beads ที่เคลือบด้วยน้ำลายและการสังเคราะห์กลูแคน และ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุโรคฟันผุได้[6]
  • มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ กระตุ้นการเจริญอาหาร ต้านการอาเจียน เพิ่มความจำ ขับพยาธิ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ต้านการเกิดออกซิเดชัน ต้านมะเร็ง ต้านการเกิดพิษต่อตับ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ ขับน้ำดี ข้อมูลจากการศึกษาทางเภสัชวิทยา[3],[5]
  • ใช้สารสกัดจากราก มาทดลองในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง พบว่าช่วยให้การทำหน้าที่ของตับดีขึ้นและสามารถลดระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้ จากการทดลองในปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศญี่ปุ่น[4]
  • การทดลองใช้สารสกัดจากราก ในแอลกอฮอล์ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต่อน้ำหนักตัวของหนูทดลอง โดยทดลองในหนูทดลองเวลา 7 วัน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ข้อมูลจากการทดลองในปี ค.ศ.1993 ที่ประเทศอินเดีย มหาวิทยาลัย Banaras Hindu[3]
  • ให้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ : น้ำ (1 : 1) กับหนูถีบจักรทั้งทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่าปลอดภัย และพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากรากด้วยแอลกอฮอล์ : น้ำ (1 : 1) เข้าช่องท้องในขนาดมากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัมจะทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง และเมื่อป้อนน้ำมันหอมระเหยแก่หนูขาวพบว่าขนาด 3.4 กรัมต่อกิโลกรัม ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง[3]
  • ใช้ต้มกับน้ำในการฆ่าเชื้อบิด และผงของโกฐกระดูกช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่และเชื้อไทฟอยด์ได้ อีกทั้งโกฐกระดูกยังใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดกระเพาะ ช่วยย่อยอาหาร ธาตุอ่อน[1]
  • พบยางไม้ 6%,น้ำมันระเหยอยู่ประมาณ 0.3-3%, Saussurine,กลูโคลินในราก และในน้ำมันพบ Costus acid, Costus Lactone, Costen, Aplotaxene, Phellaudreneเป็นต้น[1] และมีอีกข้อมูลระบุไว้ว่า สารสำคัญที่พบคือ arbusculin B, amyrine stearate, amorphenic acid, alantolactone, betulin, buttric acid, balanophorine, costic acid, costal, costene, cedrol, caproic, camphene, elemol, inulin, humulene, friedelin, saussureal, saussureamine A,B,C,D, stigmasterol, syringin, selinene, sitosterol, picriside B, phellandrene, octanoic acid[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐ กระ ดูก”. หน้า 96.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐกระดูก Costus”. หน้า 216.
3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โกฐ กระ ดูก”. หน้า 58.
4. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โกฐ กระ ดูก” หน้า 59-60.
5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐ กระ ดูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [12 มิ.ย. 2015].
6. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคฟันผุของโกฐกระดูก”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [12 มิ.ย. 2015].
7. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://commons.wikimedia.org/
2. https://nantes-naturopathe.fr/solution/costus-indien/