ต้นพังแหร สรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ

0
1331
ต้นพังแหร สรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นไม่ผลัดใบ ดอกขนาดเล็กเป็นช่อกระจุกสั้น สีขาวอมเขียว ผลสดสีเขียวเข้ม เมื่อผลสุกเป็นสีดำหรือสีม่วงดำ
ต้นพังแหร
เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นไม่ผลัดใบ ดอกขนาดเล็กเป็นช่อกระจุกสั้น สีขาวอมเขียว ผลสดสีเขียวเข้ม เมื่อผลสุกเป็นสีดำหรือสีม่วงดำ

พังแหร

พังแหร มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศญี่ปุ่น จีน นิวกินี โมลัคคาล์ และประเทศเขตร้อนในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยสามารถพบขึ้นตามพื้นที่โล่งแจ้ง ตามป่าเบญจพรรณ และตามชายป่าดงดิบ โดยมักจะพบที่ระดับความสูง 600-1,500 เมตร[1],[2] ชื่อสามัญ Peach cedar[4], Pigeon wood (อังกฤษ), Peach-leaf poison bush (ออสเตรเลีย)[5] ชื่อวิทยาศาสตร์ Trema orientalis (L.) Blume ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Celtis guineensis Schumach. & Thonn., Celtis orientalis L., Sponia orientalis (L.) Decne., Trema guineensis (Schum. & Thonn.) Ficalho ฯลฯ[1] จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กัญชา (CANNABACEAE) ชื่ออื่น ๆ ขางปอยป่า ปอแฟน ปอหู ปอแหก ปอแฮก (ในภาคเหนือ), ตะคาย (ในภาคกลาง),ปอ (จังหวัดเชียงใหม่), พังแหรใหญ่ พังแกรใหญ่ ตายไม่ทันเฒ่า (จังหวัดยะลา), พังแหร (จังหวัดแพร่), ด่งมั้ง (ชาวม้ง), ปะดัง (ชาวกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พังอีแร้, พังอีแหร[1],[2], ปอแต๊บ (ชาวไทลื้อ), กีกะบะซา บาเละอางิงิ (ชาวมลายู นราธิวาส), ตุ๊ดอึต้า (ชาวขมุ), ไม้เท้า (ชาวลั้วะ)[4] เป็นต้น

ลักษณะของต้นพังแหร

  • ต้น 
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นไม่ผลัดใบที่มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง
    – ต้นมีความสูง ประมาณ 4-12 เมตร
    – ลักษณะของลำต้น: เปลือกต้นมีสีเป็นสีเขียวอมเทาอ่อนหรือน้ำตาล ผิวเปลือกต้นบางเรียบเกลี้ยงไม่มีขนหรืออาจมีรอยแตกตามยาวบาง ๆ และต้นมีรูอากาศมาก ส่วนเปลือกชั้นในมีสีเป็นสีเขียวสด
    – ตรงเรือนยอดจะโปร่งเป็นพุ่มขยายแผ่กว้าง กิ่งก้านจะแผ่ออกในแนวขนานกับพื้นดิน ปลายกิ่งมีลักษณะลู่ลง ตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม
    – ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน
  • ใบ
    – ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับกัน
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก รูปไข่แกมรูปหัวใจ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม ตรงโคนใบเบี้ยวมีขนาดไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเป็นรอยจักแบบฟันเลื่อยละเอียด
    – ยอดอ่อนมีขนสีเงินขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น เนื้อผิวใบค่อนข้างสากคาย ส่วนใบที่แก่แล้วด้านบนจะมีขนหยาบขึ้นปกคลุมเป็นประปราย ส่วนด้านล่างจะมีสีเป็นสีเขียวอมเทาเป็นกระจุกปะปนกับขนสีเงินที่ยาวกว่า เส้นใบ เส้นใบด้านข้างจะมีความโค้งมาก มี 4-8 คู่
    – ใบมักจะมีร่องและมีขนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นหย่อม ๆ ผิวใบมักมีจุดประเป็นสีชมพูหรือม่วงกระจายทั่วใบ
    – มีหูใบเป็นรูปหอกไม่เชื่อมกัน[1]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-12 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.4-1.7 เซนติเมตร
    – หูใบมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 2.6 มิลลิเมตร
  • ดอก
    – ดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกช่อดอกเป็นกระจุกที่บริเวณตามซอกใบ
    – ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีสีเป็นสีขาวอมเขียว โดยดอกจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 0.3 เซนติเมตร
    – ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอาศัยอยู่บนต้นเดียวกัน แต่จะอยู่แยกช่อกัน
    – ช่อดอกเพศผู้จะมีดอกประมาณ 35-40 ดอกภายในช่อ แต่ช่อดอกเพศเมียจะมีดอกประมาณ 15-20 ดอก
    – ดอกเพศผู้ช่อแน่นและแตกแขนง ออกดอกเป็นคู่ มีก้านดอกของช่อข้างล่างโค้งลง ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ตรงข้ามกับพูกลีบเลี้ยง 4-5 อัน
    – ดอกเพศเมียมีลักษณะที่คล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ช่อดอกจะโปร่งกว่า และดอกมีเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 กิ่ง ส่วนรังไข่ไม่มีก้านชู[1]
  • ผล
    – ผลมีลักษณะเป็นผลสด มีลักษณะรูปทรงกลม โดยผลจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ส่วนก้านผลมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.3 เซนติเมตร
    – ผลมีสีเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีดำหรือสีม่วงดำ ปลายเกสรเพศเมียติดที่ยอดผล และที่ผลมีชั้นกลีบเลี้ยงติดที่ฐาน เนื้อผลภายในค่อนข้างนุ่ม
    – ผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างแข็ง
    – ติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

สรรพคุณของต้นพังแหร

1. เปลือกต้นและใบนำมาใช้ทำเป็นยาแก้ไข้มาลาเรียได้ (เปลือกต้นและใบ)[1]
2. เปลือกต้นนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด และใช้สำหรับเป็นยาถ่ายพยาธิ โดยการนำน้ำต้มที่ได้จากเปลือกต้นหรือใบนำมาใช้รับประทานเป็นยาขับพยาธิตัวกลม (เปลือกต้นและใบ)[1]
3. ตำรายาของไทย จะนำเปลือกต้นมาเคี้ยวและอมเอาไว้ประมาณ 30 นาที สำหรับเป็นยาแก้ปากเปื่อย (เปลือกต้น)[1]
4. ลำต้นและกิ่งนำมาใช้ทำเป็นยาชงมีฤทธิ์สำหรับแก้ไข้ และถ้านำไปใช้กลั้วปากจะแก้อาการปวดฟันได้ (ลำต้นและกิ่ง)[1]
5. แก่นหรือรากนำมาฝนกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาเย็น มีสรรพคุณในการแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (แก่น, ราก)[1]
6. ในประเทศแอฟริกาจะนำราก มาใช้ทำเป็นยารักษาปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ห้ามเลือด และใช้รักษาเลือดออกที่กระเพาะอาหารและลำไส้(ราก)[1]
7. ผลและดอกนำมาใช้ทำเป็นยาชงสำหรับเด็ก เพื่อใช้สำหรับรักษาโรคหลอดลมอักเสบ และเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้ (ผลและดอก)[1]

ประโยชน์ของต้นพังแหร

1. ไม้ เป็นไม้ชนิดเนื้ออ่อน ไม่ค่อยทนทาน จึงนำมาใช้ในงานก่อสร้างที่ใช้ชั่วคราวหรือใช้ก่อสร้างโรงเรือนที่มีขนาดเล็ก[3],[4]
2. ใบนำมาใช้เป็นอาหารปลา สำหรับเลี้ยงปลาได้[4]
3. ผลสุกนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับนกได้[4]
4. เปลือกต้นนำมาลอกออกใช้ทำเป็นเชือกไว้สำหรับมัดสิ่งของได้[1],[4]
5. ที่แอฟริกาจะนำไปปลูกป่า และปลูกไว้สำหรับเป็นร่มเงาในในการเพาะเลี้ยงต้นกาแฟได้[5]
6. นำมาใช้ปลูกเป็นไม้สำหรับปลูกป่าได้ดี เพราะมีระยะเวลาการเจริญเติบโตที่เร็ว เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่ต้องการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นคืนสภาพป่า (จะเติบโตได้ดีที่พื้นที่ชุ่มชื้น)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่า แพะที่กินยอดและใบสดเข้าไปแล้วจะตายจากอาการเกิดพิษต่อตับ[1] เนื่องจากมีสาร Trematoxin glycocides (สารพิษ) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อตับ
2. ลำต้นและเปลือกราก พบสาร decussatin, decussating glycosides, lupeol, methylswertianin, p -hydroxybenzoic acid, sweroside, scopoletin, (-)-epicatechin ส่วนเปลือก พบสาร simiarenone, simiarenol, episimiarenol, (-)-ampelopsin F, (-)-epicatechin, (+)-catechin, (+)-syringaresinol, N-(trans-p-coumaroyl) tyramine, N-(trans-p-coumaroyl) octopamin, trans-4-hydroxycinnamic acid และ สารไตรเทอร์ปีน tremetol อยู่[1]
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พัง แหร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [04 ต.ค. 2015].
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “พังแหรใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [04 ต.ค. 2015].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “พังแหรใหญ่”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [04 ต.ค. 2015].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “พัง แหร ใหญ่, ปอแฟน, ตะคาย”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [04 ต.ค. 2015].
5. สนง.ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี.  “พัง แหร: พืชอันตราย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : pvlo-pni.dld.go.th.  [04 ต.ค. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://paleru.strandls.com/
2.https://www.inaturalist.org/