มะเขือดง
เป็นไม้พุ่มผลัดใบ ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลสดทรงกลม มีเมล็ดกลมอยู่ในผล ผิวจะมีขีดประเล็ก

มะเขือดง

ชื่อสามัญ Turkey Berry, Mullein Nightshade, Potato Tree, Salvadora, Velvet Nightshade, Canary Nightshade, Wild Tobacco [2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Solanum erianthum D. Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Solanum verbascifolium Linn., Solanum mauritianum Blanco, Solanum Pubescens Roxb.) อยู่วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น แหย่เยียนเยวียะ (จีนกลาง), เก๊าแป้ง (ไทลื้อ), ลำผะแป้ง (ลั้วะ), ลำแป้ง (ลั้วะ), ทิ่นหุ้งจา (เมี่ยน), ตะหมากบูแคเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ลิ้มเม่อเจ้อ (กะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอน), สะกอปรึ่ย (กะเหรี่ยงจังหวัดเชียงใหม่), ฝ่าแป้ง (คนเมือง), ขาตาย (ภาคใต้), ดับยาง (ภาคกลาง), หูควาย (จังหวัดยะลา), สะแป้ง (จังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดสุโขทัย), ฝ้าแป้ง (จังหวัดสุโขทัย), ดับยาง (จังหวัดสุโขทัย), มะเขือดง (จังหวัดขอนแก่น), เอี๋ยเอียงเฮียะ (จีนแต้จิ๋ว), ด่อเปอฮุ๊บ (ปะหล่อง), ลำฝาแป้ง (ลั้วะ), ลำล่อม (ลั้วะ), ชู้ด (ขมุ), ด่งเย่ก๊ะ (ม้ง), สะกอปรื่อ (กะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอน), มั่งโพะไป่ (กะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอน), ซิตะกอ (กะเหรี่ยงจังหวัดเชียงใหม่), หูตวาย (ภาคใต้), ขากะอ้าย (ภาคใต้), ฝ่าแป้ง (ภาคเหนือ), ส้มแป้น (จังหวัดเพชรบุรี), มะเขือดง (จังหวัดสุโขทัย), ฉับแป้ง (จังหวัดสุโขทัย), ผ่าแป้ง (จังหวัดสุโขทัย), ส่างโมง (เลย) [2],[4]

ลักษณะของมะเขือดง

  • ต้น เป็นไม้พุ่มผลัดใบตามฤดูกาล ตันสามารถสูงได้ถึงประมาณ 1-4 เมตร เปลือกต้นจะมีลักษณะเป็นสีขาว มีขนอยู่ทั้งต้น จะมีเขตการกระจายพันธุ์จากที่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาถึงที่ประเทศอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทยสามารถพบเจอขึ้นได้ทั่วไปที่ตามชายป่าละเมาะและที่เปิด ที่รกร้างทั่วไป ที่มีความสูงใกล้กับน้ำทะเลถึงที่มีความสูง 1,000 เมตร[1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปไข่ ที่ขอบใบจะเรียบ ใบกว้างประมาณ 8-13 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ผิวใบอ่อนจะนุ่ม ใบอ่อนมีขนขึ้นหนาแน่น ที่หลังใบจะเป็นสีขาว ท้องใบเป็นสีดอกเลา ก้านใบมีความยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตรงบริเวณปลายกิ่ง จะแยกเป็น 2 ช่อ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกอยู่ 5 กลีบ จะเชื่อมกันตรงที่ฐาน มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว อับเรณูมีลักษณะเป็นสีเหลือง ดอกจะมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน มีเกสรเพศเมียอยู่ 1 อัน ดอกบานกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร[2]
  • ผล เป็นผลสด ผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเมล็ดกลมอยู่ในผล ผิวจะมีขีดประเล็ก[1]

สรรพคุณมะเขือดง

1. สามารถใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน แผลเปื่อย ฝีได้ โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงบริเวณที่เป็น หรือนำมาต้มกับน้ำให้เข้มข้น ใช้ชะล้างตรงบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน แผลเปื่อย ฝี (ใบ)[2]
2. สามารถใช้ช่วยรักษาโรคเกาต์ได้ โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วก็เอามาคั่วกับเหล้า ใช้ทาถูนวดตรงบริเวณที่เป็น (ใบ)[2]
3. สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาช่วยลดการอักเสบจากแผลที่เกิดเพราะแผลไฟไหม้ได้ (ทั้งต้น)[2]
4. สามารถนำใบมาใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ (ใบ)[2]
5. นำใบมาต้มน้ำร่วมกับลำต้นเป เครือไฮ่มวย ต้นสามร้อยยอด ใบก้านเหลือง ใบว่านน้ำเล็ก วงเดียตม ต้นถ้าทางเมีย ใบเดื่อฮาก ใบหนาดหลวง (ถ้าหามาได้ไม่ครบให้ใช้เท่าที่หามาได้) แล้วเอามาให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟใช้อาบสามารถช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นได้ (ใบ)[4]
6. สามารถนำรากมาใช้เป็นยาขับระดูของสตรี แก้โรคมุตกิด เป็นหนอง และมีน้ำคาวปลาได้ โดยนำรากสดประมาณ 90-120 กรัม มาทุบให้แหลก แล้วเอามาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เป็นเวลา 30 นาที ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้า ก่อนอาหารเย็น (ราก)[2],[3]
7. นำยอดอ่อนมาแช่กับน้ำดื่มร่วมกับไพล ยอดหญ้าตดหมา ลำต้นคูน สามารถใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืดได้ (ยอดอ่อน)[4]
8. นำใบมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟัน และปวดศีรษะได้ (ใบ)[2],[3]
9. ราก มีสรรพคุณที่เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยนำรากสดประมาณ 90-120 กรัม มาทุบให้แหลก แล้วเอามาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เป็นเวลา 30 นาที ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้า ก่อนอาหารเย็น (ราก)[3]
10. สามารถใช้ใบเป็นยาแก้ฟกช้ำได้ (ใบ)[2]
11. เปลือกสามารถใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ (เปลือก)[3]
12. ใบสามารถใช้เป็นยารักษาอาการตัวบวมได้ (ใบ)[2]
13. ใบ มีสรรพคุณที่ทำให้แท้งบุตร (ใบ)[3]
14. ราก ใช้เป็นยารักษาโรคบิด และอาการท้องร่วงได้ (ราก)[2]
15. ใบ ใช้เป็นยาพอกรักษาแผลเปื่อยในปาก ผิวหนังอักเสบ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลในจมูก แผลเปื่อย (ใบ)[2],[3]
16. สามารถนำราก หรือใบ มาขยี้แล้วเอามาแช่น้ำกับมะแคว้งขม ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาหารเป็นพิษ อาการคลื่นไส้ได้ (ราก, ใบ)[4]
17. สามารถใช้เป็นยารักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลืองตรงที่ตามบริเวณคอในระยะเริ่มแรก โดยนำใบสดประมาณ 15-20 กรัม มาล้างให้สะอาด แล้วเอามาหั่นเป็นชิ้นเล็ก แล้วใช้ไข่เปลือกสีขาว 1 ฟอง มาใส่น้ำกับเหล้าอย่างละเท่า ๆ กัน เอามาต้มกับน้ำทานวันละ 2-3 ครั้ง (ใบ)[2]

ประโยชน์มะเขือดง

1. นำต้นไปเผาไฟให้เป็นถ่านแล้วนำมาใช้เป็นส่วนผสมทำดินปืน หรือเอาต้นไปตากแห้งแล้วเอาไปทำดินปืน[4]
2. ชาวเมี่ยนนำกิ่งที่มีลักษณะเป็นง่าม มาเสียบกับดิน ใช้เป็นที่ตั้งขันเพื่อเผากระดาษให้บรรพบุรุษในพิธีเลี้ยงผี[4]
3. นำใบมาขยำแล้วใช้ล้างจาน สามารถช่วยขจัดคราบอาหารได้[4]
4. นำผลมาตำแล้วคั้นเอาน้ำมาให้วัวกับควายทานเป็นยาแก้โรคขี้ขาว[4]
5. ชาวลั้วะนำลำต้นมาใช้ทำเป็นฟืน[4]
6. นำใบมาใช้รองพื้นถั่วเน่าหมักตากแดด สามารถป้องกันไม่ให้ถั่วเน่าติดกับแผงตากได้[4]
7. สามารถนำใบมะเขือมาใส่ในเล้าไก่ สามารถช่วยป้องกันตัวไรได้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการวิจัยปรากฏว่าผลจะมีสารในกลุ่มสเตียรอยด์ที่มีชื่อว่า Solasodine อยู่ปริมาณสูง นำมาใช้สังเคราะห์เป็นยาคุมกำเนิดได้ แต่ก็ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตเป็นยาต่อ[1]
  • จะมีฤทธิ์กับหัวใจ โดยจะมีผลที่ทำให้หัวใจของกระต่ายบีบตัว (ไม่เต็มที่) แต่บางส่วนก็จะค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะปกติทีละส่วนทีละส่วน[2]
  • ฤทธิ์ที่ทางเภสัชวิทยาที่พบ คือ ฤทธิ์ที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด จะมีฤทธิ์ที่เหมือนกับวิตามินดี สามารถช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้[3]
  • พบสารเคมี solaverbascine, solasodine monoglucoside, solamargine, solaverine, diosgenin, solasonine, solasodine [3] ที่ผลง กิ่ง ใบ ผลมี solasodine, diosgenin และยังพบว่าในใบมี tomatidenol ส่วนในกิ่งกับใบมี solasonine ส่วนในใบกับรากมี solasonine, solamergine, solasodine monoglucoside [2]
  • ในปี ค.ศ.1991 ประเทศเม็กซิโก ได้มีการทำการทดลองใช้สารสกัดที่ได้ในกระต่ายทดลองจำนวน 27 ตัว ด้วยการทดลองเปรียบเทียบกับยา tolbutamide โดยทดลองกับพืชต่าง 12 ชนิด ผลการทดลองปรากฏว่า สามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ถึง 21.1% มากกว่ายา tolbutamide ที่ลดได้แค่เพียง 14.3%[3]
  • จะมีฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง โดยจะมีผลในการช่วยเสริมฤทธิ์ของยา barbiturate ทำให้สามารถยืดเวลาการนอนของหนูถีบจักรได้ชัด[2]
  • สารที่สกัดได้จากใบกับกิ่งด้วยการต้มด้วยน้ำจะไม่มีผลกับลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา แต่มีฤทธิ์ที่ทำให้ลำไส้เล็กส่วนต้นของกระต่ายคลายตัวช่วงแรก และก็จะเกิดอาการเกร็งในช่วงระยะเวลาต่อมา และยังมีฤทธิ์ที่กระตุ้นอย่างอ่อนกับต่อมดลูกของหนูขาวที่กำลังมีท้อง และกล้ามเนื้อลายหน้าท้องของคางคก[2]
  • สาร solamergine, solasoine , tomatidenol, solasodine จะมีฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งเชื้อราบางชนิดได้ อย่างเช่น Polypordus, Claviceps. Rhizoctonia, Sclerotinia, Piricularia [2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ช้าแป้น”. หน้า 189.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ช้าแป้น”. หน้า 265-267.
3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ช้าแป้น”. หน้า 72-73.
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ดับยาง, ฉับแป้ง, ฝ่าแป้ง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [06 ม.ค. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://identify.plantnet.org/
2. https://www.inaturalist.org/