ว่านเสน่ห์จันทน์แดง หัวมีฤทธิ์ในการช่วยแก้โรคไขข้ออักเสบ

0
1451
ว่านเสน่ห์จันทน์แดง
ว่านเสน่ห์จันทน์แดง หัวมีฤทธิ์ในการช่วยแก้โรคไขข้ออักเสบ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเกิดจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว ดอกเป็นช่อที่บริเวณกลางต้น ผลขนาดเล็กผิวสัมผัสนุ่ม
ว่านเสน่ห์จันทน์แดง
เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเกิดจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว ดอกเป็นช่อที่บริเวณกลางต้น ผลขนาดเล็กผิวสัมผัสนุ่ม

ว่านเสน่ห์จันทน์แดง

ต้นเสน่ห์จันทน์แดง หรือ ว่านเสน่ห์จันทน์แดงนี้ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียและอเมริกา ชื่อสามัญ King of Heart [2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalomena rubescens (Roxb.) Kunth ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calla rubescens Roxb., Chamaecladon rubescens (Roxb.) Schott, Zantedeschia rubens K.Koch จัดอยู่ในวงศ์: วงศ์บอน (ARACEAE)[1]

ลักษณะต้นเสน่ห์จันทน์แดง

  • ต้น
    – เป็นพรรณไม้ล้มลุก
    – ต้นมีความสูงประมาณ 45-60 เซนติเมตร
    – ลำต้นเกิดจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ตามลำต้นจะประกอบไปด้วยก้านใบอยู่หลาย ๆ ก้าน แต่ลำต้นจะไม่แตกกิ่งก้านสาขา
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกหัว ต้นเสน่ห์จันทน์แดงเป็นพรรณไม้ที่อาศัยอยู่ในที่ร่มหรือพื้นที่แดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบน้ำขัง[1],[2]
  • ใบ
    – เป็นใบเดี่ยว โดยจะแตกใบออกที่ตรงบริเวณส่วนยอดของลำต้น มีก้านใบเป็นสีแดง โดยก้านจะยาวมากกว่าแผ่นใบ โคนของก้านใบจะมีลักษณะเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น
    – ลักษณะ เป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ตรงโคนใบเว้าลึก ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก
    – แผ่นใบมีสีเป็นสีเขียวสด เส้นใบมีสีแดง (หากใบต้นเสน่ห์จันทน์แดงโดนแสงแดดมากเกินไปจะทำให้ใบเปลี่ยนสีได้) และก้านใบมีลักษณะที่กลมยาว มีสีเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมแดง หากเลี้ยงดูได้อย่างสมบูรณ์ก้านใบอาจเป็นสีแดงปนดำหรือเป็นสีแดงเลือดหมูไปตลอดทั้งก้านใบ[1],[2]
    – ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 4-8 นิ้ว และมีความยาวประมาณ 6-12 นิ้ว
  • ดอก
    – ดอกเป็นช่อที่บริเวณกลางต้น
    – ดอกจะเป็นแท่งกลมยาว ช่อดอกมีลักษณะอวบและจะมีกาบสีแดงห่อหุ้มช่อดอกเอาไว้ ช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-4 นิ้ว [1]
  • ผล
    – ผลมีลักษณะเป็นผลสดที่มีขนาดเล็ก เมื่อจับผลจะมีผิวสัมผัสที่นุ่ม [1]

สรรพคุณต้นเสน่ห์จันทน์แดง

  • ต้นเสน่ห์จันทน์ทั้งต้นมีสารพิษชนิดหนึ่งอยู่ จึงสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาพิษได้ (ทั้งต้น)[1]
  • หัวหรือเหง้าของต้นเสน่ห์จันทน์นำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับทาเฉพาะภายนอกได้ โดยจะมีฤทธิ์ในการช่วยแก้โรคไขข้ออักเสบ (หัว)[1]
  • ใบเสน่ห์จันทน์นำมาทำเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก โดยมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผล (ใบ)[1]

ประโยชน์ต้นเสน่ห์จันทน์แดง

1. ในด้านของความเชื่อ จัดเป็นไม้มงคลในเรื่องมหานิยม หากทำการปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จะส่งผลเป็นศรีมีเสน่ห์แก่ครอบครัว และหากผู้ใดคิดเข้ามาทำร้าย ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะจะทำให้คนที่คิดร้ายผู้นั้นกลับมีจิตใจที่มีเมตตาขึ้นมาแทน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันอีกด้วยว่าหากปลูกไว้แล้วจะมีความโชคดี ถ้านำมาตั้งในร้านค้าจะช่วยให้ค้าขายดีมีกำไร เป็นพรรณไม้เมตตามหานิยมแก่คนทั่วไป[2] และหัวของต้นสามารถนำมาใช้แกะสลักเป็นรูปนางกวักได้เช่นเดียวกันกับต้นว่านเสน่ห์จันทน์เขียว วิธีการปลูกให้นำอิฐมาทุบให้แหลกละเอียดตากน้ำค้างเอาไว้เป็นเวลา 1 คืน จากนั้นให้เอามาปนกับดินที่ปลูกด้วยหัวว่าน โดยให้ทำการปลูกในวันจันทร์ และเวลารดน้ำให้ท่องด้วยคาถานะโม พุทธายะ 3 จบ (ว่านเสน่ห์จันทน์แดงนี้เป็นว่านคู่กันกับว่านเสน่ห์จันทน์เขียว หากนำมาปลูกไว้คู่กันจะทำให้เกิดความขลังมากล้นเลยทีเดียว)[3]

2. ต้นเสน่ห์จันทน์แดงจัดเป็นไม้ประดับที่นอกจากจะมีสีสันสวยงามแล้ว ยังมีความสามารถในการดูดสารพิษในอากาศได้ในปริมาณปานกลางอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพิษจำพวกแอมโมเนีย[2]

3. ต้นเสน่ห์จันทน์แดงมักจะนำมาใช้ปลูกเป็นไม้กระถางไว้สำหรับประดับภายในบริเวณบ้าน หรือจะนำไปปลูกตามแนวต้นไม้ใหญ่ก็ได้เช่นกัน โดยเสน่ห์จันทน์แดงถือว่าเป็นไม้ประดับที่มีรูปทรงสวยงาม เนื่องจากมีแผ่นใบที่เป็นรูปหัวใจ และใบมีสีเขียวเข้มตัดกับสีแดงเข้มของก้านใบจึงทำให้มีความโดดเด่น และว่านชนิดนี้เป็นว่านชนิดที่เจริญเติบโตได้ในพื้นที่ร่มและในพื้นที่มีแสงแดดจัด แต่เป็นพืชที่ไม่ค่อยทนทานนัก จึงต้องการการดูแลรักษาอยู่พอสมควร โดยควรจะปลูกต้นเสน่ห์จันทน์แดงไว้ในดินร่วนหรือดินทราย และควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาทั้งเช้าและเย็น[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • เมื่อใช้ไอน้ำกลั่นต้นเสน่ห์จันทน์แดงจะได้น้ำมันหอมระเหย ที่มีสารประกอบจำพวก linalyl acetate, -terpineol-l-linalool 60%[1]
    3.4)ข้อควรระวัง
  • ต้นเสน่ห์จันทน์แดงทั้งต้นรวมทั้งใบ จะมีสารพิษชนิดหนึ่งอยู่ ถ้าจะนำมาใช้เป็นยาควรใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ห้ามนำมารับประทาน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เสน่ห์จันทน์แดง (เสน่ห์จันทร์แดง)”. หน้า 786-787.
2. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่าน เสน่ห์ จันทน์ แดง”., “เสน่ห์จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.panmai.com. [07 ต.ค. 2014].
3. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ความเชื่อเกี่ยวกับว่านเสน่ห์จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th. [07 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/