ต้นโปร่งกิ่ว
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ดอกอ่อนมีสีเป็นสีขาวอมเขียว ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียวอมขาว ผลแก่เป็นสีแดงสดหรือสีแดงปนดำ

โปร่งกิ่ว

โปร่งกิ่ว ประเทศไทยจะพบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ตามป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะพบที่ระดับความสูงประมาณ 150-300 เมตร[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon lomentaceum Finet & Gagnep ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmos lomentaceus (Finet & Gagnep.) P.T.Li จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[2] ชื่ออื่น ๆ ลำดวน (ในภาคกลาง), เดือยไก่ ติดต่อ ตีนไก่ (ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หอมนวล (ในภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของโปร่งกิ่ว

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่มหรือไม้ต้นที่มีขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ
    – ต้นมีความสูง ประมาณ 1-2 เมตร
    – ลำต้นตั้งตรง ลำต้นแตกกิ่งก้านแผ่กว้างออกมาจำนวนมาก บริเวณเรือนยอดจะเป็นพุ่มทรงกลมทึบ
    – เปลือกลำต้นมีสีเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีช่องระบายอากาศสีขาวเป็นจุดกลม ๆ กระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่นทั่วลำต้น
    – เนื้อไม้มีความเหนียว และกิ่งอ่อนมีสีเป็นสีเขียว
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ
    – ใบ เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน
    – ใบเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมใบหอก รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปรี ตรงปลายใบมีรูปร่างเรียวทู่หรือแหลมแล้วไล่มามน ที่โคนใบเป็นรูปหัวใจ มีความมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบไม่มีขน
    – แผ่นใบด้านบนมีสีเป็นสีเขียวเข้มและผิวมีความเป็นมัน ส่วนใบด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบด้านบนจะมีลักษณะเป็นร่อง ส่วนด้านล่างจะมีลักษณะเป็นสันนูนเห็นได้อย่างเด่นชัด ใบมีเส้นแขนงใบอยู่ 7-11 คู่ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-12 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4 มิลลิเมตร[1],[2]
  • ดอก
    – ออกดอกในลักษณะที่เป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามบริเวณซอกใบใกล้กันกับปลายกิ่งหรือออกที่ปลายกิ่ง
    – ดอกอ่อนมีสีเป็นสีขาวอมเขียว เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวแกมเหลือง แล้วดอกก็จะหลุดร่วงลงไปทั้งกรวย
    – ก้านดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบดอกติดกันมีรูปร่างลักษณะเป็นรูปกรวย มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร บริเวณโคนดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ตรงปลายมีลักษณะเป็นรูปกรวยมน
    – กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่ มีสีเป็นสีเขียว มีขนาดความกว้างและความยาวอยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตร
    – ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
  • ผล
    – ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ โดยในแต่ละกลุ่มจะมีผลย่อยอยู่ที่ประมาณ 6-12 ผล
    – ผลย่อยมีลักษณะเป็นผลสด ลักษณะรูปร่างของผลเป็นรูปทรงกระบอกยาว ออกมาจากตำแหน่งเดียวกัน เปลือกผลคอดถี่ตามรูปเมล็ดประมาณ 2-4 ข้อ แต่จะไม่คอดถึงกลางผล ที่ปลายผลจะแหลม
    – ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียวอมขาว เมื่อผลแก่แล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงสดหรือสีแดงปนดำ ก้านช่อผลมีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร
    – ติดผลในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2]
  • เมล็ด
    – ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ประมาณ 2-5 เมล็ด โดยเมล็ดพวกนี้จะเรียงตัวชิดติดกัน
    – ลักษณะรูปทรงของเมล็ดจะเป็นรูปทรงรี

สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโปร่งกิ่ว

  • ตำรายาของไทยจะนำลำต้นมาผสมกับลำต้นของต้นกันแสงและลำต้นของต้นพีพ่าย จากนั้นก็นำส่วนประกอบทั้งหมดมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย และเคล็ดขัดยอก (ลำต้น)[1]
  • นอกจากจะนำมาใช้ทำเป็นสมุนไพรแล้ว ก็ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้เกิดความสวยงาม และอีกทั้งยังนำมาเป็นอาหารของสัตว์ได้อีกด้วย[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โ ป ร่ ง กิ่ ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [26 ก.ย. 2015].
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “โ ป ร่ ง กิ่ ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [26 ก.ย. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://eva.vn/