ปอพราน
ปอพราน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย ประเทศไทยสามารถพบขึ้นได้ทั่วภูมิทุกภาค โดยจะพบตามพื้นที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าละเมาะ แถบชายป่าดิบแล้ง หรือตามพื้นที่รกร้างทั่วไป โดยจะพบที่บริเวณความสูงไม่เกิน 200 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล [1],[2],[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Colona auriculata (Desf.) Craib ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Diplophractum auriculatum Desf.[1] จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย GREWIOIDEAE ชื่ออื่น ๆ ปอปาน (จังหวัดนครราชสีมา), ปอที (จังหวัดอุบลราชธานี), ปอพาน (จังหวัดเชียงใหม่), ขี้หมาแห้ง (จังหวัดสุโขทัย), ปอพราน (จังหวัดจันทบุรี), ปอขี้ตุ่น (จังหวัดอุตรดิตถ์) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของปอพราน
- ต้น
– เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่ม
– ต้นมีความสูง ประมาณ 1-2 เมตร
– เปลือกต้นมีผิวเรียบไร้ขนมีสีเป็นสีน้ำตาลปนเทา และทุกส่วนของต้นมีขนยาวขึ้นปกคลุมอยู่โดยรอบ - ใบ
– ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ตรงปลายใบแหลมถึงเรียวแหลมเป็นติ่ง ส่วนโคนใบเบี้ยวและเป็นรูปติ่งหู และตรงขอบใบมีรอยหยักเป็นฟันเลื่อยซ้อนกันสองชั้น
– ใบนั้นจะออกใกล้กันจนขอบใบซ้อนกัน แผ่นใบมีผิวบางคล้ายกับกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ที่ผิวใบด้านบนมีขนสากขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น
– เส้นใบที่โคนมี 3 เส้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 3-7 เส้น เส้นใบย่อยมีลักษณะคล้ายขั้นบันได และเส้นใบย่อยมีลักษณะเป็นแบบร่างแหสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากทางด้านบน
– ก้านใบมีขนขึ้นปกคลุม ใบมีหูใบเป็นรูปรีถึงรูปสามเหลี่ยม แคบยาว โคนหูใบจะแผ่เป็นแผ่นรูปทรงกลม แต่ละด้านของแผ่นใบนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน[1]
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-20 เซนติเมตร
– ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตร - ดอก
– ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกดอกที่บริเวณตามซอกใบ ซึ่งช่อดอกนี้จะห้อยลงใต้กิ่ง
– ช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่ละกระจุกจะมีดอกอยู่ภายในประมาณ 1-3 ดอก
– ดอกมีลักษณะรูปร่างที่ตูมเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ด้วยกัน 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีสีเป็นสีเหลืองและมีขนปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนผิวด้านในจะมีขนขึ้นปกคลุมที่บางกว่าและมีสีเป็นสีเหลือง แต้มด้วยจุดเล็กสีแดงเป็นประปราย กลีบเลี้ยงจะแยกออกจากกลีบดอกกันอย่างอิสระ
– กลีบดอกนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 5 กลีบ กลีบดอกมีสีเป็นสีเหลืองสด และมีจุดประสีส้มแกมน้ำตาลอยู่ประปราย ลักษณะรูปร่างของกลีบดอกเป็นรูปช้อน ปลายดอกมน กลีบดอกมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 8-9 มิลลิเมตร กลีบดอกมีขนยาวขึ้นปกคลุม ผิวเป็นมัน
– ดอกมีใบประดับย่อยอยู่ 3 ใบ มีลักษณะรูปร่างเป็นรูปส้อม ใบมีสีเหลืองอ่อน และมีสีแดงตามแนวเส้นท่อลำเลียง
– ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูมีผิวเกลี้ยงมีสีเป็นสีขาวอมเหลือง อับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน ดอกมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น และมีช่องอยู่ ซึ่งในแต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ที่ประมาณ 2-4 เมล็ด
– ออกดอกในช่วงเดือนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน[1] - ผล
– ผลมีลักษณะรูปทรงกลม มีรูปร่างรีเกือบกลม หรือเป็นรูปไข่ มีครีบเป็นสันตามยาวอยู่ 5 ครีบ สันมีความกว้างกว่า ½ ของส่วนกลางผล และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น
– ผลมีขนาดความกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว
– ผลแก่จะไม่แตก โดยจะออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[3]
สรรพคุณของต้นปอพราน
- ประเทศลาวจะนำทั้งต้น มาต้มทำเป็นยารักษาโรคบิด และแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[1]
- ตำรับยาพื้นบ้านจะนำผล ไปผสมกับเหง้าของต้นดองดึงและเปลือกต้นของต้นตูมกาขาว นำมาคลุกกับข้าวสำหรับทำเป็นยาเบื่อสุนัข (ผล)[1]
- เส้นใยที่ได้มาจากเปลือก สามารถนำไปใช้ทำเป็นเชือกได้ โดยเชือกที่ได้ถือว่ามีคุณภาพดีเป็นอย่างยิ่ง[1] รวมไปถึงนำมาทำเป็นเครื่องจักสานและเครื่องใช้สอยได้อีกด้วย[2]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ปอ-พราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [25 ก.ย. 2015].
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ปอ-พราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [25 ก.ย. 2015].
3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ปอ-พราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [25 ก.ย. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/