เกล็ดมังกร
เกล็ดมังกร ไม้ล้มลุกที่ใช้การเลื้อยอิงอาศัยต้นไม้อื่น ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เป็นไม้อวบน้ำที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Dischidia minor (Vahl) Merr. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia nummularia R. Br. อยู่วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่วงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE – ASCLEPIADACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เบี้ย (ภาคกลาง), กับม้ามลม (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หญ้าเกล็ดลิ่น (จังหวัดชลบุรี), กระดุมเสื้อ (จังหวัดชัยภูมิ, อุบลราชธานี), อีแปะ (จังหวัดจันทบุรี), ปิติ้ (มลายู-จังหวัดนราธิวาส), เบี้ยไม้ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), กะปอดไม้ (จังหวัดเชียงใหม่-จังหวัดชุมพร), เกล็ดมังกร (ภาคกลาง), เกล็ดลิ่น (จังหวัดชัยภูมิ,จังหวัด อุบลราชธานี) [1],[2],[3]
ลักษณะเกล็ดมังกร
- ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่ลำต้นพันหรือเลื้อยเกาะยึดไปต้นไม้อื่น จะห้อยเป็นสายลง มีความยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ต้นมีรากอยู่ที่ตามลำต้น จะมีน้ำยางสีขาวอยู่ทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มักพบเจอาี่ตามบริเวณป่าเบญจพรรณ ตามป่าทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศ และสามารถพบในต่างประเทศได้ที่ประเทศมาเลเซีย[1],[2],[3]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงเป็นคู่ตรงข้าม ใบเป็นรูปกลม รูปวงรีแกมรูปโล่ มีขนาดเล็ก ที่ปลายใบจะแหลมเป็นติ่ง ส่วนโคนใบจะแหลมและมน ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4-11 มิลลิเมตร ผิวใบของต้นจะเกลี้ยง มีเนื้อใบที่หนา มีก้านใบสั้น สามารถยาวได้แค่ 1-2 มิลลิเมตร ที่ยอดอ่อนกับใบอ่อนจะมีขน[1],[2],[3]
- ดอก ออกเป็นช่อกระจะสั้นที่ตามซอกใบ มีดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ จะมีสมมาตรตามรัศมี มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นสีเขียว กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีขาวแกมเหลืองหรือเป็นสีเขียว ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดเป็นรูปคนโท ที่เป็นหลอดยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ที่เป็นพูกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร จะมีรยางค์เป็นรูปมงกุฎอยู่ 5 อัน แต่ละอันก็จะแยกเป็นพู 2 พู ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน มีเกสรเพศเมียอยู่ 1 อัน จะมีรังไข่ 2 อัน รังไข่อยู่ที่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มีออวุลเป็นจำนวนมาก จะติดตามที่แนวตะเข็บ ก้านเกสรเพศเมียมีอยู่ 2 อัน มียอดเกสรเพศเมีย 1 อัน ออกดอกช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2],[3]
- ผล ผลเป็นฝัก ผลมีลักษณะรูปดาบแกมขอบขนาน จะโค้งนิดหน่อย สามารถยาวได้ประมาณ 5-7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ที่บริเวณเหนือจุดกึ่งกลางจะแหลมและเรียวเป็นจะงอย ส่วนที่ใต้จุดกึ่งกลางจะเป็นรูปรีเบี้ยว แตกตะเข็บเดียว มีเมล็ดอยู่ในฝักเป็นจำนวนมาก เมล็ดแบน ปลายเมล็ดจะมีขนเป็นพู่หรือกระจุกอยู่ ขนเป็นสีขาว[1],[2],[3]
สรรพคุณเกล็ดมังกร
1. ลำต้นสามารถใช้เป็นยาแก้อักเสบ ปวดบวมได้ (ลำต้น)[1]
2. ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนั้นจะใช้ทั้งต้นเข้าในยาแก้โรคตับพิการ (ทั้งต้น)[2]
3. ในตำรายาไทยนั้นใช้ทั้งต้นเป็นยาพิษไข้กาฬ ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[2]
4. สามารถใช้ต้นเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (ทั้งต้น)[2]
5. สามารถใช้ใบสดที่ตำละเอียดแล้วเป็นยาพอกบริเวณแผลพุพองได้ (ใบสด)[1],[2]
6. สามารถใช้เป็นยาแก้พิษตานซางได้ (ทั้งต้น)[2]
สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. พันธุ์ไม้ในสวน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เกล็ด มังกร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [14 มิ.ย. 2015].
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เกล็ด มังกร”. หน้า 75-76.
3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เกล็ด มังกร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [14 มิ.ย. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1. http://hkcww.org/
2. http://stewartia.net/