ตับเต่าต้น
ไม้ยืนต้นผลัดใบ ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวย เนื้อไม้เป็นสองสีคือขาวกับดำสลับไปมา ผลเป็นรูปไข่เกือบกลม หรือรูปกลมป้อม

ตับเต่าต้น

เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวย เนื้อไม้เป็นสองสีคือขาวกับดำสลับไปมา ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Diospyros ehretioides Wall. ex G. Don อยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะไฟผี, มะมัง, ลิ้นกวาง, กากะเลา, ตับเต่าหลวง, มะโกป่า [1],[3]

ลักษณะตับเต่าต้น

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวย เปลือกต้นมีสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาอมขาว เปลือกด้านในจะเป็นสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในพม่าและภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้แทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ มักขึ้นที่ตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังแล้งทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-500 เมตร[1],[2],[4],[5]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปไข่กว้าง รูปขอบขนาน รูปไข่ถึงรูปวงรี ที่ปลายใบจะกลมหรือมน ส่วนที่โคนใบจะกลมหรือคล้ายรูปหัวใจ ใบกว้างประมาณ 7-23 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-28 เซนติเมตร เนื้อใบจะเกลี้ยงและหนา ที่ผิวใบด้านล่างจะมีขนหรือเกือบเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบประมาณ 6-12 คู่ จะเห็นเส้นใบย่อยแบบร่างแหชัด ก้านใบมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และจะมีขนสั้นนุ่ม ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง[1],[2],[4]
  • ดอก เป็นแบบแยกเพศ อยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ดอกจะออกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ที่ตามกิ่งเหนือง่ามใบ ช่อหนึ่งมักมีดอกอยู่ประมาณ 3 ดอก มีกลีบเลี้ยงอยู่ 4 กลีบ กลีบดอกมี 4 กลีบ กลีบดอกจะเป็นรูปไข่หรือรูปคนโท ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ปลายแฉกลึกประมาณ 1/3 ส่วน กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง มีความยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร กลีบแฉกจะลึกประมาณ 1/3 มีที่ขนด้านนอก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีเกสรเพศผู้ประมาณ20-30 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญจะมีขนยาว ก้านดอกมีความยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ดอกเพศเมียดอกจะออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ช่อหนึ่งมี 3-5 ดอก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอกมี 4 กลีบ จะมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า กลีบเลี้ยงแฉกลึกเกือบจะจรดโคน รังไข่มีลักษณะเป็นทรงรี มีขนคล้ายขนแกะ มี 6 ช่อง จะไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน กลีบดอกเป็นสีขาว เป็นรูปคนโท ที่ด้านนอกจะมีขน ด้านในจะเรียบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ออกดอกช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4]
  • ผล เป็นผลสด ผลเป็นรูปเกือบกลม รูปกลมป้อม รูปไข่ ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร จะมีกลีบเลี้ยงที่คงทน มีขนด้านนอก ที่ปลายกลีบจะแฉกเกินกึ่งหนึ่งเกือบจะจรดโคน กลีบจะพับงอเล็กน้อย ก้านผลมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เอนโดสเปิร์มมีลาย ผลแก่แห้งมีสีดำและไม่แตก ผลจะแก่ช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงกันยายน[1],[2],[4]

สรรพคุณของตับเต่าต้น

1. รากสามารถใช้ปรุงเป็นยารักษาแผลเรื้อรังได้ (ราก)[7]
2. นำแก่น 2 กำมือมาต้มให้สตรีหลังคลอดดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ตลอดช่วงอยู่ไฟเป็นยาบำรุงเลือด (แก่น)[1]
3. สามารถใช้เปลือกปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วงได้ (เปลือกต้น)[7]
4. ตำรับยาพื้นบ้านใช้เปลือกต้น ผสมกับลำต้นเฉียงพร้านางแอ ลำต้นหนามแท่ง มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ผิดสำแดง (เปลือกต้น)[1]
5. สามารถใช้เปลือกเป็นยารักษาโรครำมะนาดได้ (เปลือกต้น)[7]
6. ตำรับยาไทยมักใช้ร่วมกับตับเต่าน้อย (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Polyalthia debilis (Pierre) Finet & Gagnep วงศ์ ANNONACEAE) เรียกว่า “ตับเต่าทั้งสอง” แก่นและรากใช้ต้มหรือฝนกินเป็นยาลดไข้ แก้ร้อนใน ดับพิษร้อน แก้พิษทั้งปวง แก้ไข้ แก้พิษไข้ (แก่น, ราก)[1],[4],[5],[7]
7. เปลือกต้นใบ ใช้ผสมกับลำต้นตับเต่าเครือ ใบหรือรากกล้วยเต่า ผักบุ้งร้วมทั้งต้น เอามาบดให้เป็นผงละเอียด ละลายกับน้ำร้อนดื่มใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งในตับ (เปลือกต้น, ใบ)[1]
8. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาใช้เปลือกต้น ผสมกับรากขี้เหล็ก รากสลอด รากหญ้าเรงชอน เอามาต้มกับน้ำดื่มใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[1]
9. ราก ใช้ผสมกับรากโคลงเคลงขน หญ้าชันกาดทั้งต้น เอามาต้มกับน้ำดื่มใช้เป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด (ราก)[1]
10. น้ำต้มจากแก่นกับรากจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด (แก่น, ราก)[4],[5]
11. แก่นกับรากจะมีรสชาติฝาดเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้วัณโรค โดยนำมาต้มกับน้ำกิน (แก่น, ราก)[5]

ประโยชน์ของตับเต่าต้น

1. เนื้อไม้กับเปลือกสามารถใช้ทำเยื่อกระดาษได้[7]
2. นำกิ่งสดมาทุบใช้สีฟันทำให้เหงือกและฟันทน[7]
3. นำผลมาตำผสมกับน้ำเป็นยาเบื่อปลา[1],[7]
4. ลำต้นที่มีขนาดใหญ่ สามารถนำเนื้อไม้มาใช้ทำเครื่องมือขนาดเล็กได้ ใช้สร้างบ้าน ส่วนกิ่งใช้สำหรับทำฟืน[3],[7]
5. ผลใช้สำหรับย้อมสีผ้า[6]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ตับเต่าต้น”. หน้า 92.
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตับเต่าต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [20 ธ.ค. 2014].
3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตับเต่าต้น”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [20 ธ.ค. 2014].
4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตับ เต่า ต้น”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [20 ธ.ค. 2014].
5. สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย. “ตับเต่าทั้งสอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com. [20 ธ.ค.2014].
6. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตับเต่าต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [20 ธ.ค. 2014].
7. พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ตับ เต่า ต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/plant/ตับ เต่า ต้น.pdff. [20 ธ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.picturethisai.com/