หญ้าเหลี่ยม
ต้นหญ้าเหลี่ยม มีเขตการกระจายพันธุ์ที่กว้าง โดยสามารถพบได้ตั้งแต่แถบอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยสามารถพบได้กระจายห่าง ๆ กันในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยส่วนใหญ่มักจะพบขึ้นตามทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง ตามป่าสน และชายป่า จนไปถึงระดับความสูงประมาณ 900 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Exacum tetragonum Roxb. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Exacum bicolor Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ดอกหรีดเขา (GENTIANACEAE)[1],[2] ชื่ออื่น ๆ หญ้าเหลี่ยม (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), นางอั้วโคก (จังหวัดนครราชสีมา), ไส้ปลาไหล (จังหวัดนครพนม), หญ้าหูกระต่าย (จังหวัดเลย), แมลงหวี่ (จังหวัดเพชรบูรณ์), เทียนป่า (จังหวัดปราจีนบุรี) เป็นต้น[1]
ลักษณะต้นหญ้าเหลี่ยม
- ต้น
– จัดเป็นพรรณไม้ประเภทล้มลุก ที่มีอายุเพียงหนึ่งฤดู
– ต้นมีความสูงประมาณ 40-100 เซนติเมตร
– ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ตามลำต้นมีสันเป็นสันสี่เหลี่ยม มองเห็นได้ชัดเจน[1] - ใบ
– เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1-3 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร
– ก้านใบมีขนาดความยาวอยู่ประมาณ 5 มิลลิเมตร หรือบางก้านก็สั้นมากกว่านั้น หรือบางใบก็ไม่มีก้าน[1],[2] - ดอก
– ดอก เป็นช่อแยกแขนงชัดเจน โดยดอกจะออกที่บริเวณตามซอกและปลายกิ่ง
– ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงช่วงเดือนมกราคม
– ดอกย่อยมีเป็นจำนวนมาก ก้านดอกมีความยาวอยู่ที่ 1 เซนติเมตร มีใบประดับที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ ซึ่งมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะเป็นรูปแถบ มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เซนติเมตร
– กลีบเลี้ยงดอกและกลีบดอกมีอย่างละ 4 กลีบ โดยกลีบเลี้ยงจะมีรูปร่างลักษณะเป็นรูปใบหอก มีความยาวได้อยู่ที่ประมาณ 6 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกเรียวแหลม มีครีบเป็นปีกกว้างอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร หลอดกลีบดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 5 มิลลิเมตร
– กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน มีความยาวอยู่ที่ 1.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเรียวแหลม กลีบดอกมีสีเป็นสีขาวอมชมพูหรือเป็นสีม่วงแกมน้ำเงิน และมีสีเข้มช่วงปลายกลีบ
– ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 4 อัน มีก้านชูอับเรณูที่มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ตรงอับเรณูโค้ง มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่มีลักษณะรูปร่างเป็นรูปทรงกลมมีขนาดเล็ก ก้านเกสรเพศเมียมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เซนติเมตร และตรงปลายยอดเกสรมีลักษณะเป็นตุ่ม[1],[2] - ผล
ผลแห้งและสามารถแตกได้ ลักษณะรูปร่างของผลเป็นรูปทรงไข่แกมกระสวยหรือเป็นรูปทรงรีเกือบกลม ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลมีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 3.5 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณต้นหญ้าเหลี่ยม
- ตำรับยาพื้นบ้านของล้านนาจะนำใบมาขยี้ให้แหลก จากนั้นนำมาอุดหูเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการหูน้ำหนวกในเด็กได้ (ใบ)[1]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หญ้าเหลี่ยม”. หน้า 110.
2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หญ้าเหลี่ยม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [02 ต.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://ayurwiki.org/Ayurwiki/Exacum_bicolor_-_Akshipushpi