เดื่อผา ผลรสหวานแต่ไม่นิยม เป็นยาแก้ลมในร่างกาย
เดื่อผา เป็นพรรณไม้พุ่ม ออกดอกตามต้น ผลเป็นผลรวมค่อนข้างกลม ขนยาวแข็งสีน้ำตาล

เดื่อผา

เดื่อผา (Ficus squamosa) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขนุนที่มีผลเป็นอาหารสำหรับชาวเมี่ยนในสมัยก่อน และยังเป็นส่วนประกอบในสะตวงสำหรับพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวไทลื้ออีกด้วย เดื่อผาเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญของชาวล้านนา คนไทยมักจะไม่ค่อยมีใครรู้จักสักเท่าไหร่ ในประเทศไทยมักจะพบในป่าทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ผลของเดื่อผาจะมีขนปกคลุมแน่นซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเดื่อผา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus squamosa Roxb.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เดื่อน้ำ เดื่อโฮเฮ” จังหวัดน่านเรียกว่า “มะหนอดน้ำ สลอดน้ำ” ไทลื้อเรียกว่า “มะเดื่อ” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “เหลาะโคเลเหมาะ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “เดี้ยทงเจี๊ยะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)
ชื่อพ้อง : Ficus laminosa Hardw. ex Roxb., Ficus pyrrhocarpa Kurz, Ficus saemocarpa Miq.

ลักษณะของเดื่อผา

เดื่อผา เป็นพรรณไม้พุ่มที่พบในประเทศเนปาล ภูฏาน สิกขิม ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พม่า ลาว จีนยูนนาน ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือตามโขดหินริมน้ำ ลำห้วย ลำธาร ป่าดิบแล้งและป่าผสมผลัดใบ
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเทาขึ้นปกคลุม มีน้ำยางสีขาวขุ่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเวียนหรือเรียงเกือบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนสีขาวหรือสีน้ำตาลแกมดำ เส้นแขนงใบมีข้างละ 8 – 15 เส้น เส้นใบย่อยมีลักษณะคล้ายขั้นบันได ก้านใบมีขนยาวแข็งสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม
ดอก : ออกดอกตามต้น ดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกมีรูปทรงเกือบกลมจนเกือบคล้ายรูปไข่กลับหรือผลลูกแพร์ มีขนยาวแข็งสีน้ำตาลแกมดำขึ้นปกคลุม มีสันตามยาว 5 สัน มีใบประดับขนาดเล็กเป็นรูปลิ่ม 3 ใบ ติดอยู่บนก้านช่อดอก ดอกร่วงได้ง่ายและมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก
ผล : ผลเป็นผลรวม ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลม เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองแกมดำ ผลมีขนยาวแข็งสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ผลย่อยเป็นแบบผลแห้ง มีเมล็ดล่อนขนาดเล็กจำนวนมาก

สรรพคุณของเดื่อผา

  • สรรพคุณจากราก
    – เป็นยาแก้ลม ตามตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้รากเดื่อผาผสมกับเหง้าว่านน้ำและใบสะค้านมาตำให้เป็นผงเพื่อใช้ละลายกับน้ำแล้วดื่มแก้อาการ

ประโยชน์ของเดื่อผา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ในสมัยก่อนชาวเมี่ยนนำผลมารับประทาน ผลอ่อนและยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ขนมจีนและลาบได้
2. เป็นความเชื่อ ผลใช้เป็นส่วนประกอบในสะตวงสำหรับพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวไทลื้อ

เดื่อผา สามารถนำผลมารับประทานได้ ผลมีรสหวานและรากนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรตามตำรายาพื้นบ้านล้านนา เดื่อผามักจะไม่ค่อยนิยมรับประทานกันเท่าไหร่ในยุคปัจจุบัน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาแก้ลม นอกจากนั้นยังเป็นความเชื่อที่นำผลมาใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวไทลื้ออีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เดื่อผา”. หน้า 113.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เดื่อน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [23 ธ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อผา”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 ธ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อผา, เดื่อน้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 ธ.ค. 2014].