คดสัง แก้โรคในปากและเหงือก แก้นิ่วในไต ดีต่อลำไส้ ชะล้างระบบสืบพันธุ์
คดสัง ดอกสีขาวที่ส่งกลิ่นหอม มีขนคล้ายเส้นไหมสีเทา ยอดและใบอ่อนกินได้ ผลเป็นรูปวงรีแคบ มีครีบปีกแข็ง 4 – 6 ปีก

คดสัง

คดสัง (Combretum trifoliatum Vent) มีดอกสีขาวที่ส่งกลิ่นหอมจากต้นและมีขนคล้ายเส้นไหมสีเทาแผ่ออกทำให้ดูสวยงามและโดดเด่น นิยมนำส่วนของยอดและใบอ่อนมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบหรือก้อย เป็นต้นที่มักจะพบตามบริเวณที่ชุ่มชื้น คดสังสามารถนำส่วนจากต้นมาเป็นยาสมุนไพรเพื่อแก้อาการและรักษาได้ และที่สำคัญคดสังเป็นยาพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของคดสัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Combretum trifoliatum Vent.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กรด” ภาคเหนือเรียกว่า “หญ้ายอดคำ” ภาคใต้เรียกว่า “จุด ชุด สุด” จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคามเรียกว่า “เบน เบ็น” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “เบนน้ำ” จังหวัดนครพนมเรียกว่า “เปือย” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ย่านตุด คดสัง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สมอ (COMBRETACEAE)

ลักษณะของคดสัง

คดสัง เป็นพรรณไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยที่มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
กิ่ง : ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลแกมเหลืองขึ้นปกคลุม เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกที่ข้อเดียวกัน 3 – 5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น โคนใบมนหรือค่อนข้างกลมเล็กน้อย เนื้อใบหนามัน ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีตุ่มหูดหรือมีแถบของขนนุ่มสีน้ำตาลแกมเหลืองพาดขนานตามความยาวของเส้นกลางใบ เส้นใบมีประมาณ 6 – 8 คู่ มีสีน้ำตาลแดงหรือสีสนิมเหล็กและมีขนนุ่ม เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยงและเปลี่ยนเป็นสีดำ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจายที่ปลายยอดหรือออกตามง่ามใบ ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงตอนล่างเชื่อมติดกันเป็นท่อ มีขนคล้ายเส้นไหมสีเทา ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ มีขนหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนนุ่มและหนาแน่น
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปวงรีแคบ ผิวของผลเกลี้ยง มีสีน้ำตาลดำเป็นมัน ไม่มีก้าน มีครีบปีกแข็ง 4 – 6 ปีก ผลเมื่อแห้งจะแข็ง

สรรพคุณของคดสัง

  • สรรพคุณจากผล ถ่ายพยาธิไส้เดือน
    – บำรุงและรักษาเหงือก ด้วยการนำผลมาผสมกับเมล็ดข้าวโพดแล้วทำให้สุก จากนั้นนำมาปั้นเป็นยาลูกกลอนเพื่อเคี้ยวแก้อาการ
    – แก้ปากเปื่อยและเหงือกบวม ด้วยการนำผลมาต้มแล้วเอาน้ำมาอมแก้อาการ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น รักษาโรคบิด ขับพยาธิ
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาอาการตกขาว ชำระล้างอวัยวะสืบพันธุ์ ด้วยการนำรากมาปรุงเป็นยาชง
    – แก้ฝีหนอง ด้วยการนำรากมาฝนแล้วทา
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – แก้นิ่วในไต ยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนำลำต้นมาเข้ายากับแก่นมะขาม เบนน้ำ เพกาและจำปาขาว จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกและราก
    – ยาสมานลำไส้ แก้บิด แก้ท้องร่วง ด้วยการนำเปลือกและรากมาฝนกับน้ำซาวข้าวแล้วดื่ม
    – แก้ปวดท้อง แก้อาการจุกเสียด ด้วยการนำเปลือกและรากมาดองกับเหล้าเพื่อดื่ม

ประโยชน์ของคดสัง

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดหรือใบอ่อนนำมาทานสดเป็นผักร่วมกับลาบและก้อย

คดสัง เป็นต้นที่นำมาเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานี จุดเด่นของต้นอยู่ที่ดอกสีขาวที่มีขนคล้ายเส้นไหมสีเทาแผ่ออกทำให้ดูสวยงามและโดดเด่น อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมชวนให้น่าดมอีกด้วย ในส่วนของการนำมาทานเป็นผักจะนำใบอ่อนและยอดอ่อนของต้นมาทานร่วมกับลาบและก้อย คดสังเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้บิด ขับพยาธิ บำรุงเหงือก แก้นิ่วในไตและรักษาอาการตกขาว และที่สำคัญคือช่วยชะล้างอวัยวะสืบพันธุ์ได้ ถือเป็นต้นที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคลำไส้และผู้ป่วยที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คดสัง”. หน้า 156-157.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คดสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [24 ม.ค. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “เบ็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [24 ม.ค. 2015].