ขี้เหล็กเลือด ดีต่อระบบเลือด แก่นของต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ
ขี้เหล็กเลือด เป็นไม้ยืนต้น กลีบดอกเป็นสีเหลืองสด รสขม ใบอ่อนและดอกตูมนำมารับประทานได้

ขี้เหล็กเลือด

ขี้เหล็กเลือด (Senna timoriensis) เป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อแปลกประหลาดและน่าค้นหา อีกทั้งยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหรือจังหวัดที่แปลกอีกมากมาย เป็นต้นที่มีรสขมแต่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร นอกจากนั้นชาวขมุยังนำเนื้อไม้ไปใช้ในการก่อสร้างและทำฟืนได้ เป็นต้นที่มีดอกสีเหลืองสดและมีผลเป็นฝักยาว สามารถแยกได้ง่ายเมื่อพบเห็น ขี้เหล็กเลือดเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขี้เหล็กเลือด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna timoriensis (DC.) H.S.Irwin & Barneby
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ขี้เหล็กคันชั่ง ขี้เหล็กแดง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ขี้เหล็กดง” ภาคตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “ขี้เหล็กป่า” ภาคใต้เรียกว่า “กะแลงแงน ขี้เหล็กนางชี ขี้เหล็กเลือด ช้าขี้เหล็ก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ขี้เหล็กคันชั่ง ขี้เหล็กตาซี ขี้เหล็กแดง ขี้เหล็กยายชี ขี้เหล็กปันช่าง บี้ตะขะ ช้าขี้เหล็ก ขี้เหล็กแมลงสาบ” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “มะเกลือเลือด” จังหวัดนราธิวาสเรียกว่า “กะแลงแง็น” ชาวละว้าเชียงใหม่เรียกว่า “ปี้ตะขะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “แมะขี้เหละที แมะแคะแหล่ะ” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “จี้ลีหลอย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Cassia timoriensis DC.

ลักษณะของขี้เหล็กเลือด

ขี้เหล็กเลือด เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย มักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าราบ ป่าผลัดใบ ชายป่าที่แห้งแล้ง สองข้างถนนหรือตามเขาหินปูน
เปลือกลำต้น : เป็นสีน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหรือสีเหลืองไปจนถึงสีเหลืองทองขึ้นปกคลุม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกซึ่งออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 10 – 20 คู่ มีขนสั้นนุ่ม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมสั้นหรือเป็นติ่ง โคนใบมนหรือกลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยและสั้น ท้องใบเป็นสีแดง มีหูใบเป็นรูปติ่งหู
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงแบบหลวมโดยจะออกตามซอกใบ ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลม หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกย่อยมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่และปลายกลม มีขนสั้นนุ่มด้านนอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองสดมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ โคนกลีบดอกแหลม มีก้านกลีบสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน รังไข่และก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรมีขนาดเล็ก มักจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักขนาดเล็ก ฝักเป็นรูปแถบ แบนและเกลี้ยง เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม กระเปาะจะแตกได้
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 10 – 30 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปวงรีแบนและเป็นมันวาว โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของขี้เหล็กเลือด

  • สรรพคุณจากแก่น แก้กระษัยหรือโรคของความเสื่อมโทรมทางร่างกายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ รักษาอาการปวดเอว แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นปัตคาดที่อยู่บริเวณท้องน้อยไปจนถึงขาด้านหน้าและด้านหลังซึ่งทำให้แก้หน้าขาตึงได้
    – บำรุงโลหิต รักษาโรคสตรีที่มีโลหิตระดูเสีย เป็นยาขับล้างโลหิต ด้วยการนำแก่นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น แก้โรคหิด

ประโยชน์ของขี้เหล็กเลือด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและดอกตูมนำมารับประทานได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ชาวขมุนำเนื้อไม้หรือกิ่งมาใช้ในการก่อสร้างและนำลำต้นมาทำฟืน
3. ปลูกเป็นไม้เบิกนำ ขี้เหล็กเลือดเจริญเติบโตได้ในดินทั่วไปและทนความแล้งได้ดี

ขี้เหล็กเลือด เป็นต้นที่มีดอกสีเหลืองและมีรสขมโดยเฉพาะแก่นและเปลือกต้น เป็นไม้ยืนต้นที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง สามารถนำใบอ่อนและดอกมารับประทานเป็นผักได้ ขี้เหล็กเลือดมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของเปลือกต้นและแก่น ซึ่งสรรพคุณจะอยู่ที่ส่วนของแก่นมากกว่าส่วนอื่น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคหิด บำรุงเลือด แก้ไตพิการและแก้ปวดเมื่อย ถือเป็นต้นที่เหมาะสำหรับบุคคลที่มีปัญหาต่อระบบเลือดเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ขี้เหล็กเลือด (Kii Lek Lueat)”. หน้า 66.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขี้เหล็กเลือด”. หน้า 145-146.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ขี้เหล็กเลือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [30 ม.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ขี้เหล็กเลือด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [30 ม.ค. 2015].
ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี. “ขี้เหล็กเลือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/. [30 ม.ค. 2015].