ว่านท้องใบม่วง ยาบำรุงกำลังชั้นดี ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้อาหารเป็นพิษ
ว่านท้องใบม่วง หรือว่านใบม่วง มีใบเป็นสีม่วงอยู่ที่ท้องใบ ดอกเป็นสีเหลืองกระจุกแน่น

ว่านท้องใบม่วง

ว่านท้องใบม่วง (Gynura bicolor) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ว่านใบม่วง” มีใบเป็นสีม่วงอยู่ที่ท้องใบจึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ว่านท้องใบม่วง” และยังมีดอกเป็นสีเหลืองกระจุกแน่นโดดเด่นอยู่บนต้น มักจะนำใบหรือยอดมารับประทานในรูปแบบของผักหรือนำมาปรุงอาหารได้ นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรแก้อาการพื้นฐานได้ และเป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของว่านท้องใบม่วง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura bicolor (Roxb. ex Willd.) DC.
ชื่อท้องถิ่น : คนไทยเรียกว่า “ว่านใบม่วง” ชาวม้งเรียกว่า “หย่าเลี้ยะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของว่านท้องใบม่วง

ว่านท้องใบม่วง เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มมีขนทั้งสองด้าน ท้องใบเป็นสีม่วงแดง
ดอก : ออกดอกเดี่ยวเป็นช่อกระจุกแน่นหรือออกเป็นกลุ่ม ดอกย่อยเป็นสีเหลือง
ผล : เป็นผลแห้งและไม่แตก ผิวผลมีหลายสัน

สรรพคุณของว่านท้องใบม่วง

  • สรรพคุณจากใบ
    – บำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำใบมาต้มกับไก่เพื่อกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้อาหารเป็นพิษ แก้อาการปวดท้องหลังการคลอดบุตรของสตรี ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของว่านท้องใบม่วง

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบหรือยอดนำมารับประทานเป็นผักหรือใช้ปรุงเป็นอาหารได้

ว่านท้องใบม่วง เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่มีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ท้องใบซึ่งมีสีม่วงจึงเป็นที่มาของชื่อ เป็นต้นที่นำใบและยอดมารับประทานหรือปรุงในอาหาร ในด้านของสรรพคุณจะเป็นยาสมุนไพรของชาวล้านนา ว่านท้องใบม่วงเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาอยู่ 2 ส่วน คือ ใบและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย แก้อาหารเป็นพิษ แก้อาการปวดท้องหลังการคลอดบุตรของผู้หญิง ถือเป็นยาดีที่เหมาะสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านท้องใบม่วง”. หน้า 122.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ว่านท้องใบม่วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [25 ต.ค. 2014].