พุดทุ่ง
เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก ยางสีขาวขุ่น ดอกสีขาวผิวหนา และดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลเป็นฝักคู่คล้ายดาบ

พุดทุ่ง

ต้นพุดทุ่งเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัดและมักจะเติบโตตามพื้นที่ร่มรำไรสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ดินทราย ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าโกงกาง พบได้ตามที่โล่งแจ้งที่มีความชื้นแฉะ ตามริมถนน และตามทุ่งหญ้าโล่งกว้างทั่วไป[1],[2] ขึ้นเติบโตตั้งแต่บริเวณพี้นที่ที่มีความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 400 เมตร[3] เขตการกระจายพันธุ์ในประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย จนไปถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ชื่อวิทยาศาสตร์ Holarrhena curtisii King & Gamble ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Holarrhena densiflora Ridl., Holarrhena latifolia Ridl., Holarrhena similis Craib จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[2] ชื่ออื่น ๆ พุดป่า (จังหวัดลำปาง), หัศคุณเทศ (จังหวัดพังงา), สรรพคุณ (จังหวัดสงขลา), น้ำนมเสือ (จังหวัดจันทบุรี), นมราชสีห์ นมเสือ (จังหวัดพิษณุโลก), พุดนา (จังหวัดราชบุรี), โมกเกี้ย โมกเตี้ย (จังหวัดสระบุรี), ถั่วหนู พุดน้ำ หัสคุณใหญ่ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), มูกน้อย มูกนั่ง มูกนิ่ง โมกน้อย โมกนั่ง (ในภาคเหนือ), พุดนา (ในภาคกลาง), พุดทอง โมกเตี้ย (ในภาคใต้) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นพุดทุ่ง

  • ต้น
    – เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก
    – ต้นมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร
    – ลักษณะของลำต้น: ลำต้นมีลักษณะรูปร่างตั้งตรง ลำต้นนั้นจะแตกกิ่งก้านในบริเวณที่ต่ำติดกับพื้นดิน
    – เปลือกต้นมีสีเป็นสีน้ำตาลดำ และลำต้นเมื่อกรีดจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นไหลออกมา และถ้าหักกิ่งก้านหรือใบก็จะมีน้ำยางสีขาวขุ่นไหลออกมาเช่นเดียวกัน
    – ลำต้นจะแผ่กิ่งก้านไม่มากนัก กิ่งอ่อนจะมีลักษณะรูปร่างเป็นเหลี่ยมและมีขนสั้นนุ่ม ๆ ขึ้นปกคลุม
    – การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ
    – ใบในลักษณะที่เป็นใบเดี่ยว โดยจะออกใบเรียงตรงข้ามกัน
    – ลักษณะรูปร่างของใบจะเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือเป็นติ่งหนาม ตรงโคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ
    – แผ่นใบมีความหนาคล้ายกับแผ่นหนังของสัตว์ ใบด้านบนจะมีสีเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนใบด้านล่างจะมีสีเป็นสีขาวนวล และใบจะมีขนสีขาวสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมผิวใบทั้งสองด้าน
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-12 เซนติเมตร
    – ใบมีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 12-16 เส้น
    – ก้านใบสั้น โดยมีความยาวเพียง 2-4 เซนติเมตร หรืออาจจะไม่มีก้านใบเลยก็มี[1],[2]
  • ดอก
    – ดอก เป็นช่อแยกแขนงไปตามบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง
    – จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงช่วงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]
    – มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก โดยก้านดอกย่อยจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
    – กลีบดอกเป็นสีขาวมีผิวหนา และดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
    – มีกลีบดอกทั้งสิ้น 5 กลีบ ซึ่งลักษณะรูปร่างของกลีบดอกจะเป็นรูปไข่กลับถึงรูปรี ปลายกลีบกลม มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน แต่ละกลีบดอกจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ 0.4-0.8 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 1.2-2 เซนติเมตร และดอกมีใบประดับที่มีขนาดเล็ก ลักษณะแคบมีความยาวอยู่ที่ 2-5 มิลลิเมตร
    – โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร บริเวณตรงปลายแยกออกอีกเป็นกลีบ 5 กลีบ โดยกลีบเหล่านั้นจะเรียงซ้อนเหลื่อมกันเล็กน้อยซึ่งจะเริ่มเวียนซ้อนกันจากทางขวา
    – กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีลักษณะรูปร่างเป็นรูปแถบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ 0.8-1.2 มิลลิเมตร และความยาวอยู่ที่ประมาณ 2.5-8 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนขึ้นปกคลุมเป็นเล็กน้อยหรืออาจจะมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งสองด้าน
    – ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน ติดอยู่ที่บริเวณใกล้โคนหลอดของดอก ที่โคนก้านของเกสรเพศผู้จะชูอับเรณูที่มีขนขึ้นอยู่ ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีคาร์เพลเชื่อมอยู่ 2 อัน
  • ผล
    – ผล ออกผลเป็นฝักคู่
    – ผลหรือฝัก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมยาว รูปร่างคล้ายดาบ ปลายฝักแหลมชี้ขึ้น
    – ฝักแห้งก็จะแตกออกตามตะเข็บเดียว โดยภายในฝักก็จะมีเมล็ดที่มีสีเป็นสีน้ำตาล และมีขนกระจุกสีขาวคล้ายเส้นไหมปกคลุมอยู่ที่ปลายของเมล็ด[1],[2]
    – ฝักจะมีขนาดความกว้างอยู่ประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-30 เซนติเมตร

สรรพคุณ ประโยชน์ ของต้นพุดทุ่ง

1. เปลือกและราก มีสรรพคุณในการนำมาทำเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (เปลือกและราก)[2]
2. นำมาใช้เป็นยาขับพยาธิได้ (ต้นและราก)[2]
3. ในตำรายาของไทยจะนำส่วนของต้นและรากนำมาเป็นยาขับเลือดและหนองให้ตก (ต้นและราก)[2]
4. ต้นและรากมีสรรพคุณในการนำมาทำเป็นยาขับลม และช่วยกระจายเลือดลม (ต้นและราก)[2]
5. ราก นำมาผสมกับรากของต้นติ้วขน นำไปต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ราก)[1],[2]
6. ราก นำมาผสมกับต้นอ้อยดำ และข้าวสารเจ้า จากนั้นนำมาแช่กับน้ำใช้สำหรับดื่มแก้อาเจียน (ราก)[2]
7. รากนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการแก้บิด แก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด และแก้อาการท้องเสีย (ราก)[1],[2]
8. ต้น สามารถนำใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสำหรับใช้ตกแต่งบ้านได้[3]

ข้อควรรู้ของต้นพุดทุ่ง

  • คนในจังหวัดสงขลาจะเรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้ว่า “สับครุน” โดยหมอยาในจังหวัดสงขลาจะนำยางของต้นสับครุนหรือมาผสมกับน้ำมะนาว แล้วจากนั้นก็นำมาป้ายตรงบริเวณหัวฝีที่บวมเต็มที่แล้ว เพื่อใช้สำหรับปิดหัวฝี ช่วยขับหนองและเลือดที่เน่าเสียออกมาจากฝี (ข้อมูลจาก : plugmet.orgfree.com)

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “พุด ทุ่ง”.  หน้า 141.
2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พุด ทุ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [08 พ.ย. 2014].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “พุด ทุ่ง”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.qsbg.org.  [08 พ.ย. 2014].
 อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.inaturalist.org/
2.https://www.gbif.org/