กระเบากลัก
กระเบากลัก พรรณไม้ผลสีดำน่าพิศวง กับคุณประโยชน์อันมากล้น เป็นไม้ยืนต้นมีขนาดกลาง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมแดง และผิวเรียบ ผลดำขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่

กระเบากลัก

กระเบากลัก ในทางชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnocarpus ilicifolius King[1] ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในวงศ์ ACHARIACEAE

สมุนไพรกระเบากลัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระเบาลิง (ทั่วไป), จ๊าเมี่ยง (แพร่, สระบุรี), กระเบาหิน (อุดรธานี), กระเรียน (ชลบุรี), คมขวาน หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), หัวค่าง (สุราษฎร์ธานี), กระเบียน ขี้มอด (จันทบุรี), กระเบาซาวา (เขมร-จันทบุรี), กระเบาพนม (เขมร-สุรินทร์), ดูกช้าง (กระบี่), บักกรวย พะโลลูตุ้ม (มลายู-ปัตตานี) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกระเบากลัก

  • ต้นกระเบากลัก เป็นพรรณไม้ยืนต้นมีขนาดกลาง ตรงส่วนของลำต้นนั้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมแดง และผิวเรียบ ส่วนตามกิ่งอ่อนนั้นมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม กิ่งที่แก่แล้วจะเกลี้ยง ชอบน้ำปานกลางและแสงแดดแบบครึ่งวัน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะกล้าจากเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน และแหลมมลายู ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ส่วนใหญ่มักขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ตามเขาหินปูน และบริเวณที่ใกล้ชายทะเล ขึ้นตามพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 800 เมตร[1],[2],[3]
  • ใบกระเบากลัก เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนานหรือมีรูปใบหอก ตรงปลายใบเป็นใบเรียวหรือค่อนข้างเรียวแหลม โคนใบนั้นมน หรือสอบ ส่วนขอบใบจะหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ช่วงปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-16 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร หลังใบลักษณะเรียบเป็นมันมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบ มีเส้นแขนงใบเยื้องกันข้างละ 7-10 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเป็นรูปร่างแห ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งสองด้าน[1],[2],[3]
  • ดอกกระเบากลัก เป็นดอกแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-10 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลแดง ส่วนดอกย่อยเป็นสีขาวหรือมีสีเหลืองอมเขียว มีกลีบดอก 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายจะตัด ความยาวจะไล่เลี่ยกับกลีบเลี้ยง มีขนที่ปลายกลีบ ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ส่วนที่โคนก้านด้านในมีเกล็ดรูปเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ มีรูปร่างลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้มีเกสรประมาณ 14-20 อัน ก้านชูอับเรณูมีขนาดสั้น มีขน ส่วนดอกเพศเมียนั้นมีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์จำนวน 15 อัน รังไข่เป็นรูปไข่ มีขนสีน้ำตาลแดง ที่ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 4 แฉก[1],[2],[3]
  • ผลกระเบากลัก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 4-8 เซนติเมตร เปลือกผลนั้นแข็ง ผิวเรียบและมีขนนุ่มสีดำ สีน้ำตาลดำ หรือสีน้ำตาลแดง ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ ภายในผลนั้นมีเมล็ดสีขาว มีเนื้อหุ้มเมล็ดอัดกันแน่นรวมกันประมาณ 10-15 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.3-2.2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

สรรพคุณของกระเบากลัก

1. ใบสามารถใช้เป็นยาแก้พิษบาดแผล ฆ่าพยาธิบาดแผล และแก้กลากเกลื้อนได้ (ใบ)[1],[2]
2. ผลนั้นสามารถเป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน มะเร็ง และคุดทะราดได้ (ผล, เมล็ด)[1],[2],[4]
3. ส่วนเมล็ดนั้นใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[4]
4. รากและเนื้อไม้นำมาใช้เป็นยาดับพิษทั้งปวง และแก้เสมหะเป็นพิษ (รากและเนื้อไม้)[1],[2]
5. บางข้อมูลระบุว่า เมล็ดนอกจากจะใช้ทำเป็นยาถ่ายพยาธิได้แล้ว ยังใช้เป็นยารักษาโรคผมร่วงได้อีกด้วย (ไม่มีอ้างอิง)

ประโยชน์ของกระเบากลัก

1. ส่วนผลนั้นรับประทานได้ ลิงจะชอบกินเป็นพิเศษ[5]
2. ต้นกระเบากลักจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กมีรูปทรงที่สง่างาม เรือนยอดกลม และแผ่นใบหนา มีผลสีดำกำมะหยี่ดูสวยงาม เป็นไม้ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี จะนำไปปลูกตกแต่งบริเวณบ้าน สวนหย่อม หรือที่ทำการก็ได้ สามารถปลูกได้ตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงภูเขาที่ไม่สูงมากนัก[5]
3. ส่วนของเมล็ดจะนำไปบดเพื่อสกัดเอาน้ำมัน ที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่ น้ำมันใส่ผม เทียนไข น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ[4]
4. เนื้อไม้มีประโยชน์ในงานก่อสร้างอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำเป็นกระดาน เครื่องจักสาน เครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ และยังสามารถใช้ทำเป็นฟืนหรือถ่านได้อีกด้วย[4],[5]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กระเบากลัก (Kra Bao Klak)”. หน้า 33.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กระเบากลัก”. หน้า 60.
3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเบากลัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [27 มิ.ย. 2015].
4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กระเบากลัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [27 มิ.ย. 2015].
5. เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม. “กระเบากลัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thongthailand.com. [27 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.biogang.net (by so_sick, scoopy), www.magnoliathailand.com (by ღ(•ิ_•ิ)ღปิ่งปิ๊ง, ป้ากระต่าย)

รูปอ้างอิง
1.https://www.ydhvn.com/news/cay-duoc-lieu-cay-lo-noi-o-ro-son-den-chum-bao-gia-da-trang-hydnocarpus-ilicifolia-king
รูปจาก khaohinsonbg.org