กระเบา
กระเบา สมุนไพรใช้รักษาโรคผิวหนัง เมล็ดใช้รักษาส่วนมากจะใช้เป็นยาภายนอก เนื้อผลสุกกินเป็นอาหาร ใบกับเมล็ดนำมาต้มน้ำหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์จะเป็นพิษ

กระเบา

ชื่อสามัญของกระเบา คือ Chaulmoogra[3]
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของกระเบา คือ Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness[1] อยู่ในวงศ์ ACHARIACEAE
ชื่อกระเบาของท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ดงกะเปา กระเบาเบ้าแข็ง กระเบาน้ำ ตัวโฮ่งจี๊ หัวค่าง กระเบาข้าวแข็ง กระเบาใหญ่ มะกูลอ กระเบาข้าวเหนียว เบา กระเบาตึก กาหลง ต้าเฟิงจื่อ กระตงดง แก้วกาหลง กุลา

ลักษณะ

  • ต้นของกระเบา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 เมตร สูงโปร่ง ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกลำต้นจะเรียบ มีสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด ประเทศไทยสามารถพบเจอได้ทุกภาคที่ตามป่าดิบตามป่าบุ่ง ป่าทามที่สูงจากระดับน้ำทะเล 30-1,300 เมตร[1],[2],[4],[6],[7],[11]
  • ใบของกระเบา เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปรียาวแกมรูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะมน ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบจะเรียบและเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม ท้องใบจะเรียบไม่ลื่น มีสีอ่อนกว่าหลังใบ เนื้อใบทึบแข็งกรอบ มีเส้นใบ 8-10 คู่ เส้นใบย่อยจะสานกันเป็นลายร่างแห ใบอ่อนจะมีสีชมพูแดง ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 10-30 เซนติเมตร[1],[2],[4],[11]
  • ดอกของกระเบา เป็นดอกแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ต้นตัวผู้เรียกว่าแก้วกาหลง ต้นตัวเมียเรียกว่ากระเบา[10] เป็นดอกเดี่ยว ดอกออกที่ตามซอกใบ บ้างก็ว่าดอกออกเป็นช่อสีขาวนวล ช่อหนึ่งมีดอก 5-10 ดอก มีกลิ่นหอม มีเกสรเพศผู้อยู่ 5 ก้าน[4] ดอกเพศผู้มีสีชมพู มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ มีขนอยู่ ดอกเพศเมียดอกออกเป็นช่อที่ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงกับกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้[1],[2],[5] ดอกออกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[6],[11] บางคนก็ว่าดอกออกช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน[7]
  • ผลของกระเบา มีลักษณะกลม ผลใหญ่ ผลกว้าง 8-12 เซนติเมตร เปลือกผลจะหนาและแข็งมีสีน้ำตาล ผิวผลจะมีขนคล้ายกับกำมะหยี่สีน้ำตาล เนื้อผลมีสีขาวอมเหลือง ในผลมีเมล็ดสีดำรวมกันประมาณ 30-50 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปรีหรือรูปไข่เบี้ยว ปลายจะมนทั้งสองข้าง กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-1.9 เซนติเมตร[1],[2],[4],[11] ติดผลช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน จะเป็นผลช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[6],[11]

สรรพคุณของกระเบา

  • สามารถนำเมล็ดมาหุงเป็นน้ำมันทาภายนอก ใช้ทาผมและรักษาโรคผมร่วง[1],[2]
  • สามารถใช้ปรุงเป็นยารักษาอีสุกอีใสได้ โดยใช้กระเบา 50 กรัม กระเทียม 20 กรัม มาตำผสมน้ำ 100 cc. แล้วต้มให้เดือด 5 นาที แล้วใช้ทาแผลตามร่างกาย จากการทดลองในคนไข้ 50 คน และทาเพียงครั้งเดียวพบว่าคนไข้ทั้งหมดมีอาการดีขึ้น (เข้าใจว่าใช้ส่วนของเมล็ดของกระเบา)[4]
  • ผลกับเมล็ดจะมีรสเมาเบื่อมัน สามารถใช้แก้โรคผิวหนังต่างๆ[1],[2] ตำรายาไทยใช้น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดเพื่อใช้รักษาโรคผิวหนังอื่นๆ[3] หรือใช้เมล็ด 5-10 เมล็ด มาแกะเปลือกออกมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำมันพืชลงไปพอควร คลุกให้เข้ากัน นำมาใช้ทาแก้โรคผิวหนัง[4]
  • ใบจะมีรสเบื่อเบา สามารถใช้ฆ่าพยาธิบาดแผลได้[1],[2]
  • สามารถช่วยรักษาบาดแผลได้ (รากกับเนื้อไม้)[1],[2]
  • สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้ (เมล็ด)[11]
  • สามารถช่วยดับพิษทั้งปวง (รากกับเนื้อไม้)[1],[2]
  • ผลสามารถใช้รักษามะเร็งได้[1],[2]
  • สามารถใช้แก้อาการปวดบวมตามข้อได้ (น้ำมันที่ได้จากเมล็ด)[5],[7]
  • ผลสามารถช่วยรักษาโรคเรื้อนได้[1],[2] ตำรายาไทยระบุว่าใช้น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดในการรักษาโรคเรื้อน[3] หรือใช้น้ำมันจากเมล็ด 3 มล. น้ำ 160 มล. น้ำนมอุ่น 30 มล. น้ำเชื่อม 40 มล. มาผสมกัน ดื่มหลังอาหารวันละ 3 เวลา ช่วยแก้โรคเรื้อนได้[4]
  • สามารถใช้ใบแก้กลากเกลื้อนได้[1],[2] สามารถใช้เมล็ดเป็นยาแก้กลากเกลื้อนได้ และช่วยแก้หิดได้[4]
    สามารถช่วยแก้พิษบาดแผลสดได้ (ใบ)[2]
  • รากกับเนื้อไม้จะมีรสเบื่อเมา สามารถช่วยฆ่าพยาธิผิวหนังต่าง ๆ ได้[1],[2]
  • สามารถช่วยแก้เสมหะเป็นพิษได้ (รากกับเนื้อไม้)[1],[2]
  • เมล็ดจะมีรสเผ็ดร้อนและขม สามารถใช้เป็นยาร้อน มีพิษ ออกฤทธิ์กับตับ ม้าม ไต สามารถใช้เป็นยาขับลม ขับพิษได้[4]

ประโยชน์ของกระเบา

  • กระเบาเป็นต้นไม้ที่ไม่ใหญ่มาก สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ ต้นจะมีเรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ไม่ผลัดใบ สามารถให้ร่มเงาได้ทั้งปี และช่วงการแตกใบอ่อนสีชมพูแดงจะมีสีสันสวยมาก ดอกถึงจะมีขนาดเล็กแต่มีกลิ่นหอมแรง มีผลที่ใหญ่คล้ายผลทองดูสวยงาม[11]
  • ชาวพิจิตรใช้เมล็ดกระเบามาตำให้ละเอียดแล้วให้สุนัขกลืนแบบดิบ ๆ ช่วยทำให้สุนัขที่เป็นโรคเรื้อนหายเป็นปกติจนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ เมล็ดมีฤทธิ์ที่ทำให้เมา ไม่ควรใช้เยอะ[6]
  • น้ำมันที่ได้จากเมล็ดสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นน้ำมันสำหรับใส่ผมเพื่อรักษาโรคบนหนังศีรษะได้[5]
  • ผลแก่ที่สุกสามารถทานเนื้อเป็นอาหารได้ เนื้อจะนุ่ม มีรสหวานมันคล้ายเผือกต้ม[5],[6]
  • เนื้อไม้กระเบาจะมีสีแดงแกมสีน้ำตาลเมื่อตัดใหม่ นานไปจะมีสีน้ำตาลอมสีเทา เนื้อไม้จะเป็นเสี้ยนตรง เนื้อไม้ละเอียด และสม่ำเสมอ แข็ง ผ่าเลื่อยง่าย สามารถใช้ในงานก่อสร้าง ทำกระดานพื้นบ้านได้[6]
  • น้ำมันที่ได้จากเมล็ดกระเบา (Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) สามารถนำไปดัดแปลงทางเคมี ใช้เป็นยาทาภายนอก ยาฉีด ยารับประทาน เพื่อใช้บำบัดโรคผิวหนังและฆ่าเชื้อโรคได้ เช่น นำไปใช้บำบัดโรคเรื้อน โรคเรื้อนกวาง หิด คุดทะราด โรคผิวหนังผื่นคันที่มีตัวทุกชนิด และนำไปใช้รักษามะเร็งได้[5]
  • ผลเป็นอาหารของลิงกับปลา มีรสชาติมัน มีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล[9],[11]

สิ่งที่ควรรู้และข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระเบา

  • ใบกับเมล็ดของกระเบาจะเป็นพิษ มีสาร Cyanogenetic glycoside [5] พิษเฉียบพลันของเมล็ดกระเบา ถ้านำเมล็ดมาต้มน้ำหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์ นำไปฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะรู้สึกปวดแสบ และทำให้เซลล์กล้ามเนื้อตายด้านอย่างเฉียบพลัน ถ้าทานมากเกินไป จะทำให้อาเจียนปวดท้อง ปวดลำไส้ ทำให้ไตอักเสบ ปัสสาวะมีโปรตีน ปัสสาวะเป็นเลือด[4]
  • น้ำมันที่ได้จากเมล็ดกระเบาในสมัยก่อนสามารถใช้รักษาโรคเรื้อนได้นานพอควร และใช้รักษาเชื้อราของโรคผิวหนังต่าง ๆ ได้ด้วย[4] มีรายงานวิจัยระบุว่าน้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดกระเบาโดยที่ไม่ใช้ความร้อน จะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคเรื้อนกับวัณโรค[3]
  • กระเบาจะมีฤทธิ์กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ยับยั้งมะเร็ง ยับยั้งมดลูกบีบตัว ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร แก้ไข้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ คล้ายกล้ามเนื้อเรียบ รักษาวัณโรค รักษาโรคเรื้อน ทำให้อักเสบ[11]
  • เมล็ดกระเบาส่วนมากจะใช้เป็นยาภายนอก ถ้าต้องการใช้ผสมกับตำราอื่นเพื่อทาน ต้องมีวิธีการกำจัดพิษในเมล็ดก่อนนำมาใช้ ห้ามทานเกินที่กำหนด[4]
  • น้ำมันที่ได้จากเมล็ด ใช้ฉีดเข้าในผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ซึมผ่านแผล (Direct infusion) ครั้งแรกให้ใช้ 0.5 มล. ต่อมาใช้ 1 มล. อาทิตย์ละครั้ง ใช้ฉีดน้ำมันใส่ผม ช่วยรักษาผิวหนังบนศีรษะ รักษาคุดทะราด ใช้เป็นยาแก้มะเร็ง[4]
  • การใช้สาร Hydnocarpic acid จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนมากกว่าสาร Chaulmoograte ถ้านำมาใช้ร่วมกับ Chaulmoograte จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนดีกว่า[4]
  • น้ำมันที่ได้จากเมล็ดจะมีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิไส้เดือน กระตุ้นการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง[8] เมล็ดกับใบสดจะมีสาร Hydrocyanic acid เมล็ดมีน้ำมันระเหย 20-25% มีน้ำมันที่เป็น Glycerides oil ของ Chaulmoogric acid, Cyclopentenylglycine, Hydnocarpic acid, Alepric acid, Aleprolic acid, Aleprylic acid, Gorlic acid[4]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กระเบาใหญ่ (Kra Bao Yai)” (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 34.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “กระเบาใหญ่”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 61.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “กระเบา”. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 122.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “กระเบาน้ำ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 40.
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเบาน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [01 ก.พ. 2014].
รอบรู้สมุนไพร, โรงเรียนบางสะพานวิทยา. “กระเบา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bspwit.ac.th. [01 ก.พ. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.
พืชสมุนไพรโตนงาช้าง, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กระเบาใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th. [01 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “กระเบา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [01 ก.พ. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “กระเบา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [01 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเบาใหญ่”. อ้างอิงใน: thaimedicinalplant.com. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [01 ก.พ. 2014].

อ้างอิงรูป
https://www.phakhaolao.la/en/kb/0000187
https://www.floraofbangladesh.com/2018/10/chalmugra-or-dalmugri-hydnocarpus-kurzii.html