หญ้าไข่เหา ทั้งต้นรสขมเย็น เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในและบำรุงธาตุ
หญ้าไข่เหา เป็นพรรณไม้ล้มลุก ออกดอกเป็นช่อห่าง ๆ สีเหลืองอ่อนเป็นตุ่มกลมเล็ก ผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม

หญ้าไข่เหา

หญ้าไข่เหา (Itch flower) เป็นพรรณไม้ล้มลุกซึ่งเป็นต้นที่มีลักษณะคล้ายหญ้าซึ่งพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีดอกเป็นสีเหลืองอ่อนเล็ก ๆ ชวนให้ดูน่ารัก เป็นต้นที่ไม่คาดคิดว่าจะมีประโยชน์แต่ใบและดอกอ่อนสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ทั้งต้นมีรสขมเย็นจึงมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำมาใช้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งด้วย หญ้าไข่เหาเป็นชื่อที่คนทางเหนือนิยมเรียกกันแต่ก็มีชื่อเรียกในจังหวัดอื่นด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหญ้าไข่เหา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mollugo pentaphylla L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Itch flower”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หญ้าไข่เหา” จังหวัดตราดเรียกว่า “หญ้าตีนนก” จังหวัดชัยนาทเรียกว่า “หญ้านกเขา” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “สร้อยนกเขา” หรือหญ้าฝรั่ง
ชื่อวงศ์ : วงศ์สะเดาดิน (MOLLUGINACEAE)

ลักษณะของหญ้าไข่เหา

หญ้าไข่เหา เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกรอบข้อเป็นกระจุกละ 2 – 4 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียวหรือรูปวงรีขนาดเล็ก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อห่าง ๆ โดยจะออกตามปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอ่อนเป็นตุ่มกลมเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ ก้านชูช่อดอกยาว
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็น 3 เสี่ยง ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาล

สรรพคุณของหญ้าไข่เหา

  • สรรพคุณจากทั้งต้นและลำต้น เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาระบายท้อง แก้ริดสีดวงทวาร เป็นยาแก้ดีพิการ
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้จับสั่น
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้รำมะนาด โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำทั้งต้นมาขยี้ผสมกับเกลือใช้อุดฟัน

ประโยชน์ของหญ้าไข่เหา

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบและดอกอ่อนนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารอย่างพวกแกงป่าและแกงใส่ปลาร้าได้

หญ้าไข่เหา เป็นต้นที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนลักษณะตุ่มกลมเล็ก ทั้งต้นมีรสขมเย็นจึงมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยแก้ไข้จับสั่นหรือลดความร้อนในร่างกายได้ นิยมนำดอกอ่อนและใบมาปรุงเป็นอาหารอย่างพวกแกงป่าและแกงใส่ปลาร้า หญ้าไข่เหามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะทั้งต้นและลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ริดสีดวงทวารและบำรุงธาตุ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หญ้าไข่เหา (Ya Khai Hao)”. หน้า 314.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้าไข่เหา”. หน้า 801-802.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “หญ้าไข่เหา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [03 ก.ย. 2014].
สวนสวรส. “หญ้าไข่เหา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.suansavarose.com. [03 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/