กาสามปีก เป็นยาแก้ไข้ ช่วยบำรุงหัวใจ แก้นิ่วและปัสสาวะเป็นเลือด
กาสามปีก เป็นพรรณไม้ยืนต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ร่วงง่าย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

กาสามปีก

กาสามปีก (Vitex peduncularis Wall) เป็นต้นไม้ที่มักจะพบตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั่วไป มีชื่อเรียกที่หลากหลายมากตามแต่พื้นที่ ดอกมีกลิ่นหอมและส่วนมากมักจะนิยมปลูกในสวน ส่วนของใบกาสามปีกจะนำมารับประทานเป็นผัก ชาวเมี่ยนจะนำใบมาดื่มเป็นชาและชาวปากีสถานนำใบกับผลมารับประทาน เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของยาสมุนไพรได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกาสามปีก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vitex peduncularis Wall. ex Schauerr
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กาสามซีก กาสามปีก ตีนกา สมอบ่วง” ภาคเหนือเรียกว่า “กาสามปีก กาจับหลัก ตีนนกผู้ มะยางห้าชั้น” ภาคตะวันออกเรียกว่า “โคนสมอ ตีนนก สมอตีนเป็ด สมอหวอง” ภาคใต้เรียกว่า “นน สมอตีนเป็ด” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ตีนนกผู้ มะยาง ห้าชั้น” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “สวองหิน” จังหวัดนครราชสีมาและลพบุรีเรียกว่า “ไข่เน่า” จังหวัดลพบุรีเรียกว่า “เน่า” จังหวัดนครปฐมเรียกว่า “ขี้มอด” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “แคตีนนก” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “กะพุน ตะพรุน” จังหวัดตราดเรียกว่า “ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม สะพุนทอง” จังหวัดราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “กานน สมอกานน สมอตีนนก สมอหิน” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “สมอป่า สมอหิน” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “นนเด็น” จังหวัดสตูลเรียกว่า “ตาโหลน” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปะถั่งมิ เปอต่อเหมะ” ชาวมาเลเซียนราธิวาสเรียกว่า “ลือแบ ลือแม” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ไม้เรียง” ชาวขมุเรียกว่า “ตุ๊ดอางแลง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE – LABIATAE)

ลักษณะของกาสามปีก

กาสามปีก เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในภาคเหนือของปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย มักจะพบในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพและป่าชายหาด
เปลือกต้น : เป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือดำ กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนอ่อนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปวงรีหรือเป็นรูปคล้ายใบหอก ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นประปราย ใบแก่ด้านบนจะเรียบเกลี้ยงส่วนด้านล่างมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อโดยจะออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ดอกร่วงได้ง่ายและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันเป็นรูปกรวย ที่ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก แฉกด้านล่างมักจะมีขนาดใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ
ผล : ผลมีลักษณะกลม ฝาปิดขั้วผลมีขนาดกว้างประมาณ 1 ใน 4 ของตัวผล มีเนื้อหุ้มเมล็ดบาง ๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็งมาก

สรรพคุณของกาสามปีก

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาบำรุงหัวใจ
    – เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้ เป็นยาแก้ปัสสาวะดำหรือปัสสาวะเป็นเลือด
  • สรรพคุณจากใบและเปลือก
    – เป็นยาลดไข้ ด้วยการนำใบและเปลือกมาต้มแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากต้น ราก ใบ เป็นยารักษาโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย

ประโยชน์ของกาสามปีก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นผัก ชาวเมี่ยนนำใบมาต้มแล้วตากแห้งเพื่อดื่มเป็นชา ชาวปากีสถานนำใบและผลมารับประทาน
2. ใช้ในการก่อสร้าง เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไปอย่างทำเสา พื้น กระดาน ครก สาก พานท้าย รอด ตง พาย กรรเชียง รางปืน ฟืน ซึ่งเนื้อไม้กาสามปีกยังเหมาะสำหรับใช้ในการแกะสลักอีกด้วย

กาสามปีก ค่อนข้างมีใบเป็นที่นิยมสำหรับชาวปากีสถาน ชาวอินเดียและชาวเมี่ยน ซึ่งชาวอินเดียเชื่อว่าน้ำจากใบกาสามปีกมีสรรพคุณทางยา ส่วนคนไทยก็นำใบมารับประทานเช่นกัน นอกจากนั้นดอกยังมีกลิ่นหอมชวนให้รู้สึกดี เป็นต้นที่มีชื่อเรียกตามที่ต่าง ๆ มากมายจนน่าสับสน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือดและเป็นยาลดไข้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ตีนนก”. หน้า 99.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กาสามปีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [16 ก.ค. 2015].
การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ตีนนก / สวอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [16 ก.ค. 2015].
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กาสามปีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [16 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กาสามปีก, ตีนนก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [16 ก.ค. 2015].