เลือดควายใบใหญ่
ไม้ยืนต้นใบเดี่ยว ดอกเป็นช่อสั้นขนาดเล็กสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ผลมีขนสีน้ำตาล เยื่อหุ้มของเมล็ดสีแดงหรือสีแดงแกมสีส้ม

เลือดควายใบใหญ่

ต้นเลือดควายใบใหญ่ พบได้ในป่าพรุทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศจะสามารถพบได้ที่ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย[1],[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Knema furfuracea (Hook. f. & Thomson) Warb. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ ไม่ระบุ จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์จันทน์เทศ (MYRISTICACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ (จังหวัดนครศรีธรรมราช), เลือดควาย (จังหวัดตรัง), จันทร์ดง (จังหวัดยะลา), สานแดง แปงู (ชาวมลายู-นราธิวาส), ลำเลือด (ชาวลั้วะ), ด่งฉาง (ชาวม้ง), ตุ๊ดไลมาม (ชาวขมุ), เดี่ยงหย้าม (เมี่ยน) [1],[2],[3]

ลักษณะต้นเลือดควายใบใหญ่

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้น
    – ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร หรืออาจจะมากกว่า ตรงบริเวณโคนต้นมีรากค้ำยันมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 1-2 เมตร
    – ใบใหญ่มีเรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม
    – ลำต้นแผ่กิ่งก้านขนานกับพื้นดิน ตรงยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ภายในมียางสีแดง
    – เปลือกลำต้นมีสีเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของลำต้นจะมีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว เปลือกชั้นในจะมีสีเป็นสีส้ม
    – โคนของต้นมีรากค้ำยันสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณรอบโคนต้นจะมีรากลักษณะรูปร่างคล้ายกับบ่วงครึ่งวงกลมโผล่ขึ้นมา
  • ใบ
    – มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับกัน
    – ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน ใบทู่ หรือมีรอยหยักเว้าเล็กน้อย ตรงบริเวณโคนใบมนหรือสอบ ใบมีเส้นแขนงประมาณ 10-12 คู่
    – แผ่นใบมีผิวที่หนา ผิวใบด้านบนจะเกลี้ยงมีสีเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนผิวใบด้านล่างหรือตรงท้องใบจะมีขุยสีขาว ๆ ปกคลุมอยู่[1],[3]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3-14 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 10-50 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.4-2 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอก ออกเป็นช่อสั้น ๆ บริเวณตามซอกใบด้านหลัง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงช่วงเดือนมิถุนายน[1],[3]
    – ดอกมีขนาดเล็กมีสีเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน
    – ดอกเป็นดอกแบบแยกเพศ โดยดอกเพศผู้จะมีกาบที่ก้าน เป็นกาบที่มีขนาดเล็ก ส่วนดอกเพศเมียมีจุดสังเกตที่กลีบดอกด้านนอกจะมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ต่างจากกลีบดอกของเกสรเพศผู้ และภายในดอกจะมีสีแดงสด มีขนปกคลุมอยู่ภายใน
  • ผล
    – ผล มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ ปลายผลมน มีขนาดอยู่ที่ประมาณ 3.4-4.5 เซนติเมตร
    – บริเวณผิวผลมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก
    – ผลจะแก่ตัวลงในช่วงเดือนสิงหาคมถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน[1],[3]
  • เมล็ด
    – เมล็ดเดี่ยวอยู่ภายใน เยื่อหุ้มของเมล็ดมีสีเป็นสีแดงหรือสีแดงแกมสีส้ม

สรรพคุณ และประโยชน์เลือดควายใบใหญ่

1. ใบ นำมาทำเป็นยาใช้สำหรับในการรักษาสิวได้ (ใบ)[1]
2. ลำต้นและกิ่งก้าน นำเอามาใช้ทำเป็นฟืนได้[2]
3. เนื้อไม้ นิยมนำมาใช้สำหรับก่อสร้างอาคารบ้านเรือนไว้สำหรับอยู่อาศัย นำมาใช้ทำเป็นคอกหมู หรือนำมาใช้สำหรับทำหน้าไม้ เป็นต้น[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “เลือด ควาย ใบ ใหญ่”.  หน้า 171.
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เลือด ควาย ใบ ใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [26 ต.ค. 2014].
3. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “เลือด ควาย ใบ ใหญ่”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [26 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/
2.https://www.dieutri.vn/
3.https://www.inaturalist.org/