สกุณี
ต้นสกุณี เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ขึ้นได้ทั่วไปในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงแถบฟิลิปปินส์และนิวกินี ประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ เจริญเติบโตในพื้นที่ระดับต่ำที่มีความสูงไม่เกิน 200 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3],[4] เจริญเติบโตได้ดีในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ชื่อสามัญ Philippine almond, Yellow terminalia[4] ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia calamansanay Rolfe จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[2],[4] ชื่ออื่น ๆ แหนแดง (ภาคเหนือ), ประคำขี้ควาย (ภาคใต้), ตาโหลน (จังหวัดสตูล), แฮ้น (จังหวัดนครสวรรค์และชุมพร), สัตคุณี (จังหวัดราชบุรี), ตีนนก (จังหวัดจันทบุรีและตราด), ขี้มอด (จังหวัดนครปฐม), เปียแคร้ (เขมร-จันทบุรี) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นสกุณี
- ต้น
– จัดให้เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีขนาดกลางจนถึงไปขนาดใหญ่
– ต้นมีความสูง: ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 8-30 เมตร
– ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น โดยจะแผ่กิ่งเป็นวงกว้างแบนและมักจะมีพูพอนขนาดเล็กที่โคนต้น
– เปลือกต้นภายนอกมีสีน้ำตาลอมเทา และมีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ส่วนเปลือกต้นด้านในจะเป็นสีน้ำตาล
– กิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุมหรือบางกิ่งอาจจะไม่มีขน และต้นจะทิ้งใบในช่วงเวลาสั้น ๆ
– ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและการใช้เมล็ด - ใบ
– ใบเป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงเวียนสลับกันที่บริเวณตามข้อต้นอัดเรียงกันแน่นใกล้กับปลายกิ่ง
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลม ตรงโคนใบสอบแคบ
– แผ่นใบมีผิวค่อนข้างหนาคล้ายกับแผ่นหนัง มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมผิวใบทั้งสองด้าน หลังใบด้านบนมีผิวเป็นมันเงาและมีตุ่มขนาดเล็กขึ้นอยู่บนผิวใบ ส่วนท้องใบด้านล่างผิวนวลมีสีน้ำตาลเทา
– เส้นกลางใบจะนูนขึ้นด้านบน ใบมีเส้นแขนงใบข้างละ 6-8 เส้น โค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ส่วนเส้นใบย่อยนั้นจะเป็นแบบขั้นบันได และมักจะมีต่อมหนึ่งคู่อยู่บริเวณที่ตรงกึ่งกลางก้านใบหรือบริเวณที่ใกล้กับโคนใบ
– ก่อนที่ใบจะร่วงหล่นจากต้นจนหมด ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง[1],[2],[4]
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3-8 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 9-18 เซนติเมตร
– ก้านใบเรียวมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-4 เซนติเมตร และต่อมมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร - ดอก
– ออกดอกในลักษณะที่เป็นแกนช่อตามบริเวณที่ซอกใบและที่ปลายยอด โดยดอกจะออกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงช่วงเดือนธันวาคม[1],[2],[3],[4]
– ช่อดอกเป็นลักษณะแบบช่อเชิงลด และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ด้วย มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 8-16 เซนติเมตร
– ดอกมีสีเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง ดอกมีกลิ่นที่เหม็น ไม่มีกลีบดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร
– กลีบเลี้ยงที่โคนจะเชื่อมติดกัน ส่วนปลายจะแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ รูปร่างของกลีบจะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ด้านในมีขนยาวขึ้นอยู่ประปราย ปลายกลีบโค้งเข้าหาแกนกลาง ส่วนหลอดกลีบเลี้ยงมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ไม่มีสันตามยาว
– ดอกเพศผู้จะอยู่ที่บริเวณส่วนปลายช่อ มีใบประดับรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร โดยใบประดับนี้สามารถหลุดร่วงได้ง่าย ภายในดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 อัน มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีอับเรณูติดอยู่ จานฐานดอกมีลักษณะแยกเป็นแฉก
– รังไข่จะอยู่ใต้วงกลีบ มีลักษณะรูปร่างเป็นรูปพีระมิด มี 1 ช่อง ภายในมีออวุล 2-3 เม็ด จานฐานรองดอกรวมรังไข่ มีความยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และก้านเกสรเพศเมียมีขนขึ้นปกคลุม มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร - ผล
– ผลลักษณะรูปทรงเป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกหนา 2 ปีก อยู่ปีกละข้างของผล ผลมีขนสีน้ำตาลอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่รอบนอก และผลแห้งจะไม่แตก
– ผลจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-8 เซนติเมตร (ขนาดของผลนั้นอาจแตกต่างกันได้)
– ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่หนึ่งเมล็ด และจะติดผลในช่วงเดือนธันวาคมถึงช่วงเดือนเมษายน[1],[2],[3]
สรรพคุณของต้นสกุณี
1. เปลือกต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้ตกเลือดได้ (เปลือกต้น)[1]
2. เปลือกต้นนำมาใช้ทำเป็นยาบำรุงหัวใจได้ (เปลือกต้น)[1],[2]
3. ตำรายาของไทยจะนำเปลือกต้นใช้ทำเป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[1],[2]
4. เปลือกต้นนำมาใช้ผสมกับรากต้นรักดอกขาว นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้ตานซางในเด็ก (เปลือกต้น)[1]
ประโยชน์ของต้นสกุณี
เนื้อไม้ ไม่ค่อยทนทานมากนัก แต่ก็ยังสามารถนำมาใช้สร้างทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ หรือนำมาใช้ในการก่อสร้างภายในตัวอาคารหรือในพื้นที่ร่มที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก[3],[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
สารในกลุ่ม ellagitannins ที่แยกมาจากต้น (Terminalia calamansanai (Blanco) Rolfe) ได้แก่ 1-α-O -galloylpunicalagin, 2-O -galloylpunicalin, punicalagin, sanguiin H-4 ความเข้มข้น 100 ไมโครโมล เมื่อนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็ง HL-60 ได้ผลลัพธ์พบว่าสารที่สกัดมาจากต้นมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 65.2, 74.8, 42.2, และ 38.0 ไมโครโมล ตามลำดับ และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งในรูปแบบ apoptosis โดยสารเหล่านี้จะเข้ามาทำให้เกิดการแตกหักของ DNA (DNA fragmentation) และเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase 3 แต่จะไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ แสดงว่าสาร ellagitannins ในต้นอาจนำมาพัฒนาเป็นยาป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้[5]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ส กุ ณี”. หน้า 172.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ส กุ ณี”. หน้า 739-740.
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ส กุ ณี”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [22 ต.ค. 2014].
4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “สกุณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [22 ต.ค. 2014].
5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์เหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งของสาร ellagitannins จากต้นสกุณี”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [22 ต.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.http://www.plantsofasia.com/