โพธิ์ ไม้มงคลทางศาสนา ใบมีโปรตีนสูง มีสรรพคุณแก้โรคหัวใจและรักษาโรคเกาต์
โพธิ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเป็นรูปหัวใจ ดอกเป็นสีเหลืองนวล ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำหรือม่วงดำ

โพธิ์

โพธิ์ (Sacred fig) เป็นต้นไม้ที่คนไทยทุกคนต้องรู้จักเพราะเป็นต้นที่อยู่ในศาสนาและเป็นต้นสำคัญสำหรับชาวพุทธ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะพบตามวัดอาราม ทว่านอกจากจะเป็นต้นไม้มงคลแล้วนั้นต้นโพธิ์ยังสามารถนำใบอ่อนมารับประทานและมีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย และยังเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย ส่วนมาก หากคนไทยพูดถึงต้นโพธิ์ก็มักจะนึกถึงวัดหรือไปในทางศาสนา ทว่าไม่ค่อยมีใครรู้กันนักว่าต้นโพธิ์ก็มีประโยชน์ในด้านอื่นได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโพธิ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus religiosa L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sacred tree” “Sacred fig” “Sacred fig Tree” “The peepal tree” “Peepul tree” “Peepul of India” “Pipal tree” “Pipal of India” “Bo tree” “Bodhi Tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โพ โพธิ โพศรีมหาโพ” ภาคเหนือเรียกว่า “สลี” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “สี สะหลี” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ย่อง” เขมรเรียกว่า “ปู” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “โพธิใบ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)

ลักษณะของต้นโพธิ์

โพธิ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในไทยพบในธรรมชาติน้อยมาก เป็นไม้ที่มีอายุยืนยาวมาก
ลำต้น : แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตรงส่วนยอดของลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง มีน้ำยางสีขาว เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากมีกิ่งก้านแยกสาขาออกจากลำต้นมากจึงทำให้เกิดเชื้อราที่อาศัยความชุ่มชื้นจากน้ำฝนที่ขังอยู่ตามง่ามไม้ เข้าทำลายเนื้อไม้จนเป็นโพรง มักจะพบได้ในต้นโพธิ์ที่มีขนาดใหญ่และมีอายุมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมและมีติ่งหรือหางยาว โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ใบมีลักษณะห้อยลง แผ่นใบเป็นสีเขียวนวล ยอดอ่อนหรือใบอ่อนนั้นเป็นสีน้ำตาลแดง ก่อนใบจะร่วงหล่นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบยาวและอ่อน ปลีที่หุ้มส่วนยอดอ่อนมีสีครีมหรือสีงาช้างอมชมพู
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกลมรวมกันเป็นกระจุกภายในฐานรองดอกรูปคล้ายผล โดยจะออกที่ตอนปลายของกิ่ง ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศ ไม่มีก้าน มีใบประดับเล็กที่โคน ฐานดอกเป็นรูปทรงกลม ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีเหลืองนวลและจะเจริญไปเป็นผล
ผล : เป็นผลรวม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำหรือม่วงดำและร่วงหล่นลงมา

สรรพคุณของต้นโพธิ์

  • สรรพคุณจากต้นโพธิ์ ยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือดสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านเชื้อรา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้จับสั่นเรื้อรัง รักษาโรคคางทูม รักษาโรคท้องผูกหรือท้องร่วง เป็นยาบำบัดโรคผิวหนัง
    – ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำใบแก่ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว แบ่งกินก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้โรคหัวใจ เป็นยาช่วยขับพิษ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยรักษาโรคหืด เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยในการย่อยอาหาร
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาลดไข้ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เป็นยาระบาย แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน รักษารากฟันเป็นหนอง เป็นยาชงกินแก้โรคหนองใน เป็นยาล้างแผล ช่วยรักษาแผลเปื่อย ช่วยสมานบาดแผล ห้ามเลือด ทำให้หนองแห้ง เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ช่วยแก้กล้ามเนื้อช้ำบวม
  • สรรพคุณจากราก รักษาโรคเหงือก เป็นยารักษาโรคเกาต์
  • สรรพคุณจากลำต้นและใบ เป็นยาถ่าย
  • สรรพคุณจากยาง รักษาริดสีดวงทวาร เป็นยารักษาโรคหูด แก้เท้าเป็นหน่อ แก้เท้าเป็นพยาธิ
  • สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาบำบัดโรคผิวหนัง

ประโยชน์ของต้นโพธิ์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนทานเป็นอาหารและใช้เลี้ยงหนอนไหมได้ ซึ่งใบมีปริมาณของโปรตีนและธาตุหินปูนสูง ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับตามวัดวาอาราม ปลูกเลี้ยงไว้เป็นไม้แคระแกร็นหรือปลูกตามคบไม้หรือปลูกเกาะหิน
3. เป็นไม้มงคล ชาวพุทธหรือฮินดูถือกันว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะมีความเกี่ยวข้องทางศาสนา จึงปลูกกันมากตามวัดวาอาราม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นโพธิ์

  • สารที่พบในต้นโพธิ์ พบสาร amyrin, bergapten, bergaptol, campesterol, fucosterol,28 – iso, n – hentriacontane, hexacosan – 1 – ol, lanosterol, lupen – 3 – one, lupeol, n – nonacosane, octacosan – 1 – ol, oleanolic acid methyl ester, pelargonidin – 5, 7 – dimethyl ether 3 – O – α – L – rhamnoside, β – sitosterol, solanesol, stigmasterol
  • การทดลองของต้นโพธิ์ เมื่อปี ค.ศ. 1963 ณ ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบโพธิ์พบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้
  • การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำในอัตราส่วน 1:1 เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่า ในขนาดสูงสุดที่หนูทนได้คือ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย

โพธิ์ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและยังเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปราจีนบุรี ภาพจำของคนไทยที่มีต่อต้นโพธิ์คือเป็นต้นทางศาสนาที่อยู่ในวัดอาราม ทว่าใบของต้นสามารถนำมาทานเป็นผักได้และผลยังใช้รับประทานได้ด้วย โพธิ์มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเกาต์ ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคหัวใจ เป็นยาระบายและอื่น ๆ อีกมากมาย น่าตกใจเหมือนกันที่ต้นโพธิ์นั้นก็มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่เรารู้จักกับต้นไม้ชนิดนี้มานาน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โพธิ์ (โพ)”. หน้า 575-576.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โพธิ์”. หน้า 116-117.
ไม้พุทธประวัติ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โพธิ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/budhabot/budbot.htm. [27 ส.ค. 2014].
ลานธรรมจักร. “โพธิญาณพฤกษา : ต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะ)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dhammajak.net. [27 ส.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/