โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ( Cystitis )
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ( Cystitis ) เป็นการอักเสบของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และเชื้อโปรโตซัว

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ( Cystitis ) เป็นการอักเสบของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และเชื้อโปรโตซัว หรือเรียกว่า ” การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ” โดยมากพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ปัยจัยและพฤติกรรมที่กระตุ้นการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน การรักษาความสะอาดไม่ถูกวิธี การอักเสบจากสารเคมี หรืออักเสบจากการฉายรังสี เป็นต้น 

สาเหตุในการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ

1) มีการตกค้างของปัสสาวะในกระเพาะเป็นเวลานาน เช่น การกลั้นปัสสาวะนาน ดื่มน้ำมากทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมามากขึ้น
2) การดูแลรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ้อนเร้นในเพศหญิงไม่ถูกต้อง
3) ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยที่รับยากดภูมิต้านทาน ผู้ป่วยมะเร็งที่ให้เคมีบำบัด เป็นต้น
4) จากการมีเพศสัมพันธ์
5) การคุมกำเนิด โดยใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารเคลือบบางชนิด
6) การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน

อาการโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ปวดท้องน้อย
  • มีไข้
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง ครั้งละไม่มาก ปวดแสบในขณะเบ่งปัสสาวะ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า
  • ปัสสาวะมีสีขุ่น หากรุนแรงอาจเป็นหนองได้
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยสำหรับผู้ป่วยบางคน

เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะได้ 3 ทาง ดังนี้

1) การติดเชื้อย้อนกลับขึ้นไปจากท่อปัสสาวะ
2) เชื้อโรคแพร่กระจายมาทางกระแสเลือด
3) เชื้อโรคแพร่กระจายมาทางกระแสน้ำเหลือง

การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบของแพทย์

แพทย์จะประเมินอาการอย่างละเอียด และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป เช่น การเก็บปัสสาวะจากการเจาะดูดผ่านหน้าท้อง การสวนผ่านท่อปัสสาวะ และหรือการเก็บปัสสาวะช่วงกลางของการปัสสาวะ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและมีความรุนแรงน้อยที่สุด

ข้อควรปฏิบัติ และป้องกันการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเมื่อปวดเป็นเวลานาน
  • ปัสสาวะก่อนเข้านอนกลางคืนทุกครั้ง
  • ควรปัสสาวะก่อนการเดินทางช่วงการจราจรติดขัด หรือเดินทางไกล
  • ไม่ควรดื่มน้ำมาก หากต้องทำงานหรือทำกิจกรรมในสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปัสสาวะ
  • ดูแลความสะอาดหลังการทำธุระในห้องน้ำทุกครั้ง
  • สังเกตความผิดปกติของตนเอง เช่น ปัสสาวะติดขัด มีอาการปวดแสบ หรือปัสสาวะปนสีเลือด รีบไปพบแพทย์ทันที

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ภัทร์ ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ (2561).กระเพาะปัสสาวะอักเสบและการป้องกันการเกิดซ้ำฯ (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://tci-thaijo.org [27 พฤษภาคม 2562].

Mayo Clinic (2018).Cystitis (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.mayoclinic.org [27 พฤษภาคม 2562].