นมช้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Uvaria cordata (Dunal) Alston ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Guatteria cordata Dunal จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1] นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาเลียบ นมควาย (นครศรีธรรมราช), นมแมวใหญ่ (ชุมพร), นมวัว (สุราษฎร์ธานี), กล้วยหมูสัง (ตรัง), ลาเกาะ (มลายู-นราธิวาส), ชูเบียง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1]
ลักษณะของนมช้าง
- ต้น เป็นพรรณไม้เถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยได้ไกลถึง 20 เมตร เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้น จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการน้ำและแสงแดดในระดับกลาง ๆ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบสามารถพบได้ทุกภาคตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และตามป่าผสมผลัดใบ[1],[2]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือหยักเล็กน้อยมีความคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 6-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-23 เซนติเมตร แผ่นใบหนา แข็ง ท้องใบมีขนเป็นสีน้ำตาล เส้นใบค่อนข้างถี่ ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และ มีขน[1],[2]
- ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 1-3 ดอก โดยจะออกบริเวณซอกใบใกล้กับปลายยอด มีสีแดงเข้ม กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น มีชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างกลม ปลายมน มีสีแดงเข้ม มีความยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบดอกมีขนทั้งด้านในและด้านนอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างค่อนข้างจะกลม ปลายมน และมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก รูปทรงกลม ปลายมน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน[1],[2]
- ผล ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 20-35 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกแกมรี มีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลสุกเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีม่วงแดง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม[1],[2]
สรรพคุณของนมช้าง
1. แก่นหรือเปลือกต้น สามารถนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น, เปลือกต้น)[1]
2. เปลือกต้น สามารถนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัยเส้น แก้อาการปวดเมื่อย (เปลือกต้น)[1]
ประโยชน์ของนมช้าง
1. ผลสุก สามารถรับประทานได้[1]
2. สามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[2]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “น ม ช้ า ง”. หน้า 123.
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “นม ช้าง”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้เลื้อยในสวนพฤกษศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [02 ธ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.floraofsrilanka.com/species/1168