ไตวาย ไม่ตายไว
ภาวะไตวาย คือ ภาวะที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียการทำงาน สาเหตุมาจากการใช้ชีวิตหรือการกินหาอาหารที่ไม่ถูกต้อง

ไตวาย

ก่อนที่จะไปกล่าวถึงโรคไตวาย ลองมาดูความสำคัญและหน้าที่ของไตกันก่อนว่า ไต คืออะไร และมีหน้าที่สำคัญอย่างไรต่อร่างกายของมนุษย์เรา
ไต หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Kidney คือ อวัยวะอย่างหนึ่งที่อยู่ภายในร่างกายของมนุษย์มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดงอยู่บริเวณส่วนล่างของช่องท้อง ไตมีสองข้าง คือซ้ายและขวา ไตขวาอยู่ในช่องท้องด้านขวาด้านใต้อยู่ติดกับตับ ส่วนไตซ้ายอยู่ใต้กะบังลมติดกับม้าม มีต่อมหมวกไต ( Adrenal Gland ) อยู่ด้านบนของไตทั้งสองข้าง โดยจะมีชั้นไขมันสองชั้นห่อหุ้มอยู่ ภายในไตนั้นจะมี 2 ชั้น คือ ชั้นนอก เรียกว่า คอร์เทกซ์ ( Cortex ) ส่วนนี้มีสีแดง ขณะที่ชั้นใน จะเรียกว่า เมดูลลา ( Medulla ) ส่วนนี้มีสีขาว 

โรคไตวาย

ในทุกๆวันนี้ มีโรคภัยไข้เจ็บมากมายที่เกิดขึ้นกับบุคคลรอบข้างเรา รวมกระทั้งที่เกิดกับตัวเราเองด้วย มีตั้งแต่โรคที่มีความรุนแรงของโรคน้อยจนไปถึงโรคที่มีความรุนแรงของโรคมาก  ซึ่งหากมาลองวิเคราะห์กันดูถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆที่เกิดขึ้นก็จะพบว่า สาเหตุของหลายๆโรค มักมาจากการใช้ชีวิตพฤติกรรมที่ผิดๆ การทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ เป็นส่วนใหญ่ โรค ไตวาย ก็เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่มักมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตหรือการกินหาอาหารที่ไม่ถูกต้อง เป็น โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทุกๆวัน  หากเกิดโรคไตวายขึ้นกับร่างกายจะทำให้ไตที่เป็นอวัยวะสำคัญของมนุษย์ไม่สามารถทำงานได้ปกติเหมือนเดิม จึงทำให้ระบบกลไกในร่างกายมีความผิดปกติตามไปด้วย โรคไตวายมีรายละเอียดอย่างไร จะอธิบายดังต่อไปนี้

หน้าที่หลักของไต คือ เป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับกับระบบปัสสาวะ ทำหน้าที่ กรองของเสีย น้ำ และเกลือแร่ ส่วนเกินในร่างกายออกจากเลือด แล้วจึงทำการขับออกมาพร้อมกับน้ำในรูปของปัสสาวะ

ภาวะไตวาย คืออะไร?

ภาวะไตวาย ( Renal failure ) หรือ ไตล้มเหลว หรือ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ไตล้ม คือ ภาวะที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียการทำงาน จนทำงานได้น้อยกว่าปกติหรืออาจทำงานไม่ได้เลย ทำให้ไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ ทำให้มีของเสียเกิดการสะสมจนเป็นพิษต่อร่างกาย อาการนี้ส่งผลกระทบต่อดุลของอิเล็กโทรไลต์ และความเป็นกรดด่างในเลือด และถ้าเป็นไตวายชนิดเรื้อรัง ฮอร์โมนบางชนิดที่ไตเป็นสร้างขึ้นมา ก็จะลดน้อยลงไปด้วย ทำให้อวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกายมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น 

ประเภทของภาวะไตวาย

เราสามารถแบ่งประเภทของโรคภาวะไตวายออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ภาวะไตวายชนิดเฉียบพัน ( Acute Kidney Failure หรือ Acute Renal Failure )

ไตวายเฉียบพลัน คือ การที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน มีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีโรคของไตมาก่อน เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับสารซึ่งเป็นอันตรายต่อไต  การกินยารักษาโรคในปริมาณที่มากติดต่อกัน เป็นเวลานาน เกิดการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

อาการไตวายเฉียบพลัน โดยทั่วไปสามารถรักษาให้หายกลับมาได้เป็นปกติ โดยใช้วิธีล้างไต เพื่อนำของเสียและสารพิษต่างๆออก เพื่อให้ไตกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เคยเป็นไตวายเฉียบพันแล้วก็มีความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นไตวายซ้ำได้อีก หรือในบางราย ไตจะค่อย ๆ เสื่อมลงกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค หรือการได้รับการรักษาที่ล่าช้า จนไตเริ่มเสื่อมแล้ว

2. ภาวะไตวายชนิดเรื้อรัง ( Chronic Kidney Failure หรือ Chronic Renal Failure ) 

ไตวายเรื้อรัง เกิดจากภาวะการที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย อาจจะใช้ระยะเวลานานเป็นเดือน หรือเป็นปี โรคนี้จัดเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ที่มีอายุมาก นอกจากภาวะนี้ไตวายเรื้อรัง ยังเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆด้วย  เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและอื่นๆ โดยโรคเหล่านี้จะไปทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไต และยังรวมถึงการใช้ยาที่มีพิษต่อไตเป็นจำนวนมากอีกด้วย

สาเหตุของการเกิดโรคไตวายชนิดต่างๆ

สาเหตุในการเกิดโรค ของภาวะไตวายชนิดต่างๆ  อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เกิดจากไตโดยตรง หรือเกิดจากสาเหตุภายนอก ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดไตวายเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้ 

1. เกิดจากสาเหตุก่อนเข้ามาถึงไต โดยมักจะเกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงในไตน้อยกว่าปกติ เช่น

  • มีการตกเลือด หรือเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายปริมาณมากและรุนแรง  เช่น มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง หรือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ส่งผลให้ไตเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานลงอย่างเฉียบพลัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและระบบหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตได้น้อยลง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย  ภาวะหัวใจวาย ภาวะตับวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงไตตีบ ความดันโลหิตสูง ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา  อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด
  • เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือ ครรภ์เป็นพิษ

2. เกิดจากสาเหตุที่ไตเอง ส่วนมากจะเป็นสาเหตุมาจากภาวะของโรคแทรกในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันสูง ซึ่งอาจจะยังไม่แสดงอาการออกในช่วงแรกๆ แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อไตเกิดความผิดปกติ และยังสามารถพบได้จากสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น

  • ผลข้างเคียงจากการได้รับยาบางประเภท เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Amino Glycoside หรือสารเคมีบางชนิด
  • การติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น โรคมาลาเรีย ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น
  • เกิดโรคเกี่ยวกับไตขึ้น ทำให้การทำงานของไตผิดปกติไปจากเดิม
  • ภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ตับวาย มะเร็งไมอีโลมา เป็นต้น

3. เกิดจากสาเหตุหลังออกจากไต เกิดจาก การมีปัจจัยที่ไปขัดขวางการไหลออกของปัสสาวะ ทำให้เกิดความดันจนย้อนกลับไปทำลายเนื้อของไต เช่น

  • เกิดโรคที่ส่งผลต่อการอุดตันของระบบปัสสาวะ เช่น โรคนิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ มีเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
  • กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ มีน้ำปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะมาก ทำให้น้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะไหลย้อนขึ้นไปที่กรวยไต

อาการของโรคไตวาย

อาการของไตวายชนิดเรื้อรัง และไตวายชนิดเฉียบพัน จะมีความแตกต่างกันทางอาการของโรคที่แสดงออกมาดังต่อไปนี้
1. อาการของโรคไตวายชนิดเฉียบพลัน
เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใด โดยจะมีอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย ดังต่อไปนี้

  • มีปัสสาวะน้อยลงกว่าปกติ (น้อยกว่า 400 มิลลิลิตร /1 วัน)  หรือไม่ปัสสาวะออกมาเลย แม้จะใช้วิธีการสวนท่อปัสสาวะแล้วก็ตาม
  • มีอาการบวมที่ขาและเท้า
  • มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกมึนงง
  • มีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่
  • หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ผู้ป่วยจะมีอาการซึม สับสน ชัก จนถึงหมดสติ

2. อาการของโรคไตวายชนิดเรื้อรัง 
หากเกิดโรคไตวายเรื้อรังขึ้น จะทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกรองของเสียออกจากเลือดทำได้แย่ลงตามไปด้วย โดยในช่วงแรกไตส่วนที่ยังใช้ได้จะทำงานชดเฉยส่วนที่เสียไป ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้น สิ่งหากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานติดต่อกันก็จะส่งผลทำให้ไตเสื่อมสภาพลงได้เร็วยิ่งขึ้นจากการทำงานที่หนักขึ้น
อาการที่แสงออกมาจะต่างกับโรคไตวายชนิดเฉียบพัน จะค่อยๆแสดงออกมาที่ละเล็กที่ละน้อย ขึ้นอยู่กับอยู่กับความรุนแรงของโรคและความเสื่อมของไต  ในระยะแรก ยังคงไม่มีอาการอะไรที่แสดงออกมา แต่สามารถทราบได้จาก การตรวจเลือด ซึ่งจะมีระดับของค่า ครีอะตินินและบียูเอ็น สูงแต่เมื่อไตทั้ง 2 ข้าง ถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของไตปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการที่แสดงออกมาดังนี้

  • มีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน และมีปัสสาวะออกมากว่าปกติ
  • รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร
  • คลื่นไส้อาเจียน และมีอาการท้องเดินบ่อยๆ บางครั้งจะอาเจียนเป็นเลือด
  • มีภาวะนอนไม่หลับ
  • รู้สึกปวดศีรษะบ่อยๆ  ขาดสมาธิ มีอาการตามัว มองไม่ชัดเจน
  • ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ มีอาการคันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า
  • รู้สึกใจสั่น เจ็บหน้าอก
  • เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้ายผู้ป่วยจะมีอาการซึม และชักหมดสติได้ 

อาการแทรกซ้อนของโรคไต

นอกจากปัญหาของระบบปัสสาวะ การขับถ่ายของเสียและสารพิษออกจากร่างกายที่จะทำได้น้อยลงแล้ว  เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่สำคัญหากมีปัญหาเกี่ยวกับไตเกิดขึ้น ก็จะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตวาย มักจะมีภาวะของโรคแทรกซ้อนต่างๆเกิดขึ้น โดยแบ่งตามชนิดของโรคไต ดังต่อไปนี้

อาการแทรกซ้อนจากไตวายชนิดเฉียบพลัน  สามารถพบได้หลายภาวะ เช่น
1. ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวาย เนื่องจาก ไตมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง  ไม่สามารถขับน้ำออกได้เหมือนปกติ จึงทำมีการคั่งของน้ำในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลต่อระบบความดันและหัวใจ
2. ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เนื่องจากไตไม่สามารถขับสารพิษออกจากร่างกายได้หมดเหมือนปกติ ทำให้มีสารพิษค้างในร่างกาย ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนอาจถึงหยุดเต้นได้
3. เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากไตขับกรดที่ได้รับจากการเผาผลาญโปรตีนได้น้อยลง ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก มีอาการหอบ
4. เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น มีอาการซึม ชัก  เนื่องจากภาวะยูรีเมีย Uremia หรือภาวะเลือดออก อันเนื่องมาจากเกล็ดเลือดไม่จับตัว ทำให้มีเลือดออกง่าย อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เกิดการคั่งของสารยูบีเอ็น มีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอก
5. เกิดภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ สามารถติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย  ในบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้ด้วย
6. เกิดภาวะซีดเนื่องจากไตสร้างสารอีริโทรพอยเอทิน Erythropoietin ไม่ได้ สารนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อขาดก็ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดีมีภาวะฟอสเฟต และยูริก ในเลือดสูง

อาการแทรกซ้อนจากไตวายชนิดไตวายเรื้อรัง  สามารถพบอาการภาวะแทรกซ้อนเหมือนกับโรคไตวายชนิดเฉียบพลัน และยังมีอาการภาวะอื่นๆ เช่น
1. อาการอักเสบตามอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด เยื่อหุ้มปอด ปลายประสาท
2. มีความรู้สึกชาบริเวณปลายมือและปลายเท้า
3. เกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
4. เกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ
5. เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย และประจำเดือนมาผิดปกในเพศหญิง 

การตรวจวินิฉัยโรคไตวาย

หากพบว่าตนเองหรือบุคคลรอบข้าง มีอาการคล้ายกับโรคไตวาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจจะดีที่สุด เนื่องจากแพทย์จะมีวิธีในการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อดูความผิดปกติของไต ได้หลายวิธี เช่น
1. การตรวจเลือด โดยเช็คค่าของบียูเอ็น (ค่าปกติอยู่ที่ ประมาณ 5-20 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร) และครีอะตินิน  (ค่าปกติอยู่ที่ ประมาณ 0.6-1.2  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และ 0.5-1.1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง)
2. การตรวจปัสสาวะ แพทย์จะตรวจปัสสาวะ เพื่อหาปริมาณของปัสสาวะที่ร่างกายขับออกมาได้ รวมทั้งตรวจหาโปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ วิธีนี้จะบอกได้เบื้องต้นว่าไตยังทำงานได้ดีหรือไม่
3. การตรวจด้วยการเอกซเรย์
4. การตวจด้วยการอัลตราซาวนด์
5. การตรวจพิเศษอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การรักษาโรคไตวาย

การรักษาโรคไตวาย สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งในแต่ละวิธีจะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์  สำหรับผู้ป่วยที่ยังที่ยังอาการไม่ทรุดหนักมาก แพทย์จะใช้วิธีจัดการกับต้นเหตุของปัญหา เช่น  จำกัดปริมาณของน้ำ โซเดียม  โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโปรตีน ที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันให้เหมาะสม เพื่อให้ไต ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป ฉีดยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ และให้โซเดียมไบคาร์บอเนต เพื่อแก้ภาวะเลือดเป็นกรด ให้เลือดในรายที่ตกเลือด เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการให้ยา หรือการจำกัดปริมาณของอาหาร แพทย์จะมีวิธีการรักษาที่ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น การล้างไต หรือการปลูกถ่ายไต  ซึ่งจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การล้างไตหรือการฟอกไต
การล้างไตหรือการฟอกไต นิยมเรียกว่า การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  หรือการทำไตเทียม  คือ การนำเอาของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือดของผู้ป่วย ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคไตวาย ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีปกติได้แล้ว แบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  เป็นการล้างไต โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์เข้ามาช่วย วิธีนี้ผู้ป่วยต้องไปทำที่โรงพยาบาลเท่านั้น โดยต้องไปทำครั้งละ 3-4 ชั่วโมง และทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  • การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร เป็นการล้างไต โดยใช้วิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยาเพื่อกรองของเสียในร่างกายออก วิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน สามารถเลือกเวลาทำได้เอง แต่ต้องทำทุกวัน และต้องมีการเปลี่ยนน้ำยา 4–5 ครั้ง/วัน  โดยแพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้แนะนำวิธีการปฏิบัติให้ผู้ป่วยหรือญาติได้รับรู้ก่อนไปทำเองที่บ้าน

2. การปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไต เป็นวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ดีที่สุดในปัจจุบัน หมายถึง การผ่าตัดเอาไตจากผู้อื่นมาเปลี่ยนแทนไตของตนเอง ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว โดยไตที่นำมาเปลี่ยนทดแทนนี้ อาจได้มาจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วและมีการขอยื่นเรื่องบริจาคอวัยวะให้กับสภากาชาดไทย หรืออาจได้มาจากผู้ที่ชีวิตอยู่ เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง  ซึ่งปกติแล้วคนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยมีไต เพียงข้างเดียว  ก่อนการเปลี่ยนแพทย์ จะเป็นผู้ตรวจและวิเคราะห์ก่อนว่า ไตใหม่ที่จะนำมาเปลี่ยน สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยหรือไม่
หลังปลูกถ่ายไตแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้เกิดภาวะที่ร่างกายต่อต้านไตอันใหม่ที่ได้รับไป หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆได้ หากร่างกายไม่แข็งแรงพอ

อาการไตวาย เป็นโรคที่ร้ายที่มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีที่สูงมากโรคหนึ่ง หรือหากสามารักษาได้ก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงในการฟอกไต หรือวิธีสุดท้ายอย่างการปลูกถ่ายไต ซึ่งโรคไตวายนี้ก็มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตที่ผิดๆ การชอบทานอาหารรสเค็มจัด เป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้  ดังนั้นนั้นหากไม่อยากให้มีภาวะไตวายเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ใกล้ชิด ต้องรู้จักดูแลตนเองให้ห่างจากพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตวาย ส่วนผู้ที่ ป่วยเป็นโรคไตวายแล้ว ก็ไม่ต้องเสียกำลังใจไป เพราะโรคนี้หากรู้จักดูแลตนเองดีๆ ทำตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้นั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

The PD Companion. Deerfield, Illinois: Baxter International Inc. 2008-05-01. pp. 14–15. 08/1046R.

Dr.Per Grinsted (2005-03-02). “Kidney failure (renal failure with uremia, or azotaemia)”. 2009-05-26.