โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย

0
7245
โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย
การรับประทานอาหารให้เหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตและช่วยให้เข้าสู่ระยะฟอกเลือดช้าลง
โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย
การรับประทานอาหารให้เหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตและช่วยให้เข้าสู่ระยะฟอกเลือดช้าลง

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวาย

ผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย  มักจะต้องได้รับโภชนาการที่ดีและมีความเหมาะสม กับช่วงระยะของอาการไตวายที่ผู้ป่วยเป็นอยู่  ซึ่งการรับประทานโภชนาการที่ดีและมีความเหมาะสมนั้น จะช่วยทำให้ลดอัตราการเจ็บป่วย ตลอดจนกระทั่งลดอาการแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่ง อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวาย จะถูกจำกัดสารอาหารต่างๆตามระยะของโรค

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยไตวาย

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะที่ 1 – 3 ต้องจำกัดโปรตีน ไขมัน น้ำตาล และเกลือ

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะที่ 4 – 5 ต้องจำกัดและควบคุมอาหารมากขึ้น  ต้องระมัดระวังเรื่องฟอสเฟต และ โพแทสเซียม

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวาย หลังจากที่ได้รับการปลูกถ่ายไต  จะต้องควบคุมอาหารเหมือนกับผู้ป่วยไตวายระยะที่ 1 – 3  ซึ่งจะต้องพิจารณาไตใหม่ด้วยว่า สามารถทำงานได้ดีหรือไม่

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายหลังจากล้างไตหรือทำการฟอกเลือด   ผู้ป่วยอาจจะรับประทานอาหารโปรด ตามใจผู้ป่วยได้บ้างแต่ต้องไม่มาก  เพราะจำเป็นจะต้องควบคุมอาหารต่อไปเรื่อย ๆ  ถึงแม้ว่าจะทำการล้างไตแล้วก็ตาม  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้การทำงานของไตกลับมาเป็นเช่นเดิมได้ทั้งหมด

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายจากการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม   สามารถทำได้ในช่วงเวลา 8 – 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  สามารถกำจัดของเสียได้เพียง 6 – 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายจากการล้างไตทางด้านหน้าท้อง   ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน สามารถทำได้ทุกวัน  วิธีนี้จะสามารถกำจัดของเสียได้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ของไตปกติ

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีโอกาสขาดสารอาหาร

1. โรคไต ส่งผลทำให้ผู้ป่วยเบื่ออาหาร

2. การจำกัดอาหารสำหรับผู้ป่วยไตวาย ส่งผลทำให้เหลือแต่เมนูอาหารรสจืด และ มีเมนูอาหารน้อยลง  ทำให้ผู้ป่วยเบื่อที่จะรับประทานอาหาร และอยู่ในสภาวะเครียด

3. มีการสูญเสียสารอาหารต่าง ๆ ไปกับการบำบัดไต  โดยเฉพาะโปรตีน

4. ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียโปรตีนมากยิ่งขึ้น 

โปรตีนที่ผู้ป่วยไตวายต้องการ

โปรตีน นับได้ว่าส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ และ เนื้อเยื่อภายในร่างกาย และโปรตีนยังคงมีความจำเป็นในการเสริมสร้างฮอร์โมน ภูมิต้านทาน และกระบวนการซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายของคนเราทั้งหมด เมื่อมีการย่อยสลายโปรตีนที่เราได้รับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง จะทำให้เกิดของเสียในรูปแบบยูเรีย  ทำให้เป็นสาเหตุที่จะต้องจำกัดโปรตีน  โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ผู้ป่วยได้ทำการล้างไต หรือ ทำการฟอกเลือดแล้ว  ผู้ป่วยจะสามารถเพิ่มโปรตีนขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้ป่วยไตวายระยะที่ 1 – 3  ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่ขาดสารอาหาร แต่ต้องการโปรตีนประมาณ 0.6-0.8 กรัม หรือ วันละ 6 – 8 ช้อนโต๊ะ ซึ่งระดับยูเรียจะต้องเพิ่มขึ้นไม่เกินวันละ 20 มก./ดล.เท่านั้น

ผู้ป่วยไตวายระดับที่ 4 – 5   ในกลุ่มผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง  มักจะต้องการโปรตีนประมาณ 0.6-0.8 กรัมต่อวัน  ส่วนผู้ป่วยที่ทำการฟอกไต  ควรได้รับโปรตีน 1.1 – 1.4 กรัมต่อวัน

โปรตีนแบบไหนที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยไตวาย

โปรตีนที่มีความสมบูรณ์และมีกรดอะมิโนอย่างครบถ้วน  ส่วนใหญ่แล้วจะได้มาจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ที่สามารถย่อยได้ง่าย  ไม่ว่าจะเป็นไข่ขาว กบ กุ้ง และ ไก่  รวมไปถึงกรดไขมันชนิดดี ได้แก่ โอเมก้า 3

  • โปรตีนจากพืช  อย่างเช่น  ถั่วชนิดต่าง ๆ เต้าหู้  เป็นต้น
  • โปรตีนภายในถั่วเมล็ดแห้ง  อาจจะต้องระวังโพแทสเซียม และ ฟอสฟอรัส
  • โปรตีนจากไข่ขาว  สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ที่ขาดไปได้

ซึ่งไข่ขาวจำนวน 1 ฟอง จะเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์สุกแล้ว 1 ช้อนโต๊ะ

การพิจารณาว่าผู้ป่วยได้รับโปรตีนเพียงพอหรือยัง  มีวิธีดังนี้

  • ประเมินจากสภาพร่างกายของผู้ป่วย พร้อมทั้งอาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน
  • การเจาะเลือดเพื่อหาผลโปรตีนอัลบูมิน
  • หากพบว่ามีอัลบูมินต่ำกว่า 4 มก.% ผู้ป่วยจะต้องหันมารับประทานโปรตีนให้มากขึ้น

การจำกัดเกลือโซเดียมและผงฟูในผู้ป่วยไตวาย

สำหรับคนปกติทั่วไป

อาหารที่มีการจำกัดโซเดียมใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวม ถ่ายปัสสาวะน้อย หัวใจวาย น้ำท่วมปอด หรือมีความดันโลหิตสูง อาหารที่มีโซเดียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็มจากการใช้เครื่องปรุงต่างๆ เช่นเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู ซุปก้อน ผงปรุงรสต่างๆ ต้องระวังไม่ใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ มากในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ต้องไม่เติมเครื่องปรุงรสต่างๆนี้เพิ่มในระหว่างการกินอาหาร และหลีกเลี่ยง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารว่างที่ออกรส เค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง อาหารสำเร็จรูป จำพวกโจ๊ก บะหมี่ วุ้นเส้น และขนมขบเคี้ยวต่างทุกชนิด

ไม่ควรรับประทานเกลือหรือโซเดียมมากกว่า 6 กรัม  เนื่องจากการที่ร่างกายของคนเราได้รับโซเดียมมากจนเกินไป จะส่งผลทำให้มีน้ำสะสมภายในร่างกายมากยิ่งขึ้น  อาจจะทำให้เกิดความดันเลือดสูง มีอาการน้ำท่วมปอด และเกิดภาวะหัวใจวายได้อย่างง่าย ๆ  ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยไตวายที่ไม่ควบคุมและจำกัดเกลือโซเดียม ย่อมได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว

ผู้ที่ได้รับอาหารที่มีเกลือประกอบอยู่น้อย 

มักจะไม่ค่อยกระหายและอยากดื่มน้ำ ส่งผลทำให้เลือดหนืด แต่ไตจะไม่ทำงานหนัก ทำให้เกิดโรคหัวใจได้น้อยกว่าคนทั่วไป  ซึ่งการทานเกลือให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน จะช่วยทำให้ลดความดันโลหิตได้ 2 – 8 มิลลิเมตรปรอท

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะไม่รุนแรง

ควรจำกัดโซเดียมและจะต้องรับประทานไม่เกิน 2 กรัมต่อวันเท่านั้น  หากจะให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น  ผู้ป่วยไตวายระยะไม่รุนแรง สามารถรับประทานเกลือแกงได้ประมาณ 1ช้อนชาต่อวัน และ น้ำปลา หรือ ซีอิ้วขาว ไม่เกิน 3 – 4 ช้อนชาต่อวันเท่านั้น

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะรุนแรง 

ควรจำกัดเกลือแกง ซึ่งจะต้องบริโภคไม่เกินวันละ 0.5 ช้อนชา และปริมาณโซเดียม ที่มีอยู่ในอาหารประเภทเครื่องปรุง อย่างเช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้วขาว หรือ ซุปก้อน รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 1.5 กรัม  ซึ่งเมนูอาหารจะต้องมีรสจืดสนิทเลยทีเดียว

การจำกัดฟอสฟอรัสในอาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังหรือระยะรุนแรง

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือ ผู้ป่วยไตวายระยะรุนแรง จะต้องจำกัดปริมาณฟอสฟอรัส โดยจะต้องน้อยกว่า 600 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น  ส่วนอาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายที่มีฟอสฟอรัส หรือ ฟอสเฟตมาก ได้แก่

  • น้ำอัดลม  ทุเรียน ชา กาแฟ เมล็ดพืช ถั่วเมล็ดแห้ง
  • เนื้อสัตว์ ไข่แดง
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • อาหารที่ใช้ยีสต์

การจำกัดโพแทสเซียมในอาหารสำหรับผู้ป่วยไตวาย

โปแตสเซียมถูกขับออกทางไต เมื่อไตเสื่อมจะทำให้เกิดการคั่งของโปแตสเซียม ผู้ป่วยไตวายมักจะมีการคั่งของโปแตสเซียม ซึ่งถ้าระดับโปแตสเซียมสูงมาก อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ การจัดอาหารให้มีโปแตสเซียมน้อย กระทำได้ยากกว่าการจัดให้มีโซเดียมน้อย เพราะธาตุโปแตสเซียมมีในอาหารทั่วไปทั้งสัตว์และพืช ต่างจากโซเดียมซึ่งมีมากแต่ในสัตว์ เช่น เนื้อ นม ไข่

อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะแรก ๆ อาจจะไม่ต้องจำกัดโพแทสเซียมมากนัก เพราะไตยังคงสามารถขับโพแทสเซียมได้  แต่ต้องจำกัดในช่วงที่พบว่ามีโพแทสเซียมสูง หรือ เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย  เมื่อมีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มิลลิลิตรต่อวัน หากต้องการรับประทานผลไม้ ควรรับประทานก่อนการฟอกเลือด   

เนื่องจากการที่ผู้ป่วยมีโพแทสเซียมสูง จะส่งผลทำให้หัวใจหยุดเต้นได้  หากผู้ป่วยไตวายที่ต้องฟอกเลือด  มักจะแนะนำให้รับประทานผลไม้ในช่วงตอนเช้าของวันที่ฟอกเลือดเท่านั้น

ผู้ป่วยจะสามารถขับโพแทสเซียมภายในผลไม้ที่รับประทาน ออกมาได้ในระหว่างที่ผู้ป่วยทำการฟอกเลือดนั่นเอง  ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรได้รับโพแทสเซียมน้อยกว่า 4.7 กรัมต่อวันเท่านั้น

อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ ได้แก่

  • ผักจำพวกกะหล่ำปลี  แตงกวา ฟักเขียว ถั่วงอก บวบ หอมหัวใหญ่ เห็นหูหนู ผักคะน้า มะระ
  • ผลไม้จำพวก แตงโม แอปเปิล ชมพู่ มะละกอสุก มะม่วง องุ่น สับปะรด

อาหารที่มีโพสแทสเซียมปานกลาง ได้แก่

  • งา ปลาทู  กุ้งแม่น้ำ ปลาสวาย
  • ผลไม้จำพวก ส้ม ส้มโอ แอปเปิล สตรอเบอรี่  แคนตาลูป เงาะ กระท้อน ขนุน
  • ผักจำพวก เห็ดนางฟ้า แตงกวา  น้ำเต้า ฟักเขียว มะเขือเทศสีดา

อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่

  • ผลไม้จำพวก  ทุเรียน มะพร้าว  กล้วยทุกชนิด ลำไย  ผลไม้อบแห้ง
  • ผักจำพวก บร็อกโคลี  แครอท มันเทศ ผักบุ้ง  ตำลึง ใบแมงลัก หน่อไม้
  • ปลาทูน่า ปลาอินทรี  เนย

ผู้ป่วยเปลี่ยนไต ควรจำกัดอาหารอย่างไร?

  • พลังงาน  ผู้ป่วยจะต้องได้รับพลังงานขึ้นให้เทียบเท่ากับกิจกรรมที่ทำอยู่
  • โปรตีน  หากไตใหม่สามารถทำงานได้ดี  ควรบริโภคโปรตีนอย่างน้อย 1.3 – 2.0 กรัม และควรจำกัดโปรตีนตามระดับของไตวาย
  • คาร์โบไฮเดรต  ต้องมีการจำกัดน้อยลงกว่าปกติ
  • ไขมัน ควรจำกัดให้น้อยลง หากมีไขมันสูง จะส่งผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ
  • เกลือโซเดียม  ควรจำกัดอย่างมาก อย่างน้อยจะต้องไม่เกิน 2 กรัมต่อวันเท่านั้น  เพื่อรักษาระดับความดันโลหิต และไม่ให้เกิดภาวะบวมมากขึ้น 
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัส   ระวังอย่าให้ร่างกายขาดแคลเซียมเป็นอันขาด  อัตราส่วนควรเป็นไปในรูปแบบ 1 : 1 เท่านั้น
  • วิตามินดี    อาจจะต้องเสริมเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนพักหลายสัปดาห์

การรักษาสมดุลน้ำภายในร่างกายของผู้ป่วยไตวาย

สำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน และ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทุกระยะ จำเป็นจะต้องรักษาและควบคุมปริมาณน้ำที่รับเข้าสู่ร่างกาย  เพื่อให้มีความสมดุลกับปริมาณน้ำที่ออกจากร่างกาย  และเพื่อไม่ให้มีน้ำคั่งมากจนเกินไป  โดยปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวัน  จะเท่ากับปริมาณของปัสสาวะของวันที่ผ่านมา  +  น้ำที่เสียทางเหงื่อ โดยรวมประมาณ 300 – 500  +  อุจจาระ ประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน

1. ผู้ป่วยไตวายที่ไม่ปัสสาวะเลย หรือ ปัสสาวะน้อยมาก   นับได้ว่าเป็นระยะที่อันตรายมากที่สุด จะต้องจำกัดน้ำอย่างมาก  โดยผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้ไม่เกิน 500 – 750 ซีซีต่อวันเท่านั้น

2. ผู้ป่วยฟอกเลือด ควรดื่มน้ำ 500 – 750 มิลลิลิตรต่อวัน  บวกกับปริมาณปัสสาวะทั้งวัน

3. ผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง  ควรดื่มน้ำ  500 – 750 มิลลิลิตร บวกกับปริมาณปัสสาวะทั้งวัน  และบวกกับกำไรรวมจากน้ำยาพีดีที่ได้ของวันนั้น ๆ

4. ผู้ป่วยไตวายที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว  ต้องเพิ่มปริมาณน้ำ เพื่อรักษาสมดุลน้ำภายในร่างกายโดยตรง

5. ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคไตวาย  จะต้องดื่มน้ำให้น้อยกว่าผู้ใหญ่

อาการของผู้ป่วยไตวายที่แสดงให้เห็นว่ามีภาวะน้ำเกิน

1. ผู้ป่วยมีอาการบวมเกิดขึ้นบริเวณเปลือกตา  นิ้ว และข้อต่าง ๆ

2. ผู้ป่วยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก

3. ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ  มีความดันโลหิตสูง

4. ผู้ป่วยหอบและเหนื่อย นอนราบไม่ได้

5. ผู้ป่วยมีอาการไอ  พบเจอเส้นเลือดดำที่คอโป่งพอง

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำเกิน

  • พยายามชั่งน้ำหนักตัวผู้ป่วยทุกวัน  โดยน้ำหนักจะต้องเพิ่มไม่เกินวันละ 0.5 กิโลกรัม
  • ควรวัดความดันเลือด อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ โดยที่ต้องไม่เกินไปกว่าที่กำหนดหรือต้องทำการควบคุมปริมาณน้ำ
  • ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้าม หรือ ควบคุม
  • หากผู้ป่วยมีอาการบวมมากขึ้น ควรใช้น้ำยาพีดีเข้มข้น 2.5 % หรืออาจจะใช้ 4.25%  ร่วมกันกับ 1.5% จนกว่าอาการบวมของผู้ป่วยจะยุบตัวลง  แล้วจึงค่อยกลับมาใช้น้ำยาพีดี 1.5% อีกครั้ง

ทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง และ ผู้ป่วยโรคไตวายระยะต่าง ๆ ต้องทำการจำกัด และควบคุมเป็นพิเศษ เพื่อที่จะสามารถทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร พร้อมทั้งปริมาณน้ำที่เหมาะสม มีความสมดุลต่อร่างกาย ทั้งผู้ป่วยและญาติควรศึกษาและทำความเข้าใจ พร้อมทั้งควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย และ เพื่อเป็นการยืดอายุไตเอาไว้อย่างสูงสุดนั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

“Diabetes treatment—bridging the divide”. The New England Journal of Medicine. 356.

Diabetes Mellitus (DM): Diabetes Mellitus and Disorders of Carbohydrate Metabolism: Merck Manual Professional”. Merck Publishing. April 2010. Archived from the original on 2010-07-28. Retrieved 2010-07-30.