ไตวายมีสาเหตุและอาการอย่างไร ?
ไตวาย หรือ ไตล้มเหลว คือ ภาวะที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียการทำงาน จนไม่สามารถขับของเสียในร่างกายออกนอกร่างกายทางปัสสาวะได้

ไตวายมีสาเหตุและอาการอย่างไร

ไตวาย เป็นภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด จนไม่สามารถขับของเสีย ระดับน้ำ เกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ ออกมาจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้ ทำให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย ไตถือเป็นอวัยวะสำคัญที่มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไตคือ การขับถ่ายของเสียภายในร่างกาย และ ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสารในรูปแบบน้ำและเกลือแร่ที่มีอยู่ภายในร่างกายให้มีความสมดุลโดยปกติแล้วไตของคนเราจะมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดงมีสีน้ำตาลอมแดงและมีขนาดเท่ากับกำปั้นของคนเรา สำหรับกลุ่มคนในวัยผู้ใหญ่ ไตจะมีความยาวประมาณ 10–13 เซนติเมตรโดยที่ไตจะมีน้ำหนักข้างละไม่เกิน 120–170 กรัม

ตำแหน่งของไต

ตำแหน่งของไตจะอยู่ฝั่งซ้ายและขวา บริเวณส่วนหลังตรงบั้นเอว โดยไตจะอยู่นอกช่องท้อง ซึ่งไตข้างซ้ายจะอยู่ข้างหลังของกระเพาะอาหาร และไตข้างขาวจะอยู่ข้างหลังของตับ

หน่วยของไต

ไตแต่ละข้าง มักจะมีหน่วยไตข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยจะคอยทำหน้าที่ในการกรองน้ำเลือด ในแต่ละวันไตจะมีเลือดผ่านไตประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ของเลือดที่ออกมาจากหัวใจหรือคิดเป็นประมาณ 1.2 ลิตรต่อนาทีหรือ 1,700 ลิตรต่อวัน เมื่อไตได้มีการกรองน้ำเลือดเพื่อที่จะเอาสารต่างๆ ที่มีความจำเป็น กลับคืนสู่ร่างกายของคนเราแล้ว ไตก็จะทำหน้าที่ในการขับของเสียออกมาด้วยเช่นกัน ซึ่งของเสียส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ กลุ่มคนวัยผู้ใหญ่จะปัสสาวะวันละ 1–2 ลิตร

หน้าที่ของไตคืออะไร

1. ไต ทำหน้าที่ขับของเสียออกมาทางปัสสาวะ ของเสียส่วนน้อยจะถูกขับออกทางเหงื่อ หากใครมียูเรียคั่งภายในกระแสเลือดมากๆ ก็อาจจะมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาเจียน นอนไม่หลับ หรืออาจจะมีอาการชักและไม่รู้สึกตัว โดยปกติแล้วคนเราจะมียูเรีย 2.5 – 7.5 มิลลิโมลต่อ ลิตรเท่านั้น

2. ไต จะทำหน้าที่คอยควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย หากน้ำและเกลือแร่มีมากเกินความจำเป็น ก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ ในกรณีผู้ป่วยไตวายที่ไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกได้ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวม ความดันโลหิตอาจจะสูง อีกทั้งผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกไปได้ อาจจะส่งผลทำให้หัวใจของผู้ป่วยเต้นผิปกติ หรือ หัวใจหยุดเต้นได้เช่นกัน

3. ไตทำหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์กลับเข้าสู่กระแสเลือด   

4. ไต ทำหน้าที่ในการรักษาสมดุล ทั้งกรดและด่างภายในร่างกาย โดยที่กรดภายในร่างกาย จะมาจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ แป้ง และ น้ำตาล ส่วนด่าง จะมาจากอาหารประเภทผักและผลไม้รสเปรี้ยวหรือ ไม่หวานจัด

5. ไต คอยทำหน้าที่ผลิต และคอยควบคุมการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดภายในร่างกาย อย่างเช่น ฮอร์โมนอีริทโทรพอยอิติน หรือ อีโป้ วิตามินดีในรูปแบบที่สามารถทำงานได้ สังเคราะห์พรอสตาแกลนิน เป็นต้น

หากไตไม่สามารถทํางานได้ตามปกติจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

เมื่อไตไม่ทำงาน อาจมีสาเหตุจากอาการไตวายเฉียบพลันหรืออาการไตวายเรื้อรัง เรามาดูกันว่าอะไรคือไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง?

อาการไตวายเฉียบพลัน

อาการไตวายเฉียบพลัน คืออาการที่ไตมีลักษณะสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้น้ำและของเสียไม่ได้ถูกขับออกมาจากร่างกาย ปัสสาวะอาจจะน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวัน ทำให้มีของเสียคั่งภายในเลือดจนกระทั่งเป็นพิษต่อร่างกาย รวมไปถึงมีการคั่งของน้ำและเกลือแร่ส่งผลทำให้เสียสมดุลของเกลือแร่และเสียสมดุลความเป็นกรดและเป็นด่างภายในเลือดอีกทั้งอาจจะทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนที่ต่อมหมวกไตนำไปสู่ความผิดปกติตามอวัยวะต่างๆภายในร่างกายได้

อาการไตวายเรื้อรัง

อาการไตวายเรื้อรัง คือเนื้อไตได้ถูกทำลายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องโดยระยะแรกอาจจะไม่มีอาการอะไรส่งผลทำให้การทำงานของไตเสียไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงนี้อาการจะเริ่มแสดงออก ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้นเนื้อไตจะมีลักษณะฝ่อและเหี่ยวลงหรืออาจจะเกิดพังผืดแทรกภายในเนื้อไตสำหรับเนื้อไตส่วนที่ยังดีอยู่นั้นจะต้องคอยทำหน้าที่ให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถทดแทนไตส่วนที่เสียได้

เมื่อเนื้อไตปกติต้องทำงานมากยิ่งขึ้น จึงมีลักษณะใหญ่โตขึ้น เรื่อย ๆ ถึงแม้จะมีการรักษาแล้วก็ตาม แต่ไตที่วายเรื้อรัง จะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ หรือ ดีขึ้นได้

การเข้ารับการรักษาจะสามารถช่วยทำให้ไตไม่เสียเร็วขึ้นกว่าเดิมและจะมีอาการดีขึ้นส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยเหนื่อยง่าย อีกทั้งการรักษาในแต่ละครั้งจะช่วยชะลอการเกิดอาการแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย ในกรณีที่ไตวายเพียงข้างเดียวและไตอีกข้างยังคงสามารทำหน้าที่แทนได้นั้น แพทย์อาจจะทำการรักษาด้วยการดูแลไม่ให้ไตมีอาการแย่ไปกว่าเดิม โดยที่ผู้ป่วยจะต้องระวังอาหารที่มีรสเค็ม รสหวาน และรสมันเป็นสำคัญ ในกรณีที่ไตวายทั้ง 2 ข้าง และมีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยอยู่ในช่วงไตวายระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการดูแลตนเองให้มากขึ้นควบคู่ไปกับการฟอกเลือดหรือทำการล้างไต แต่หากรุนแรงและมีอาการเรื้อรังจำเป็นจะต้องรักษาแบบนี้ตลอดไปจนกว่าจะทำการปลูกถ่ายไตได้ในที่สุด 

สาเหตุของอาการไตวาย

1. มีเลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง จนกระทั่งกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน อีกทั้งยังคงมีการหลั่งฮอร์โมนแอนตี้ไดยูเรติค โดยทั้งสองกรณีจะส่งผลทำให้น้ำถูกดูดกลับไปที่ไตมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีปัสสาวะลดลง เกิดอาการเสียสมดุลน้ำและเกลือแร่ ตลอดจนกระทั่งมีของเสียคั่งในเลือดมากขึ้น

2. ทางเดินปัสสาวะเกิดการอุดตัน ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรวยไตลงมาส่งผลทำให้เกิดความดันในส่วนที่อยู่เหนือการอุดกั้นเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็วเมื่อไตไม่มีการกรองของเสียหรือไม่มีปัสสาวะจึงทำให้เกิดของเสียคั่งภายในเลือด

ของเสียคั่งภายในเลือดเกิดจากไตไม่กรองของเสียหรือไม่มีปัสสาวะ

3. ร่างกายขาดน้ำ ส่งผลทำให้เกิดความดันเลือดน้อยลงโดยเลือกไปเลี้ยงที่ไตลดลงในขั้นแรกหากความดันเลือดยังมีมากกว่า 80 มม.ปรอทร่างกายของเราจะปรับตัวเพื่อไม่ให้ไตหรืออวัยวะภายในร่างกายต้องขาดเลือดซึ่งจะมีการหลั่งสารชนิดต่างๆ รวมไปถึงฮอร์โมนแอนตี้ไตยูเรติคพร้อมทั้งเรนนินออกมาภายในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดมีอาการหดตัวแต่ไตยังคงมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ขั้นที่สอง เมื่อไตขาดเลือดมากขึ้นร่างกายของคนเราจะมีการปรับตัวโดยมีการหลั่งฮอร์โมนที่ส่งผลทำให้ไตกักเก็บน้ำและเกลือเอาไว้ทำให้ปัสสาวะน้อยลงไปกว่าเดิม

4. การเกิดภาวะหัวใจวาย หรือ เลือดคั่ง หรือ มีโรคตับแข็ง ส่งผลทำให้เกิดสารน้ำคั่งอยู่มากแต่ภายในหลอดเลือดจะมีสารน้ำลดลงทำให้มีผลต่อร่างกายร่างกายจะมีการกระตุ้นฮอร์โมนต่างๆ เกิดขึ้นและร่างกายก็จะกักเก็บน้ำพร้อมทั้งเกลือแร่เอาไว้มากขึ้นไปอีกจนทำให้ไตวาย

5. การรับประทานยาที่มีผลต่อไต โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเซดจำพวกยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก ยากลุ่มนี้จะเข้าไปยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินภายในไต ทำให้มีผลในเรื่องของการไหลเวียนของเลือดภายในไตไตจึงกรองของเสียได้น้อยลง

ระยะของอาการไตวายเฉียบพลัน

1. ระยะแรก ร่างกายจะมีการปรับตัวโดยจะหลั่งสารที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง

2. ระยะที่เนื้อไตได้ถูกทำลายลงจะเกิดขึ้นภายใน 2 – 3 ชั่วโมงหรืออาจจะนานกว่า 2 สัปดาห์บางรายอาจจะนานกว่า 2 เดือน

3. ระยะไตเริ่มฟื้นตัวแล้วจะมีการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อในไต ไตสามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นแต่ยังคงไม่สมบูรณ์ทำให้ปัสสาวะอาจจะมีมากขึ้นบางรายอาจจะถึงวันละ 4–5 ลิตรด้วยกันระยะของอาการไตวายเรื้อรัง

ระยะที่ 1 ไตเริ่มเสื่อม ไตมีลักษณะทำงานน้อยลงแต่ยังคงสามารถทำงานได้มากกว่า 90 ซีซีต่อนาทีในระยะนี้อาจจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆและไม่มีการสะสมของเสีย แต่ควรปรับเปลี่ยนอาหารและปริมาณน้ำ เพื่อชะลอความเสื่อมของไตให้ลดลง

ระยะที่ 2 ไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นระยะนี้ไตจะทำงานลดลงแต่ยังไม่ถึงครึ่งของอัตราการกรองของไต 60–89 ซีซีต่อนาทีระยะนี้จะมีอาการแสดงให้เห็นแต่อาจจะไม่ชัดเจน

ระยะที่ 3 ไตทำงานลดลงครึ่งหนึ่งอัตราการกรองของไตจะอยู่ที่ 30–59 ซีซีต่อนาทีทำให้มีของเสียคั่งอยู่ในเลือดพบโปรตีนเล็กน้อยในปัสสาวะ ในระยะนี้จะมีอาการผิดปกติแสดงออกมามากขึ้นและเป็นอาการที่ผู้ป่วยต้องพบแพทย์

ระยะที่ 4 ไตทำงานลดลงมากอัตราการกรองจะลดลงมากเช่นกันอยู่ที่ 15–29 ซีซีต่อนาทีโดยในระยะนี้ไตจะทำหน้าที่ได้แค่ร้อยละ 5–15 ของปกติทำให้มีของเสียคั่งมากขึ้นมีโปรตีนภายในปัสสาวะมากขึ้นมีอาการเลือดจางมากขึ้น

ระยะที่ 5 อาการไตวายระยะสุดท้ายในระยะนี้อัตราการกรองของไตจะลดลงมากและน้อยกว่า 15 ซีซีต่อนาทีส่งผลทำให้เกิดของเสียคั่งมากและมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นภายในระบบร่างกายร่วมด้วย

สาเหตุของอาการไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง

1. การเกิดภาวะช็อกที่ค่อนข้างรุนแรงจากสาเหตุต่างๆ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตน้อยลงกว่าเดิมและทำให้เกิดการตายของหลอดเลือดฝอยที่ไต

2. เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว นับได้ว่าเป็นความผิดปกติภายนอกของไตส่งผลทำให้ไตขาดเลือด

3. มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจ หรือ ผ่าตัดทรวงอก

4. มีอาการติดเชื้อรุนแรง มีการวินิจฉัยโรคได้ช้าหรือเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที ทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าไปถึงไตจนกระทั่งทำให้เกิดอาการไตวาย

5. การรับประทานยาที่มีผลต่อไต ส่งผลทำให้หลอดเลือดฝอยภายในไตตายเฉียบพลัน

6. การได้รับพิษจากพืชและสัตว์บางชนิด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไตวายได้ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องที่เราทุกคนควรรู้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไตอวัยวะที่นับได้ว่ามีความสำคัญต่อร่างกายของคนเราเป็นอย่างมาก การรับประทานอาหารรวมไปถึงการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกายนับได้ว่ามีผลต่อการทำงานของไตโดยตรง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไตวายหรือทำให้ไตเสื่อมเพราะจะส่งผลต่อชีวิตได้โดยตรงนั่นเอง

ลักษณะของอาการไตวายเฉียบพลัน

อาการไตวายเฉียบพลัน นับได้ว่าเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็วหรือเฉียบพลัน โดยก่อนหน้านี้ผู้ป่วยอาจจะมีลักษณะแข็งแรง สุขภาพดี เมื่อมีอาการไตวายเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะเกิดอาการปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย ถึงแม้จะทำการสวนปัสสาวะแล้วก็ตามแต่ยังพบว่ามีปัสสาวะน้อยอยู่เช่นเดิมโดยผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเฉียบพลันอาการโดยรวมจะมีลักษณะ ดังนี้

อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเฉียบพลัน

  • เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเฉียบพลัน มักจะมีอาการค่อนข้างที่จะชัดเจนจากที่เคยสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ดีๆ ผู้ป่วยก็จะมีอาการปัสสาวะน้อยกว่า 40 มิลลิลิตรภายใน 24 ชั่วโมงหรือไม่มีปัสสาวะเลยแม้แต่น้อย
  • เกิดน้ำและของเสียคั่ง มีอาการเท้าบวมขาบวมผู้ป่วยอาจจะอ่อนเพลียมากขึ้นมีอาการเบื่ออาหารมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ หัวใจอาจจะเต้นผิดปกติส่งผลทำให้ผู้ป่วยนอนราบไม่ได้
  • หากมีภาวะแทรกซ้อนไปถึงสมองหรือมีของเสียคั่งอยู่ภายในสมอง จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเกิดความสับสนมีอาการชักและอาจจะหมดสติได้ในที่สุดผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
  • ผู้ป่วยไม่ถ่ายปัสสาวะหรือมีอาการปัสสาวะไม่ออกมาถึง 2 วัน
  • ผู้ป่วยมีไข้สูงมีอาการเหนื่อยและหอบ
  • ผู้ป่วยมีปัสสาวะออกน้อยมากประมาณ 3 วันแล้ว

ระยะของโรคไตวายเรื้อรัง

  • อาการไตวายในช่วงระยะแรกเริ่ม ช่วงนี้ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แพทย์อาจจะตรวจพบเจอโรคไตวายจากการตรวจเลือดได้เช่นกัน
  • ในช่วงที่ไตถูกทำลายไปแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ อยู่ในช่วงไตวายระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะมีของเสียคั่ง ทำให้เริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็นเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการนอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อยลง พบโปรตีนไข่ขาวออกมาเล็กน้อยเริ่มมีอาการบวมตามเท้าและมือ
  • โรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 กับ 5 ผู้ป่วยจะมีอาการจากของเสียคั่งและเกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่และน้ำ มีอิเลคโตรไลท์มากขึ้นและอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการไตวาย

อาการไตวายอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน ถือได้ว่ามีความรุนแรงเป็นอย่างมากผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บป่วยได้มากกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายจากสาเหตุอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคไตจึงต้องเริ่มรักษาด้วยการล้างไตเร็วกว่าปกตินั่นเอง

สิ่งที่ชี้ชัดว่าผู้ป่วยไตวายมีอาการดีขึ้นแล้ว ได้แก่

1. ผู้ป่วยรู้สติมากขึ้น รู้ตัวมากขึ้น

2. ผู้ป่วยมีชีพจรปกติ

3. อาการบวมที่เกิดขึ้น มีลักษณะมีดีขึ้น

4. น้ำหนักผู้ป่วยลดลงวันละ 0.2 – 0.5 กิโลกรัม

5. ผลตรวจเลือด เพื่อดูค่าบียูเอ็น และ ค่าครีเอตินิน เป็นปกติแล้ว

6. ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้มากกว่า 30 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

“Girl’s Kidneys Fail, But Doctors Find Double Valves, Saving Her Life”. Abcnews.go.com. 2010-05-18. Retrieved 2011-01-03.

“Kidneys Location Stock Illustration”. Archived from the original on 2013-09-27.